รีเซต

"แผ่นดินไหวเมียนมา" เปิดสาเหตุธรณีพิโรธครั้งล่าสุดเกิดจากอะไร?

"แผ่นดินไหวเมียนมา" เปิดสาเหตุธรณีพิโรธครั้งล่าสุดเกิดจากอะไร?
TNN ช่อง16
19 มิถุนายน 2566 ( 13:41 )
144
"แผ่นดินไหวเมียนมา" เปิดสาเหตุธรณีพิโรธครั้งล่าสุดเกิดจากอะไร?

กรมทรัพยากรธรณีเปิดสาเหตุ "แผ่นดินไหวเมียนมา"ครั้งล่าสุดเกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกาย พร้อมเปิดสถิติ "แผ่นดินไหว" อ่าวเบงกอลในรอบ 5 ปี


กรมทรัพยากรธรณี แถลงสถานการณ์แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0 บริเวณอ่าวเบงกอล ประเทศเมียนมา (Myanmar) ประชาชนรับรู้แรงสั่นไหวได้หลายพื้นที่ในกรุงเทพมหานครและใกล้เคียง

วันจันทร์ที่ 19 มิถุนายน พ.ศ. 2566 กรมทรัพยากรธรณี รายงานสถานการณ์เหตุการณ์แผ่นดินไหวในทะเลขนาด 6.0  (15.266°N , 96.248°E ) เมื่อเวลา 08.40 น. ที่ระดับความลึก 10 กิโลเมตร บริเวณอ่าวเบงกอล นอกชายฝั่งทางตอนใต้ของประเทศเมียนมา ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอำเภอพบพระ จังหวัดตาก ประมาณ 289 กิโลเมตร 

ห่างจากกรุงเทพมหานคร ประมาณ 490 กิโลเมตร และมีแผ่นดินไหวตาม (Aftershock) จำนวน 1 ครั้ง ขนาด 3.6 เวลา 08.57 น.

นายสุวิทย์ โคสุวรรณ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านที่ปรึกษาทางการบริหารจัดการทรัพยากรธรณี กรมทรัพยากรธรณี เปิดเผยว่า สถานการณ์แผ่นดินไหวครั้งนี้ มีสาเหตุเกิดจากการเคลื่อนตัวของแนวรอยเลื่อนสะกายในประเทศเมียนมา ตามแนวระนาบแบบเหลื่อมขวา ซึ่งมีอัตราการเคลื่อนตัวประมาณ 2 เซนติเมตรต่อปี


ผลกระทบรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว


ผลกระทบ ประชาชนสามารถรับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากแผ่นดินไหว ดังนี้

1) กรุงเทพมหานคร 22 เขต (พื้นที่เขตดุสิต จตุจักร บางเขน สีลม ลาดพร้าว บางพลัด ราชเทวี ทุ่งครุ ปทุมวัน ห้วยขวาง หลักสี่ ดินแดง พญาไท คลองเตย ราษฎร์บูรณะ บางขุนเทียน หนองแขม คลองสาน สาทร บางรัก สวนหลวง คันนายาว) 

2) จังหวัดนนทบุรี อำเภอปากเกร็ด อำเภอเมือง

3) จังหวัดปทุมธานี เทศบาลนครรังสิต

เนื่องจากกรุงเทพมหานคร รองรับด้วยชั้นดินเหนียวอ่อน เมื่อมีแหล่งกำเนิดแผ่นดินไหวจากระยะไกล จะสามารถขยายคลื่นแผ่นดินไหวได้มากถึง 3 เท่า ส่งผลให้ประชาชนบนอาคารสูงในเขตกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และจังหวัดปทุมธานี รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนในครั้งนี้ได้ เบื้องต้นยังไม่มีรายงานความเสียหาย


สถิติการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณราบอ่าวเบงกอล


ทั้งนี้ จากสถิติการเกิดแผ่นดินไหวบริเวณราบอ่าวเบงกอลในรอบ 5 ปีย้อนหลัง ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2561 – 2566 เกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 3.1 – 5.4 รวมจำนวนทั้งสิ้น 28 ครั้ง โดยมีขนาดมากกว่า 5.0 จำนวน 3 ครั้ง



ข้อมูลจาก กรมทรัพยากรธรณี

ภาพจาก AFP (แฟ้มภาพ)

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง