'แอมเนสตี้' เรียกร้องทางการไทยอย่าส่ง 3 นักข่าวกลับเมียนมา หวั่นได้รับอันตราย
วันที่ 12 พ.ค. มิงยู ฮาห์ รองผู้อำนวยการสำนักงานภูมิภาคฝ่ายรณรงค์ แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลกล่าวว่า ทางการไทยจะต้องไม่บังคับส่งกลับบุคคลเหล่านี้ไปเมียนมา การกระทำเช่นนั้นย่อมทำให้เกิดความเสี่ยงอย่างยิ่งต่อพวกเขา ทั้งการถูกจับกุมและการควบคุมตัวโดยพลการ การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ และอาจถึงขั้นเสียชีวิต
มิงยู ฮาห์กล่าวว่าการกระทำเช่นนั้นย่อมทำให้ประเทศไทยเป็นประเทศที่ละเมิดพันธกรณีตามหลักการไม่ส่งกลับภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ
“การทรมานและการปฏิบัติที่โหดร้ายอื่นๆ ระหว่างการควบคุมตัวในเมียนมา ซึ่งมีสภาพรุนแรงขึ้นภายหลังการทำรัฐประหาร โดยมีบุคคลจำนวนมากถูกควบคุมตัวในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมาและต้องเสียชีวิตระหว่างถูกควบคุมตัวโดยไม่มีเหตุผลที่ชัดเจน”
มิงยู ฮาห์กล่าวว่าหลายปีที่ผ่านมา ดีวีบีเป็นสำนักข่าวชั้นนำที่กล้าแสดงความเห็นเพื่อตรวจสอบทางการ หากถูกส่งตัวกลับไปเมียนมา นักข่าวทั้งสามคนย่อมจะต้องประสบกับความเสี่ยงที่ร้ายแรงอย่างมาก
“ประเทศไทยเคยเป็นประเทศที่รองรับชุมชนผู้พลัดถิ่นและผู้ลี้ภัยจากเมียนมามาเป็นเวลานาน รวมทั้งผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายจากการทำงานสื่อมวลชนอย่างกล้าหาญ ผู้ที่หลบหนีจากการโจมตีทางอากาศของกองทัพเมียนมา และประชาชนชาวเมียนมาที่ต้องหลบหนีอีกครั้งในวันนี้ เราหวังว่าทางการไทยจะให้ที่พักพิงแก่ผู้แสวงหาความปลอดภัยอย่างสอดคล้องตามกฎหมายระหว่างประเทศ”
รายงานข่าวว่าตามถ้อยแถลงของ เอ ชาน หน่ายบรรณาธิการบริหารสำนักข่าวดีวีบี ได้แถลงว่านักข่าวอาวุโสสามคนของดีวีบีและนักกิจกรรมอีกสองคนถูกตำรวจไทยจับกุมเมื่อวันอาทิตย์ที่ 9 พฤษภาคม ที่เชียงใหม่ (ประเทศไทย) ก่อนหน้านี้พวกเขาได้รายงานข่าวเกี่ยวกับการชุมนุมประท้วงต่อต้านรัฐประหารในเมียนมาจนถึงวันที่ 8 มีนาคม ซึ่งเป็นวันที่กองทัพได้เพิกถอนใบอนุญาตของสถานีโทรทัศน์ดีวีบี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลยืนยันได้ว่าปัจจุบันทั้งห้าคนอยู่ระหว่างการควบคุมตัวของตำรวจ
นับแต่การทำรัฐประหารเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ กองทัพเมียนมาได้เพิกถอนใบอนุญาตของสำนักข่าวหลายแห่ง และยังได้ควบคุมตัวผู้สื่อข่าวโดยพลการอีกหลายสิบคน อีกทั้งยังถูกดำเนินคดีหรือเกิดความหวาดกลัวต่อการถูกจับกุม ทำให้หลายคนเลือกที่จะหลบซ่อนตัว
แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลคัดค้านการส่งกลับบุคคล ซึ่งเป็นข้อห้ามตามกฎหมายระหว่างประเทศในทุกกรณีโดยไม่มีข้อยกเว้น การไม่ส่งกลับบุคคลเป็นหลักกฎหมายระหว่างประเทศ ซึ่งห้ามส่งตัวบุคคลไปยังประเทศหรือเขตอำนาจศาลใด ซึ่งมีความเสี่ยงอย่างแท้จริงว่าพวกเขาจะถูกละเมิดหรือปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง หลักการนี้เป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งมีผลบังคับใช้กับรัฐทุกแห่ง ไม่ว่าจะมีการให้สัตยาบันต่อสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องหรือไม่ก็ตาม