“สรุปสถานการณ์น้ำทั่วไทย” เช็กรายชื่อจว.เฝ้าระวัง “น้ำท่วม-ดินถล่ม” 9-15 ต.ค.
วันนี้ ( 7 ต.ค. 66 )สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ออกประกาศ ฉบับที่ 2/2566 เรื่องเฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม และน้ำล้นตลิ่ง ในช่วงวันที่ 9 – 15 ตุลาคม 66 พร้อมเผยรายชื่อจังหวัดเฝ้าระวังดังต่อไปนี้
1. เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม
- ภาคเหนือ (จ.เชียงใหม่ กำแพงเพชร ตาก อุตรดิตถ์ พะเยา แพร่ พิษณุโลก นครสวรรค์ อุทัยธานี เพชรบูรณ์)
- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จ.ขอนแก่น นครราชสีมา ชัยภูมิ มุกดาหาร อุดรธานี อุบลราชธานี)
- ภาคกลาง (จังหวัดกาญจนบุรี ชัยนาท สุพรรณบุรี)
- ภาคตะวันออก (จ.ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี ตราด ระยอง)
- ภาคใต้ (จ.นราธิวาส พังงา ระนอง)
2.เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำ
- แม่น้ำมูล ได้แก่ อ. เมืองอุบลราชธานี วารินชำราบ และพิบูลมังสาหาร จ.อุบลราชธานี แม่น้ำเจ้าพระยา คาดการณ์จะมีน้ำหลากจากพื้นที่ตอนบนของลุ่มน้ำ ซึ่งเขื่อนเจ้าพระยาต้องเพิ่มการระบายน้ำในอัตรามากกว่า 1,500 ลบ.ม./วินาที ส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำ วัดไชโย คลองโผงเผง จ.อ่างทอง อ.พรหมบุรี เมืองสิงห์บุรี และอินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี คลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา และต.หัวเวียง อ.เสนา ต.ลาดชิด ต.ท่าดินแดง อ.ผักไห่ จ.พระนครศรีอยุธยา เพิ่มสูงขึ้นประมาณ 0.20–0.80 เมตร
- แม่น้ำท่าจีน ได้แก่ อ.เมืองสุพรรณบุรี และสองพี่น้อง จ.สุพรรณบุรี อ.บางเลน และนครชัยศรี จ.นครปฐม แม่น้ำปราจีนบุรี ได้แก่ อ.กบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี
ขณะที่ภาพรวมสถานการณ์อุทกภัย พื้นที่ชุมชน รวม 6 จังหวัด 21 อำเภอ 76 ตำบล 411 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 12,124 ครัวเรือน ดังนี้
- จ.เพชรบูรณ์ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- จ.กำแพงเพชร ปัจจุบันระดับน้ำเพิ่มขึ้น
- จ.ตาก ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- จ.กาฬสินธุ์ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- จ.อุบลราชธานี ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
- จ.สมุทรปราการ ปัจจุบันระดับน้ำลดลง
พื้นที่เกษตรกรรม รวม 18 จังหวัด 399,167 ไร่ ได้แก่ จ.ลำปาง สุโขทัย ตาก เพชรบรูณ์ ชัยภูมิ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ลพบุรี สระบุรี อ่างทอง สุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา ปราจีนบุรี และจันทบุรี
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 66 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์อุทกภัย พร้อมสั่งการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย พร้อมทั้งตรวจสถานีตรวจวัดระดับน้ำ (M.7) จ.อุบลราชธานี และเยี่ยมชมรถหน่วยติดตามสถานการณ์น้ำเคลื่อนที่ สทนช. ซึ่งเป็นการสร้างการรับรู้ข่าวสารให้กับประชาชนต่อสถานการณ์น้ำปัจจุบันที่ช่วยให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลข่าวสารสถานการณ์น้ำตามเวลาที่เกิดขึ้นจริง โดยเปิดให้บริการประชาชนตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 กันยายน 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งเปิดให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 08.00-20.00 น. จนกว่าสถานการณ์อุทกภัยจะคลี่คลาย
ข้อมูลจาก : สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.)
ภาพจาก : ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดลำปาง