การบินไทย : สหภาพแรงงานการบินไทยเห็นด้วยปรับโครงสร้าง แต่คัดค้านการแปรรูป
สหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจการบินไทยออกมาเคลื่อนไหวแล้วหลังจากที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมประกาศว่าจะให้โอกาสบริษัทการบินไทยเป็นครั้งสุดท้ายในการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเพื่อแก้ปัญหาการขาดทุน โดยวันนี้ (8 พ.ค.) ตัวแทนสหภาพฯ จะยื่นหนังสือถึงนายกฯ แสดงจุดยืนต่อเรื่องนี้ที่ทำเนียบรัฐบาล
สหภาพฯ การบินไทยระบุว่าเห็นด้วยกับการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงโครงสร้างขององค์กร การเพิ่มรายได้-ลดค่าใช้จ่าย กำจัดอิทธิพลทางการเมืองและการทุจริตคอรัปชัน รวมถึงการลดขนาดขององค์กร โดย "ไม่กระทบกับสภาพการจ้างของพนักงานบริษัทฯ"
"สหภาพแรงงานรัฐวิสหกิจการบินไทย ขอแสดงจุดยืนในการดูแล บริษัทการบินไทย จํากัด (มหาชน) โดยเน้นในเรื่องของสถานะสภาพความเป็นรัฐวิสาหกิจ และการอยู่ร่วมกันของหน่วยงานทุกหน่วยงานของบริษัทฯและการคุ้มครองสิทธิประโยชน์รวมถึงสวัสดิการของสมาชิก และพนักงานบริษัทฯ ทุกท่านตามสภาพการจ้างที่มีอยู่เดิมตามกฎหมายว่าด้วยแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ และกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน" สหภาพฯ การบินไทยโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อวานนี้ (7 พ.ค.)
- โควิด-19 : วิกฤตโรคระบาดทำสายการบินทั่วโลก ลดคน-ลดเงินเดือน-ขอรัฐช่วย
- โควิด-19 : ไอเอ็มเอฟ คาดวิกฤตไวรัสโคโรนาระบาดจะทำเศรษฐกิจโลกถดถอยครั้งใหญ่ในรอบเกือบ 100 ปี
- ไวรัสโคโรนา : วิกฤตโควิด-19 ทำเศรษฐกิจไทยเลวร้ายสุดนับแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540
สหภาพฯ การบินไทยระบุว่ายินดีให้ความร่วมมือกับรัฐบาลในการฟื้นฟูบริษัทการบินไทย แต่ "ขอแสดงเจตนารมณ์คัดค้านการแปรรูปบริษัทฯ ด้วยการแบ่งแยกหน่วยธุรกิจ ของบริษัทฯออกจากกัน และ/หรือ มีผลให้บริษัท การบินไทย ต้องพ้นจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ เนื่องจากการบินไทย เป็นสายการบินแห่งชาติ และต้องเป็นหนึ่งเดียวเท่านั้น"
เวลา 13.00 น. วันนี้ สหภาพฯ การบินไทยจะยื่นหนังสือถึงนายกรัฐมนตรีเพื่อแสดงความเห็นและจุดยืนในเรื่องการฟื้นฟูองค์กรที่ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่องมากว่า 6 ปี
นายกฯ เรียกร้องออกอากาศถึงพนักงานการบินไทย
ปัญหาสภาพคล่องและการขาดทุนของการบินไทยกลับมาเป็นประเด็นอีกครั้งหลังจากที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธาน ประชุมกันเมื่อวันที่ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. และเห็นชอบแผนการแก้ไขปัญหาของบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่ผ่านการพิจารณาของกระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลังมาแล้ว โดย คนร. ได้มอบให้กระทรวงคมนาคมนำเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป
ผลขาดทุน/กำไร 6 ปี การบินไทย (ล้านบาท)
2557 | 2558 | 2559 | 2560 | 2561 | 2562 |
---|---|---|---|---|---|
-15,572 | -13,047 | +15.14 | -2,107 | -11,625 | -12,042 |
ที่มา : ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
มีการคาดกันว่า ครม.จะหยิบแผนฟื้นฟูฯ นี้มาพิจารณาในการประชุมเมื่อวันที่ 5 พ.ค. แต่สุดท้าย พล.อ.ประยุทธ์ก็ออกมาแถลงเองว่าเรื่องนี้ไม่ได้อยู่ในวาระการประชุมของ ครม. อย่างไรก็ตาม นายกฯ ใช้โอกาสในช่วงแถลงข่าวเรียกร้องออกอากาศให้ผู้บริหาร พนักงานและสหภาพแรงงานฯ การบินไทยให้ความร่วมมือในการปฏิบัติตามแผนฟื้นฟูนี้
"ถ้าท่านไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูนี้ มันก็จะเกิดปัญหา ยิ่งลำบากไปกว่านี้" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว "แผนฟื้นฟูมีอยู่ประมาณ 10 ประการที่ต้องทำให้ได้ การที่จะให้เงินกู้ไปนั้น ไม่ใช่ว่าให้ไปแล้วก็ใช้หมด แล้วทุกอย่างก็ยังเป็นเหมือนเดิม ครั้งนี้ท่านต้องปรับโครงสร้างทั้งหมด...ผมไม่ได้อยากไปก้าวล่วงอำนาจของใครทั้งสิ้น"
นายกฯ บอกว่ามีความจำเป็นที่การบินไทยจะต้องอยู่ต่อไปและยังมีช่องทางที่จะแก้ไขได้
"ผมให้เวลาในการแก้ไขไป 5 ปีแล้ว ยังไม่สำเร็จ ครั้งนี้ก็ถือว่าเป็นครั้งสุดท้ายแล้วที่รัฐบาลจะต้องดำเนินการให้ได้ตามนั้น ขอความร่วมมือจากบรรดาสหภาพด้วย นั่นคือความเป็นความตายของท่าน" พล.อ.ประยุทธ์กล่าว
มีอะไรในแผนฟื้นฟูฯ
นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ชี้แจงมติที่ประชุม คนร. ที่ให้ความเห็นชอบการทำแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทยว่า การฟื้นฟูนี้ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า การบินไทยยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติและมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดิม
คนร. ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาทางการเงินไปทำแผนการฟื้นฟูกิจการเพื่อนำเสนอบอร์ดการบินไทย สำหรับการกู้เงินเพื่อการฟื้นฟูกิจการนั้น กระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงินโดยมีการกำหนดเป็นเพดานวงเงินกู้ไว้ แต่จะกู้จริงเท่าไหร่ ให้ขึ้นอยู่กับความจำเป็น และผลการดำเนินงานใน การฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ที่ต้องทำตามขั้นตอน เงื่อนไขและแผนงานที่กำหนดไว้
เหตุผลที่ คนร.เห็นชอบกับแผนการแก้ปัญหาการบินไทย เนื่องจากเห็นว่าขณะนี้ธุรกิจการบินประสบปัญหาทั้งโลก ไม่ใช่แค่ประเทศไทย โดยเฉพาะการบินไทยที่มีปัญหาสะสมอยู่แล้ว จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเข้าไปดูแล
แม้ปลัดกระทรวงการคลังจะไม่ได้เปิดเผยเพดานวงเงินกู้ตามแผนฟื้นฟูกิจการ แต่สื่อไทยหลายสำนัก เช่น เว็บไซต์ฐานเศรษฐกิจรายงานว่า ระยะเร่งด่วนจะขอให้ ครม.อนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องให้การบินไทยวงเงิน 5.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งส่วนหนึ่งจะนำมาชำระหนี้ที่ครบกำหนดชำระในปีนี้ ส่วนที่เหลือจะเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินงานและเงินเดือนพนักงาน
ส่วนแผนฟื้นฟูการบินไทยระยะที่ 2 ประกอบด้วยการเพิ่มทุน 8 หมื่นล้านบาท และการปรับโครงสร้างบริษัทครั้งใหญ่ รวมทั้งจะมีการพิจารณาลดสัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลังในการบินไทยลง จาก 51.03% เหลือ 49% เพื่อปลดการบินไทยออกจากสถานะของความเป็นรัฐวิสาหกิจ เพื่อให้การบริหารงานคล่องตัวมากขึ้น
8 ข้อเสนอจากอดีตประธานสหภาพฯ การบินไทย
หลังจาก คนร. เห็นชอบการทำแผนฟื้นฟูกิจการการบินไทยเพียงหนึ่งวัน นางแจ่มศรี สุกโชติรัตน์ อดีตประธานสหภาพฯ การบินไทย ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึง พล.อ.ประยุทธ์ ระบุข้อเสนอ 8 ข้อในการแก้ปัญหาของการบินไทยที่ "ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2556 ถึงปี พ.ศ. 2562 รวมแล้วเป็นเงินหลายหมื่นล้านบาท"
ข้อเสนอทั้ง 8 ข้อสรุปได้ดังนี้
- ปรับเปลี่ยนคณะกรรมการบริษัทฯ ชุดปัจจุบันทั้งหมด เพื่อแสดงความรับผิดชอบที่ไม่สามารถแก้ปัญหาการขาดทุนต่อเนื่อง
- กำหนดให้คณะกรรมการบริษัทฯ ให้มีไม่เกิน 9 คน และต้องมีคุณสมบัติพิเศษที่ตรงกับธุรกิจการบินของการบินไทย
- กำหนดให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถทางด้านธุรกิจการบินเข้ามาเป็นผู้ทรงคุณวุฒิ การบินไทยแทนผู้ทรงคุณวุฒิของกระทรวงการคลัง
- ยกเลิกตำแหน่ง EVP (รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่) ทั้งหมด ขอให้มีตำแหน่ง VP (ผู้อำนวยการใหญ่) เป็นตำแหน่งสูงสุดในการบริหารและให้ขึ้นตรงต่อกรรมการผู้อำนวยการใหญ่
- แยกโครงสร้างของฝ่ายธุรกิจต่าง ๆ เช่น ครัวการบิน คลังสินค้า บริการภาคพื้น และซ่อมบำรุง ให้เป็นหน่วยธุรกิจที่คล่องตัวในการสร้างรายได้
- ปรับปรุงฝูงบิน ลดแบบเครื่องบินและเครื่องยนต์ และจัดการบริหารนักบิน ลูกเรือและการซ่อมบำรุงให้เหมาะสมเพื่อลดงบประมาณ
- ยกเลิกการจำหน่ายตั๋วผ่านเอเยนต์ซึ่งทำให้บริษัทฯ สูญเสียรายได้จำนวนมาก
- นำนโยบายองค์กรคุณธรรมมาใช้กำกับการบริหารจัดการอย่างเข้มงวด
นางแจ่มศรียังเรียกร้องให้กำจัดการทุจริตคอรัปชันทุกรูปแบบตั้งแต่ระดับบนคือคณะกรรมการบริษัทฯ ถึงพนักงานระดับปฏิบัติงาน
"หากยังมีความเคลือบแคลงสงสัยในความโปร่งใสขององค์กร...ระบบการสรรหา แต่งตั้ง โยกย้ายยังไม่ปลอดจากระบบอุปถัมภ์ในทุกระดับ ความมุ่งหมายที่จะให้การบินไทยกลับมาผงาดอีกครั้ง จะไม่ประสบความสำเร็จ" เธอระบุในจดหมายถึงนายกฯ
การบินไทยในภาวะวิกฤต
บริษัทการบินไทยออกมาประกาศตั้งแต่ต้นเดือน มี.ค.ว่าบริษัทต้องเผชิญผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ค่าเงินบาทที่แข็งค่าที่สุดในรอบ 6 ปี การแข่งขันด้านราคาที่รุนแรง ผนวกกับการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ปัจจัยลบเหล่านี้ทำให้ต้องปรับลดเที่ยวบินจำนวนมากเช่นเดียวกับสายการบินอื่น ต้องหาทางลดรายจ่าย รวมทั้งปรับลดเงินเดือนผู้บริหารระดับสูง และลดผลตอบแทนที่ให้กับคณะกรรมการบริษัทลงครึ่งหนึ่งเป็นเวลา 6 เดือน
ปี 2562 การบินไทยและบริษัทย่อย มีผลประกอบการขาดทุนสุทธิ 12,017 ล้านบาท ผลประกอบการที่ขาดทุนนี้ยังไม่นับรวมผลกระทบจากโรคโควิด-19 ที่ยังกระหน่ำซัดอุตสาหกรรมการบินทั่วโลก
สายการบินหลายแห่งของต่างประเทศประกาศว่าจะไม่ให้เงินภาษีที่รัฐบาลนำมาใช้ค้ำประกันเงินกู้ต้องสูญเปล่า ส่วนการบินไทยซึ่งให้ข้อมูลบนหน้าเว็บไซต์ว่ามีเครืองบินทั้งสิ้น 101 ลำ ระบุก่อนหน้านี้ว่าหากสถานการณ์โรคระบาดยังไม่คลี่คลายหรือรุนแรงขึ้น บริษัทฯ ได้วางแผนและเพิ่มระดับมาตรการรับมืออย่างเข้มข้น