ชู BCG ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
วันนี้ (8 มิ.ย.63) กระทรวงการอุดมศีกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) โดย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุดมศีกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม นำทีมผู้นำในทุกภาคส่วน จำนวน 8 ท่าน ประกอบด้วย ผู้แทนจากภาคอุตสาหกรรม เอกชน นักวิชาการ หน่วยงานของรัฐ และภาคสังคม เข้าพบพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อหารือแนวทางการใช้โมเดล BCG (BCG: Bioeconomy, Circular Economy, Green Economy) โดยใช้องค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยในมิติต่าง ๆ ด้านความมั่นคงทางอาหาร ความมั่นคงทางสาธารณสุข ความมั่นคงทางพลังงาน หลักประกันการมีงานทำ และความยั่งยืนของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พร้อมทั้งพัฒนาตอบสนองความต้องการในแต่พื้นที่ไปสู่การเดินหน้าไปด้วยกัน โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง
ทั้งนี้ BCG หรือ การขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว นั้น กระทรวง อว. ได้รับมอบหมายจากนายกรัฐมนตรี ให้เป็นหน่วยงานหลักในการเร่งรัดให้เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่ง กระทรวง อว. ได้ดำเนินการจัดระดมความคิดของทุกภาคส่วน มุ่งเน้นยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้มีความเข้มแข็ง แบ่งเป็น 7 กลุ่มย่อย ประกอบด้วย 1) กลุ่มเกษตร 2) กลุ่มอาหาร 3) กลุ่มยาและวัคซีน 4) กลุ่มเครื่องมือแพทย์ 5) กลุ่มพลังงานวัสดุและเคมีชีวภาพ 6) กลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ และ 7) กลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียน
สำหรับเป้าหมายในการใช้ BCG โมเดลอย่างเป็นรูปธรรม สามารถนำมาปรับภาพลักษณ์ของประเทศไทย (Rebranding Thailand) ภายหลังการเกิดโรคระบาดโควิด – 19 รวมถึงเชื่อมโยงบนฐานหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ นอกจากนี้ ยังเป็นการสร้างความเข้มแข็งจากภายในประเทศ ผ่านการส่งเสริมเศรษฐกิจฐานรากและท้องถิ่น และเชื่อมประเทศไทยกับประชาคมโลก ซึ่งมีหลักการปรับในการขับเคลื่อน ดังนี้
1.ปรับจากรัฐเป็นผู้ลงทุนหลัก ไปสู่เอกชนลงทุน 2. ปรับการใช้จ่ายภาครัฐเพื่อแก้ปัญหาไปสู่การลงทุนเพื่อการพัฒนา 3. ปรับระบบการจัดสรรงบประมาณรายปี ไปสู่ระบบการจัดงบประมาณเพื่อการลงทุน 4. ปรับการสนับสนุนทุนวิจัยรายโครงการ ไปสู่การสนับสนุนทุนวิจัยครบวงจร 5. ปรับการพัฒนาเศรษฐกิจที่ยึดโยงอุตสาหกรรมเดิม ไปสู่การสร้างอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ใหม่ 6. ปรับการเติบโตของประเทศโดยการพึ่งพาปัจจัยจากภายนอกประเทศ ไปสู่การเติบโตด้วยการสร้างความแข็งแกร่งจากภายใน และ 7. ปรับจากการทำงานแบบต่างคนต่างทำ ไปสู่การเดินหน้าไปด้วยกัน
โมเดล BCG นี้ ได้เริ่มดำเนินการมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว เพื่อเป็นการปูรากฐานที่เข้มแข็ง อาทิ การจัดตั้งธนาคารทรัพยากรชีวภาพแห่งชาติ (National Biobank) เพื่อการเก็บรักษาและใช้ประโยชน์ความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ ยังนำเสนอให้มีโครงการเร่งรัด (Quick Win) ขับเคลื่อนการพัฒนาเศรษฐกิจ BCG เพื่อส่งเสริมให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว โดยโมเดล BCG นี้ เป็นกลไกสนับสนุนให้เอกชนเป็นผู้ที่ลงทุนหลัก โดยรัฐบาลทำหน้าที่เป็นหน่วยงานสนับสนุน และปลดล็อกกฎหมาย กฎระเบียบ มาตรการที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนานวัตกรรม การผลิต และการใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางวิทยาการสมัยใหม่ เพื่อเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ หรือ GDP ต่อไปในอนาคต
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online