เจรจาผสานรอยร้าวจีน-สหรัฐฯ จีนวอนสหรัฐฯ “ปรับทัศนคติ” ตัวเอง หวังพัฒนาความสัมพันธ์ทางการทหาร
บทสนทนาสานสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ
การเจรจาดังกล่าว จัดขึ้นผ่านระบบวีดีโอคอนเฟอเรนซ์ ในวันที่ 28-29 กันยายนที่ผ่านมา โดยมีไมเคิล เชส รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ และหวง เสวียผิง รองผู้อำนวยการสำนักงานความร่วมมือทางการทหารระหว่างประเทศของกองทัพจีน
การเจรจาครั้งนี้เป็นการอธิปรายด้านการป้องกันระดับสูง นับเป็นครั้งที่ 2 ตั้งแต่โจ ไบเดน เข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ
อู๋ เฉียน โฆษกกระทรวงกลาโหมของจีน กล่าวว่า จีนยินดีพูดคุยกับสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ต้องแก้ไขปัญหา ที่เกิดจาก “การยั่วยุและปราบปรามจีนอย่างต่อเนื่อง”
“แม้จะเผชิญปัญหาความสัมพันธ์ทางทหาร และความท้าทายนานาประการ แต่กองทัพของทั้งสองประเทศยังคงสื่อสารกันตลอด” อู๋ กล่าว
พร้อมระบุว่า “สหรัฐฯ มีปัญหาร้ายแรงเกี่ยวกับการยึดติดในทัศนคติตนเอง, มุมมองที่มีต่อจีน และความเข้าใจในโลกปัจจุบัน ซึ่งเป็นต้นเหตุของความยากลำบากในความสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ”
“จีนหวังว่าสหรัฐฯ จะกล้าที่จะแก้ไขข้อผิดพลาด และทำงานร่วมกัน เพื่อแก้ปัญหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์จีน-สหรัฐฯ อย่างเหมาะสม”
พันธมิตรจีน-สหรัฐฯ ยังได้ไปต่อ
กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ กล่าวว่า การประชุมดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามของรัฐบาลไบเดน เพื่อการแข่งขันระหว่างประเทศอย่างมีความรับผิดชอบ และรักษาช่องทางการสื่อสารที่เปิดกว้างกับจีน
“ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันอย่างตรงไปตรงมา เจาะลึก และเปิดเผยในประเด็นที่ส่งผลต่อความสัมพันธ์ด้านกลาโหมระหว่างสหรัฐฯ และจีน” กระทรวงฯ กล่าว “อีกทั้งยังเห็นตรงกันว่า ให้รักษาช่องทางการสื่อสารระหว่างกองทัพไว้”
ทั้งนี้ การหารือเกิดขึ้น 2 สัปดาห์หลังสหรัฐฯ ประกาศความร่วมมือทางทหารครั้งใหม่ กับสหราชอาณาจักรและออสเตรเลีย ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งรัฐบาลจีนเตือนว่า จะเพิ่มความเสี่ยงในการแข่งขันด้านอาวุธ และก่อให้เกิดสงครามเย็นครั้งใหม่
ประเด็นโลกจะผสานรอยร้าวหรือไม่?
การเจรจาก่อนหน้านี้ ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ได้พูดคุยในประเด็นสำคัญ อาทิ ความวุ่นวายในอัฟกานิสถาน โดยสหรัฐฯ ระบุว่าการเจรจาดังกล่าว มุ่งเน้นไปที่ "การป้องกัน รวมถึงการจัดการวิกฤตและความเสี่ยง", เชสยังยืนยันในคำมั่นของสหรัฐฯ ที่มีต่อพันธมิตรในอินโด-แปซิฟิกด้วย
แหล่งข่าวชาวจีนกล่าวเมื่อเดือนสิงหาคมว่า จีนยังคงรักษาช่องทางการสื่อสาร ทางทหารระดับกลางกับสหรัฐฯ ผ่านทางทูตกลาโหมที่สถานทูตสหรัฐฯ ในกรุงปักกิ่ง โดยวิกฤตในอัฟกานิสถานเป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่สุด ในการจัดการความเสี่ยงที่ต้องหารือกัน
ขณะที่กองกำลังเฉพาะกิจของเพนตากอน สร้างขึ้นเพื่อประเมินกลยุทธ์และปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐฯ ที่มีต่อจีน แต่ก็ยังมีความไม่แน่นอน เกี่ยวกับแนวทางนโยบายของรัฐบาล ที่มีต่อสิ่งที่ไบเดนเรียกว่า "คู่แข่งที่ร้ายแรงที่สุด" ของสหรัฐฯ
เจรจาซึ่งหน้ายังล้มเหลว
ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ยังไม่ได้พูดคุยกับรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหมของจีน โดยมีรายงานเกี่ยวกับการถกเถียงในประเด็นที่ว่า เจ้าหน้าที่คนใดเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของจีนกันแน่
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม ออสตินเดินทางไปยังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เน้นย้ำถึงความจำเป็นที่สหรัฐฯ จะตอบโต้การอ้างสิทธิ์ของจีนในทะเลจีนใต้ และกระชับสัมพันธ์กับพันธมิตร เช่น ฟิลิปปินส์
จีนตอบโต้ด้วยการกล่าวว่า สหรัฐฯ กำลัง "แสวงหาผลประโยชน์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เห็นแก่ตัว" เพื่อ "สร้างปัญหาให้จีนทุกวิถีทาง"
รัฐบาลใหม่ต้องเดินเกมใหม่
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ความสัมพันธ์ระหว่างมหาอำนาจยังคงตึงเครียด รวมถึงประเด็นไต้หวันและทะเลจีนใต้ แต่สหรัฐฯ ยังหยิบยื่นความปรารถนาดี รวมทั้งการเยือนจีนสองครั้งโดยจอห์น เคอร์รี ทูตพิเศษด้านสภาพอากาศของสหรัฐฯ
ถัง เสี่ยงหยาง ศาสตราจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ กล่าวว่า ไบเดนกำลังมองหาช่องทางทำงานร่วมกับจีน เพื่อหลีกเลี่ยงเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด ซึ่งแตกต่างจากรัฐบาลภายใต้อดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์อย่างชัดเจน
ถัง ระบุว่า แม้จะไม่มีการเปิดเผยรายละเอียดของการพูดคุย แต่ข้อตกลงออคัส จะเป็นประเด็นสำคัญในการหารือ
“นโยบายต่อจีนรัฐบาลของไบเดน กำลังดำเนินไปอย่างช้า ๆ ” ถังกล่าว
และเสริมว่า “ท่าทีแข่งขันของกองทัพสหรัฐฯ ที่มีต่อจีนยังไม่ผ่อนคลาย ดังนั้นการเจรจาจึงเป็นอีกก้าวหนึ่งในการสร้างกลไกการสื่อสาร”