รีเซต

เปิด 4 ข้อเท็จจริง ไทยขาดแคลน “แรงงานต่างด้าวทักษะสูง”

เปิด 4 ข้อเท็จจริง  ไทยขาดแคลน  “แรงงานต่างด้าวทักษะสูง”
TNN ช่อง16
2 กันยายน 2563 ( 10:10 )
902

การดึงดูดแรงงานต่างด้าวทักษะสูง ถือเป็นหนึ่งในนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจของหลายประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศอังกฤษ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย ที่ถือเป็นประเทศแรก ๆ ที่เปิดรับแรงงานทักษะสูงจากต่างประเทศให้เข้ามาทำงานในสาขาที่เป็นที่ต้องการ โดยเฉพาะในสาขาไอที  สาธารณสุข การศึกษา และงานวิชาชีพอื่นๆ

แรงงานเหล่านี้ไม่เพียงแค่ช่วยเติมเต็มแรงงานในสาขาที่ขาดแคลนเท่านั้น แต่ยังช่วยดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ เพิ่มผลิตภาพ ให้กับประเทศ ทำให้ค่าจ้างในประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งยังมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรมให้กับประเทศปลายทาง 

สำหรับประเทศไทย แรงงานต่างด้าวทักษะสูงเริ่มมีบทบาทมากขึ้นต่อตลาดแรงงานไทย โดยเฉพาะตั้งแต่ก่อนช่วงวิกฤตการณ์ต้มยำ ผ่านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ จนในปัจจุบันแรงงานต่างด้าวทักษะสูงเพิ่มขึ้นกว่าในอดีตหลายเท่าตัว แต่ก็ยังไม่เพียงพอ 

เศรษฐกิจอินไซต์วันนี้ จะชวนมา “เปิดข้อเท็จจริงแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในไทย” มองภาพการพึ่งพาแรงงานต่างด้าวในไทย ผ่านข้อมูลประกันสังคม จากการวิจัยโดยคุณชมนาถ นิตตะโย, ดร.โสภณ ธัญญาเวชกิจ, คุณบวรวิชญ์ จินดารักษ์, นันทนิตย์ ทองศรี ทีมนักวิจัยจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)


จากข้อมูลการวิจัยมุ่งศึกษาภาพรวมการจ้างงานแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในไทย โดยใช้ข้อมูล “ผู้ประกันตนภาคบังคับ”  จากสำนักงานประกันสังคม ซึ่งพบว่ามีลูกจ้างแรงงานต่างด้าวที่อยู่ในระบบประกันสังคมกว่า 1 ล้านคน ครอบคลุมร้อยละ 35.5 ของแรงงานต่างด้าวถูกกฎหมายทั้งหมด

โดยคณะผู้วิจัยได้แบ่งกลุ่มแรงงานโดยใช้เกณฑ์ค่าจ้าง ซึ่งแรงงานทักษะต่ำ คือ กลุ่มที่ได้รับค่าจ้างน้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน ขณะที่แรงงานต่างด้าวทักษะสูง คือ กลุ่มที่ได้รับค่าจ้างเท่ากับ 15,000 บาทต่อเดือน (ซึ่งเป็นเพดานเงินเดือนสำหรับคำนวณเงินสมทบนำส่งกองทุนประกันสังคม) ทั้งนี้กลุ่มนี้ไม่นับรวมแรงงานเมียนมา ลาว กัมพูชา ไร้สัญชาติและชนกลุ่มน้อย  เนื่องจากแรงงานกลุ่มนี้ส่วนใหญ่ค่อนข้างใช้ทักษะพื้นฐาน  

ชมคลิปรายได้การได้ที่เศรษฐกิจ Insight" วันพุธที่ 2 กันยายน 2563

 https://www.youtube.com/watch?v=-OF54Rw1iQw

พบว่าเป็นลูกจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่อยู่ในระบบประกันสังคมมีจำนวนกว่า 8 หมื่นคน ครอบคลุมร้อยละ 53.7 ของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่ถูกกฎหมายทั้งหมด   

จากการวิจัยพบข้อเท็จจริง 4 ประการเกี่ยวกับแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในไทย  ดังนี้

ข้อเท็จจริงประการแรก: จำนวนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แต่ยังมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับแรงงานทั้งหมด

จากกราฟฟิกจะเห็นได้ว่า จำนวนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงเพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าจาก 17,526 คน ในปี 2002 มาเป็น 86,830 คน ในปี 2019  โดยเพิ่มขึ้นในทุกสัญชาติ  แม้จะมีบางช่วงที่การจ้างงานทรงตัวบ้าง แต่ก็เป็นไปตามภาวะเศรษฐกิจโดยเฉพาะในช่วงวิกฤตการเงินในปี 2008-2009

และหากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงจำนวนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในไทยในช่วงประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา พบว่า ไทยมีการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีสัญชาติหลัก คือ ญี่ปุ่น จีน ฟิลิปปินส์ อินเดีย และอังกฤษ ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 65 ของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงทั้งหมด 


ทั้งนี้ หากพิจารณาสัดส่วนแรงงานแยกตามสัญชาติ พบว่า แรงงานจีนและฟิลิปปินส์ถือว่ามีความสำคัญเพิ่มขึ้นมาก 

โดยในช่วงปี 2002 ถึง 2019 แรงงานจีนมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นมากจากร้อยละ 9 เป็นร้อยละ 19 โดยเฉพาะในภาคการผลิต การค้า ท่องเที่ยว และอสังหาริมทรัพย์ สอดคล้องกับ FDI ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่รัฐบาลจีนสนับสนุนให้นักธุรกิจออกไปลงทุนในต่างประเทศ (going-out policy) รวมถึงในช่วงปี 2013 จีนต้องการลดแรงกดดันจากมาตรการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐอเมริกา (anti-dumping) โดยเฉพาะในผลิตภัณฑ์ยาง จึงทำให้มีการย้ายฐานการผลิตมาในไทยมากขึ้น  

ส่วนแรงงานฟิลิปปินส์  เพิ่มขึ้นอย่าง "ก้าวกระโดด"จากร้อยละ 2 เป็นร้อยละ 10 เนื่องจากรัฐบาลฟิลิปปินส์มีนโยบายส่งเสริมให้พลเมืองออกไปทำงานต่างประเทศ จากภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่มีอัตราการว่างงานที่สูงและค่าจ้างแรงงานที่ต่ำ

ในขณะที่แรงงานจีนและฟิลิปปินส์มีบทบาทมากขึ้น แรงงานญี่ปุ่นซึ่งเป็นแรงงานต่างด้าวทักษะสูงกลุ่มหลักในไทยกลับเริ่มมีสัดส่วนลดลง จากร้อยละ 29 ในปี 2002 เป็นร้อยละ 23 ในปี 2019 สอดคล้องกับการลดลงของมูลค่า FDI โดยเฉพาะในภาคการผลิต นอกจากนี้ข้อมูลในระบบประกันสังคมยังชี้ว่าจำนวนนายจ้างที่จ้างแรงงานญี่ปุ่นก็ลดลงเช่นกัน ซึ่งอาจเกิดจากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทญี่ปุ่นออกจากไทยมากขึ้น



(กราฟด้านซ้าย) โดยภาพรวม หากเปรียบเทียบแรงงานต่างด้าวทักษะสูงกับแรงงานทั้งหมดยังถือว่ามีสัดส่วน "ค่อนข้างน้อย"  โดยในช่วงแรกแรงงานต่างด้าวทักษะสูงและทักษะต่ำมีสัดส่วนใกล้เคียงกัน แต่ในระยะหลังกลับพบว่าสัดส่วนของแรงงานทั้งสองกลุ่มต่างกันค่อนข้างมาก  โดยแรงงานต่างด้าวทักษะต่ำมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นอย่างมากมาอยู่ที่ร้อยละ 9 ในปี 2019 จากผลของนโยบายสำคัญ คือ การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในปี 2011 และการผ่อนผันการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวในปี 2018

ขณะที่นโยบายดังกล่าวไม่ได้มีผลต่อการเพิ่มขึ้นของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงแต่อย่างใด  สะท้อนจากสัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงปรับเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยมาอยู่ที่ประมาณร้อยละ 1 ของกำลังแรงงานทั้งหมด หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ของแรงงานต่างด้าวในระบบประกันสังคม (ภาพวงกลม) 


 ทั้งนี้ เมื่อเปรียบเทียบไทยกับประเทศที่มีนโยบายบริหารแรงงานต่างด้าวที่ชัดเจนอย่าง แคนาดา ออสเตรเลีย อังกฤษ สิงคโปร์ และสหรัฐอเมริกาพบว่ามีสัดส่วนที่สูงกว่ามาก อยู่ที่ร้อยละ 53, 41, 37, 29 และ 25 ตามลำดับ 



ข้อเท็จจริงประการที่สอง: แรงงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคการผลิตขนาดใหญ่ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรง (FDI) จากประเทศนั้น ๆ ขณะที่กิจการขนาดเล็กยังมีการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงค่อนข้างน้อย

เมื่อพิจารณาลักษณะงานของแรงงานแต่ละสัญชาติ  พบว่า แรงงานญี่ปุ่นและจีนส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ในภาคการผลิต  โดยญี่ปุ่นจะเน้นในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอิเล็กทรอนิกส์ ขณะที่จีนจะเน้นที่อุตสาหกรรมการผลิตผลิตภัณฑ์ยาง 

สำหรับแรงงานอินเดียจะกระจายไปในประเภทธุรกิจต่าง ๆ โดยอยู่ในภาคการผลิต (ยางและเคมีภัณฑ์) การค้า และธุรกิจข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร (โดยเฉพาะการจัดทำโปรแกรมคอมพิวเตอร์และการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์) ขณะที่แรงงานฟิลิปปินส์และอังกฤษค่อนข้างกระจายไปในภาคการค้าและบริการ 

จะเห็นได้ว่า แรงงานต่างด้าวทักษะสูงส่วนใหญ่อยู่ในกิจการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ โดยบริษัทขนาดเล็กยังมีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวทักษะสูงค่อนข้างน้อย



ทั้งนี้ บริษัทขนาดเล็กยังมีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวทักษะสูงค่อนข้างน้อย ส่วนหนึ่งอาจเกิดจากข้อจำกัดบางประการ เช่น นายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานต่างด้าวต้องมีเงินทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ 2 ล้านบาท และจะต้องมีสัดส่วนแรงงานต่างด้าวต่อคนไทย 1 ต่อ 4 คน (กระทรวงแรงงาน, 2020) ซึ่งเงื่อนไขเหล่านี้อาจเป็นข้อจำกัดสำหรับกิจการขนาดเล็กหรือวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) ที่ต้องการจ้างแรงงานทักษะสูงได้


ข้อเท็จจริงประการที่สาม: แรงงานต่างด้าวทักษะสูงเป็นที่ต้องการในงานด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และภาษา

จากการศึกษาพบว่า ธุรกิจแต่ละประเภทมีการจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในสัดส่วนที่แตกต่างกัน  (จากกราฟฟิกจะเห็นว่า ภาคการผลิตและขายส่งขายปลีกมีจำนวนแรงงานต่างด้าวสูงมากที่สุด แต่เมื่อเทียบกับจำนวนแรงงานไทยแล้ว พบว่าธุรกิจประเภทนี้ "ไม่ได้พึ่งพา" แรงงานต่างด้าวทักษะสูง เมื่อเทียบกับกิจกรรมอื่นๆ ที่ยัง "ขาดแคลน" แรงงานที่มีทักษะบางประการซึ่งหายากในไทย ได้แก่ (ดูในเครื่องหมายสามเหลี่ยม)

1.กิจกรรมข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร เช่น ตำแหน่งโปรแกรมเมอร์ นักพัฒนาซอฟแวร์ และนักวิทยาศาสตร์ข้อมูล
2.ที่พักแรมและบริการด้านอาหาร เช่น พนักงานต้อนรับในโรงแรม และงานบริการอื่น ๆ ที่ใช้ภาษาต่างประเทศ 
3.งานวิชาชีพวิทยาศาสตร์ และเทคนิค เช่น ตำแหน่งวิศวกร ที่ปรึกษา และนักวิทยาศาสตร์
และ 4. กิจกรรมการบริหารและการบริการสนับสนุน เช่น กิจกรรมนำเที่ยว และธุรกิจท่องเที่ยว เป็นต้น 
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจผู้ประกอบการของธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2017-2018 พบว่า ภาคธุรกิจยังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานกลุ่มนี้ค่อนข้างมาก ทำให้บริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งจำเป็นต้องย้ายธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลและการวิจัยไปในประเทศที่มีนโยบายการจ้างงานที่มีความยืดหยุ่นและเสรีกว่า เช่นสิงคโปร์ 



ข้อเท็จจริงประการที่สี่: แรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่ทำงานในกิจการที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ (S-Curve) มีเพียงแค่ร้อยละ 34 ของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงทั้งหมด

การขับเคลื่อนเศรษฐกิจในยุค 4.0 ย่อมต้องการแรงงานทักษะสูงมากขึ้น โดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  คณะผู้วิจัยจึงสนใจว่าแรงงานเหล่านี้มีจำนวนมากน้อยเพียงใดที่อยู่ในอุตสาหกรรมสำคัญในอนาคต 

ซึ่งพบว่า การจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมเดิม (first S-Curve)  และกลุ่มอุตสาหกรรมใหม่ (new S-Curve)  โดยภาพรวม การจ้างแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายยังมีสัดส่วนไม่มากนัก 

(กราฟแท่ง)โดยกลุ่มที่มีการจ้างงานมากที่สุด คิดเป็นเพียงประมาณร้อยละ 5 เท่านั้น นั่นคือ อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (affluent, medical and wellness tourism) 
รองลงมา คือ อุตสาหกรรมดิจิทัล (digital) ที่ร้อยละ 4 

และอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (smart electronics) และอุตสาหกรรมหุ่นยนต์ (robotics) ที่ร้อยละ 3 เมื่อเทียบกับแรงงานไทยทักษะสูง


นอกจากนี้ พบว่า ในปี 2019 สัดส่วนแรงงานต่างด้าวทักษะสูงที่ทำงานในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายมีเพียงประมาณร้อยละ 33.5 ของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงทั้งหมดเท่านั้น

 โดยอยู่ใน (กราฟเส้น) First S-Curve และ New S-Curve เท่ากับร้อยละ 15.5 และ 18.0 ตามลำดับ ทั้งนี้ สัดส่วนของแรงงานต่างด้าวทักษะสูงในกลุ่ม First S-Curve มีแนวโน้มลดลงจากอุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่เป็นสำคัญ 

ขณะที่ในกลุ่ม New S-Curve มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 15.9 เป็น 18.0 จากอุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์เป็นสำคัญ

ในภาพรวม จะเห็นได้ว่าเรายังมีแรงงานทักษะสูงอีกเกือบร้อยละ 70 ที่กระจายอยู่ในกิจกรรมอื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ในอุตสาหกรรมเป้าหมายโดยตรง ในอนาคตจำเป็นต้องมีการวางแผนการดึงดูดแรงงานทักษะสูงที่ชัดเจน รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้แรงงานเหล่านี้หันเข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมเป้าหมายมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงแรกที่จำเป็นต้องเปิดรับเทคโนโลยีขั้นสูงซึ่งต้องอาศัยแรงงานต่างด้าวทักษะสูงมากขึ้น

รวมถึงการสร้างระบบนิเวศน์ในการดึงดูดแรงงานที่มีทักษะ เช่น การจัดโครงการแข่งขัน Startup การฝึกอบรม หรือการสร้างเครือข่ายคนไทยในต่างประเทศเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ ซึ่งดำเนินการไปพร้อมกับการสร้างแรงจูงใจด้วยการอำนวยความสะดวกให้แรงงานไม่ว่าจะเป็นด้านการต่อวีซ่า การให้ความคุ้มครองด้านสิทธิ์ของแรงงาน และรวมไปถึงสิทธิในการรักษาพยาบาล และความมั่นคงปลอดภัยด้านอื่น ๆ



ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวข้างต้นควรทำควบคู่ไปกับการรักษาโอกาสในการทำงานของแรงงานไทยด้วยการ กำหนดระยะเวลาของวีซ่า กำหนดรายได้ขั้นต่ำของแรงงานต่างชาติ รวมทั้งต้องไม่มีแรงงานในประเทศในตำแหน่งที่ต้องการ เพื่อไม่ให้เกิดการแย่งงานแรงงานในประเทศ

 อีกทั้งจำเป็นต้องมีกระบวนการติดตามและประเมินตลาดแรงงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อแรงงานในประเทศได้ทันท่วงที และสำคัญที่สุดคือการยกระดับแรงงานในประเทศให้สามารถแข่งขันได้และมีนโยบายที่ดึงแรงงานไทยที่มีทักษะที่ออกไปทำงานในต่างประเทศกลับมาทำงานช่วยประเทศตนเอง ดังเช่นตัวอย่างในประเทศอินเดียและจีน

ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19 การเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างประเทศมีแนวโน้มทำได้ยากขึ้น หลายประเทศควบคุมการระบาดด้วยการปิดพรมแดน และจำกัดการนำเข้าแรงงานจากต่างประเทศ แม้ว่าในระยะสั้นจะมีอุปสรรคในการเคลื่อนย้ายแรงงาน
แต่ในระยะยาวการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยแรงงานทักษะสูงยังเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นการวางแผนกำลังแรงงานจึงเป็นสิ่งสำคัญ ทั้งแผนการพัฒนาแรงงานในประเทศและการวางนโยบายดึงดูดแรงงานทักษะจากต่างประเทศ
เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง