รีเซต

"คนไทย" ลงทุนเพื่อเกษียณน้อย?

"คนไทย" ลงทุนเพื่อเกษียณน้อย?
TNN ช่อง16
4 พฤศจิกายน 2563 ( 10:49 )
531
"คนไทย" ลงทุนเพื่อเกษียณน้อย?

วันนี้(4พ.ย.63)เศรษฐกิจอินไซต์ได้นำเสนอเรื่อง ระบบบำนาญของไทย พบว่ายังมีปัญหาหลายด้านต้องเร่งแก้ไขทั้งด้านความเพียงพอ ความครอบคลุม และความยั่งยืน   ซึ่งแนวางหนึ่งที่ภาครัฐพยายามดำเนินการคือ การใช้ “นโยบายภาษี” เพื่อจูงใจให้มีการออมเพื่อเกษียณมากขึ้น 

แล้วพฤติกรรมของคนไทยออมและลงทุนอย่างไรผ่านระบบภาษีในช่วงที่ผ่านมาเป็นอย่างไร  รวมถึง นโยบายภาษีในด้านการออมเพื่อการเกษียณของไทยเป็นอย่างไรเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ และแรงจูงใจภาษีส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการลงทุนระยะยาวของคนไทย อย่างไร

เศรษฐกิจอินไซต์วันนี้ จะเจาะลึกว่า “ภาษีกับการลงทุนระยะยาวของคนไทย: คนไทยลงทุนแบบไหน และแรงจูงใจภาษีส่งผลอย่างไร” ซึ่งเป็นผลการศึกษาของ ดร.อธิภัรท มุทิตาเจริญ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  ซึ่งศึกษาร่วมกับนายทรงวุฒิ บุรงค์ จากกรมสรรพากร  โดยวิเคราะห์ข้อมูลภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อมุ่งศึกษาสิทธิประโยชน์ภาษีในด้านการส่งเสริมการลงทุนระยะยาวของคนไทย โดยการศึกษาจะครอบคลุม เฉพาะผู้ยื่นแบบภาษีฯ ซึ่งประมาณ80% มีรายได้หลักจากการจ้างงาน และเป็นการลงทุนผ่านระบบภาษีเท่านั้น  

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ใช้เป็นปี 2018 แต่ตัวเลขผู้เสียภาษีในปัจจุบันไม่ได้เปลี่ยนแปลงจาก 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งมีผู้ยื่นแบบภาษี ภ.ง.ด.90,10 ประมาณ 10 ล้านคน แต่งานวิจัยนี้ครอบคลุมผู้ยื่นแบบ 8 ล้านคน และในจำนวนนี้มีผู้ที่ต้องจ่ายภาษีราว 4 ล้านคน 


ก่อนอื่นมาดูในภาพรวมของผลการศึกษาซึ่งค้นพบว่า ผู้เสียภาษีมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการออมและการลงทุนค่อนข้างมาก และเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยสัดส่วนผู้เสียภาษีมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มจาก 52% ในปี 2007 เป็น 63% ในปี 2018 และอัตราการออมผ่านระบบภาษีอยู่ที่ประมาณ 10% ของรายได้ในปี 2018 เพิ่มขึ้น 32% ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา 



นอกจากนี้อัตราการออมยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้ แต่สิ่งที่ค่อนข้างน่ากังวลคืออัตราการออมของผู้ที่มีรายได้น้อยและปานกลางต่ำกว่าของผู้ที่มีรายได้สูงอย่างชัดเจน โดยอัตราการออมของกลุ่ม Quintile ที่ 5 อยู่ที่ 15% สูงกว่าของ Quintile 1-3 เกือบ 2 เท่า

ทั้งนี้ ในงานศึกษาแบ่งผู้รายได้ออกเป็น 5 Quintile  คือ Quintileที่ 1 มีรายได้น้อยกว่า 26,000 บาท/เดือน Quintile ที่2 มีรายได้ตั้งแต่ 26,000-34,000 บาท/เดือน Quintileที่3 มีรายได้ตั้งแต่ 34,000-45,000บาท/เดือน Quintile ที่4 มีรายได้ตั้งแต่ 45,000-66,000 บาท/เดือน และ Quintile ที่5 มีรายได้มากกว่า 66,000 บาท/เดือน 



โดยพบว่าสัดส่วนของผู้มีการลงทุนระยะยาวผ่านระบบภาษี (LTF RMF และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ) อยู่ที่ประมาณ 20%-30% เท่านั้นของผู้เสียภาษีรายได้น้อยและปานกลาง ซึ่งสัดส่วนดังกล่าวต่างจากของผู้มีรายได้สูงราว 70% อย่างชัดเจน โดยมีข้อสังเกตที่น่าสนใจคือในกลุ่มรายได้ปานกลาง ประมาณ 20-30% ของผู้เสียภาษีเลือกที่จะมีการลดหย่อนภาษีเพื่อการ “ประกันชีวิต” เพียงอย่างเดียว ซึ่งสะท้อนว่าคนรายได้ปานกลางมีการออมเงิน แต่อาจจะให้ความสำคัญต่อการลงทุนเพื่อการเกษียณไม่มากนัก  

(สีเทา.  คือ ไม่มีการออม ซึ่งเกือบ 70% อยู่ในกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ) 



ดังนั้นจากงานศึกษาชี้ว่าในกลุ่มผู้ที่มีการลดหย่อนแต่ละประเภท สัดส่วนการลงทุนใน LTF ต่อรายได้สูงกว่าการลงทุนอื่นๆ อย่างชัดเจนตลอดอายุการทำงาน ในขณะที่ RMF จะเริ่มทวีความสำคัญหลังอายุ 50 ปี สอดคล้องกับเงื่อนไขผูกพันการลงทุนของRMF ที่ผ่อนคลายมากขึ้นเมื่อเข้าใกล้อายุ 50 ปี เช่น สามารถลงทุนไม่เกิน 5 ก็สามารถขายหน่วยลงทุนได้โดยไม่เสียภาษี เนื่องจาก RMF กำหนดเงื่อนไขว่าเมื่อครบอายุ 55 ปีสามารถขายหน่วยลงทุนที่ถืออยู่ได้โดยเสียภาษี  

แล้วรัฐ เก็บภาษีจากการออมและการลงทุนของคนไทยอย่างไร 

การออมและการลงทุนทุกประเภทจะมีภาษีเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยทั่วไปรายได้ของคนไทยที่จัดสรรเพื่อการออมจะไม่ได้รับการยกเว้นภาษี และผลตอบแทนที่ได้จากการออมจะถูกจัดเก็บภาษี ซึ่งอาจมองได้ว่ารัฐเก็บภาษีซ้ำซ้อน (Doubletaxation) จากทั้งรายได้ตอนแรกก่อนการออมและผลตอบแทนจากการออม 


แต่รัฐมีวิธีการชดเชยการเก็บภาษีซ้ำซ้อนนี้แตกต่างกันไปในแต่ละสินทรัพย์ ตัวอย่างเช่น 1) ดอกเบี้ยจากบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์จะได้รับการยกเว้นภาษีหากมีมูลค่าต่ำกว่า 20,000 บาทต่อปี และผู้ออมสามารถเลือกเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย 15% หากมีมูลค่าเกินเกณฑ์ดังกล่าว และ2) ผู้ลงทุนในกองทุนรวมสามารถเลือกเสียภาษีหัก ณ ที่จ่าย10% สำหรับเงินปันผลที่ได้รับ และได้รับการยกเว้นภาษีเมื่อมีรายได้ Capital gains จากการขายหน่วยลงทุน เป็นต้น


สำหรับการลงทุนเพื่อการเกษียณนั้น รัฐได้ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีต่าง ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจในการลงทุน  โดยรัฐได้ 
1) อนุญาตให้นำเงินลงทุนมาลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งทำให้รายได้ที่นำมาลงทุนนั้นเสมือนว่าได้รับการยกเว้นภาษี
2) ยกเว้นภาษีสำหรับเงินได้ต่าง ๆ สำหรับเงินที่กำลังสะสมในกองทุน 
และ 3) ยกเว้นภาษีเมื่อผู้ลงทุนนำเงินสะสมออกมาจากกองทุนเมื่อครบอายุและเกณฑ์อื่น ๆ ที่กำหนด

แรงจูงใจภาษีของไทยในด้านการออมเพื่อการเกษียณนี้อยู่ในระดับที่สูงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ โดยนโยบายของไทยใกล้เคียงกับของสิงคโปร์ ที่มีการยกเว้นภาษีทั้งสำหรับการซื้อหน่วยลงทุน การเติบโตของเงินในกองทุนและการขายหน่วยลงทุน 

ในขณะที่ประเทศอื่น ๆ เช่น เกาหลีใต้ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร สหรัฐฯ และออสเตรเลียนั้น จะมีการจัดเก็บภาษีที่ขาเข้า (การซื้อหน่วยลงทุน) หรือขาออก (การขายหน่วยลงทุน)

ดังนั้นหากมองเรื่องความพอเพียงของมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการออมในระยะยาว หรือออมเพื่อเกษียณ ทางผู้วิจัยยืนยันว่า ประเทศไทยมีมาตรการภาษีหรือสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่เพียงพอ แต่ต้องกระตุ้นให้มีการใช้สิทธิประโยชน์เพิ่มมากขึ้น 


แล้วกลุ่มไหนควรได้รับกระตุ้นมากที่สุด?

จากการศึกษาผลกระทบของแรงจูงใจภาษีต่อพฤติกรรมการลงทุนระยะยาว ทางผู้วิจัยพบว่า  แรงจูงใจภาษีสำคัญมากสำหรับผู้ที่มี “รายได้ปานกลาง” โดยการเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจภาษีมีผลสำคัญต่อ “การตัดสินใจ” ลงทุนของผู้มีรายปานกลางมากกว่าผู้มีรายได้สูงอย่างชัดเจน   

เนื่องจากผู้มีรายได้ปานกลางอาจมีข้อจำกัดด้านสภาพคล่อง (Liquidity constraint) ที่แตกต่างกันตามระดับรายได้  โดยคนรายได้สูง มีแนวโน้มที่จะมีเงินเหลือมากพอที่จะลงทุนได้โดยไม่ต้องห่วงข้อผูกมัดเรื่องการถือหน่วยลงทุน  ในขณะที่คนรายได้ปานกลางมีแนวโน้มที่จะมีสัดส่วนของเงินที่เหลือพอสำหรับการลงทุนระยะยาวต่อรายได้น้อยกว่า  ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงแรงจูงใจภาษีจึงมีผลต่อการตัดสินใจลงทุนของกลุ่มรายได้ปานกลางมากกว่า

นอกจากนี้ งานวิจัยยังชี้ว่าคนไทยมีการตอบสนองต่อสิทธิ ประโยชน์ทางภาษีแตกต่างกันอย่างชัดเจนในมิติอายุและความรู้ทางการเงิน  โดยแรงจูงใจภาษีมีอิทธิพลสูงต่อการตัดสินใจลงทุนในกลุ่มผู้มี “ความรู้ทางการเงินต่ำ” และในกลุ่มคนอายุน้อย  ทั้งในมิติของความซับซ้อนทางการเงิน และวินัยทางการเงิน 

จะเห็นว่า เครื่องมือภาษีมีศักยภาพในการกระตุ้นการตัดสินใจ แต่กลุ่มไหนควรให้ความสำคัญเป็นพิเศษไปฟังเสียงผู้วิจัยกันค่ะ 



จากผลการศึกษาดังกล่าว จึงมีนัยต่อการวางนโยบายของรัฐ 2 ประการ โดยผู้วิจัยเสนอว่า 

1) การส่งเสริมความรู้ทางการเงินต้องครอบคลุมถึงความเข้าใจทางเลือกการออมและการลงทุนในสินทรัพย์แต่ละประเภท ผลการศึกษาชี้ว่า มีเพียง 20%-30% เท่านั้นของผู้เสียภาษีรายได้น้อยและปานกลางที่มีการลงทุนระยะยาว

ดังนั้น การส่งเสริมความรู้ทางการเงินจึงไม่ควรจำกัดอยู่ที่การวางแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันเท่านั้น แต่ควรจะทำให้คนไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มรายได้น้อยและรายได้ปานกลาง สามารถเปรียบเทียบผลตอบแทนและความเสี่ยงจากการออมและการลงทุนในสินทรัพย์ต่าง ๆ ที่จะสอดคล้องต่อเป้าหมายทางการเงินหลังเกษียณของตนเองได้

2) รัฐจำเป็นต้องติดตามพฤติกรรมการลงทุนและประสิทธิผลของมาตรการในปี2563  ผลการศึกษาชี้ถึงบทบาทที่สำคัญของแรงจูงใจภาษีในกลุ่มคนรายได้ปานกลาง ซึ่งเชื่อมโยงกับข้อจำกัดทางสภาพคล่อง (Liquidity constraint) ของคนกลุ่มนี้  ข้อค้นพบนี้สนับสนุนการเปลี่ยนแปลงนโยบายในปี 2563 ที่ได้ขยายโอกาสในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับคนรายได้ปานกลางและรายได้น้อย  จำกัดวงเงินการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับคนรายได้สูง  และผ่อนคลายเงื่อนไขเกณฑ์ลงทุนขั้นต่ำสำหรับ RMF ในอนาคต  

ดังนั้น รัฐจำเป็นต้องติดตามพฤติกรรมการลงทุนของคนไทยว่าเปลี่ยนไปอย่างไรภายใต้นโยบายใหม่นี้ รวมถึงศึกษาประสิทธิผลของมาตรการภาษี เพื่อให้นโยบายภาษีตอบโจทย์ทั้งการเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" และ "ความยั่งยืน" ทางการคลัง เพราะรัฐต้องใช้เม็ดเงินราว 60,000 ล้านบาท สำหรับให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อการออมและการลงทุน 

ดังนั้นต้องใช้ศักยภาพของเครื่องมือภาษีในการกระตุ้นการตัดสินใจลงทุนของกลุ่มคนที่มีแนวโน้มที่จะเป็นกลุ่มเสี่ยงในแง่ของการเตรียมความพร้อมทางการเงินหลังเกษียณให้มีการลงทุนเพื่อเกษียณเพิ่มมากขึ้น 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติม คนไทย ลงทุนเพื่อเกษียณน้อย? : เศรษฐกิจ Insight 3 พ.ย.63



website: www.TNNTHAILAND.com 
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live 
twitter : TNNONLINE 
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE 
Instagram : TNN_ONLINE 
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง