รีเซต

เปรียบเทียบ 26 อาการป่วยโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ระลอกปลายปีนี้ไทยต้องระวัง

เปรียบเทียบ 26 อาการป่วยโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ระลอกปลายปีนี้ไทยต้องระวัง
TNN ช่อง16
14 พฤศจิกายน 2565 ( 10:50 )
51
เปรียบเทียบ 26 อาการป่วยโควิดสายพันธุ์ต่างๆ ระลอกปลายปีนี้ไทยต้องระวัง

เปิดข้อมูลโควิด-19 เปรียบเทียบอาการป่วย 26 อาการ ระหว่างสายพันธุ์ต่างๆ ระลอกปลายปีนี้ ไทยต้องระวัง

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ระบุว่า 14 พฤศจิกายน 2565... เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 204,102 คน ตายเพิ่ม 343 คน รวมแล้วติดไป 640,312,572 คน เสียชีวิตรวม 6,615,340 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญึ่ปุ่น เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ไต้หวัน และฮ่องกง

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 94.98 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 90.96

...เปรียบเทียบอาการระหว่างสายพันธุ์ไวรัสโควิด-19

Whitaker M และคณะ จากสหราชอาณาจักร เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสาร Nature Communications เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่ผ่านมา

ทำการศึกษาในกลุ่มประชากร 1,542,510 คน ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ตลอดช่วงการระบาดที่ผ่านมาตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิม อัลฟ่า เดลต้า และ Omicron BA.1 และ BA.2

เปรียบเทียบลักษณะอาการป่วย 26 อาการ ระหว่างสายพันธุ์ต่างๆ 

ชี้ให้เห็นว่าการติดเชื้อ Omicron มีโอกาสที่จะเกิดอาการป่วยมากกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า

ทั้งนี้ อาการที่พบในสายพันธุ์ Omicron นั้น นอกจากที่เหมือนกับสายพันธุ์อื่นคือ ไข้ ไอ และปวดกล้ามเนื้อแล้ว อาการที่แตกต่างจากสายพันธุ์อื่นคือ การเจ็บคอ เสียงแหบ ปวดหัว คัดจมูก น้ำมูกไหล จาม

ในขณะที่ความผิดปกติของการรับรสและการดมกลิ่นนั้น ก็ยังเกิดขึ้นได้ แต่พบน้อยลงกว่าสายพันธุ์ก่อนหน้า

...ข้อมูลข้างต้นจึงสะท้อนให้เราทราบธรรมชาติของโรคที่ประสบกันอยู่ และควรตระหนักถึงอาการข้างต้น หากใครป่วย มีอาการดังกล่าว ต้องนึกถึงโควิด-19 ด้วยเสมอ แยกตัวจากผู้อื่น และตรวจ ATK ด้วย เพื่อจะได้เข้าสู่ระบบการดูแลรักษาได้ถูกต้อง ทันเวลา

...ระลอกปลายปีนี้ ไทยเราคงต้องระวัง เพราะปัจจัยพื้นฐานไม่เหมือนยุโรปและสิงคโปร์

ระลอกที่กำลังเผชิญนั้นช้ากว่าเขา 6-8 สัปดาห์ และตกอยู่ในช่วงที่คนจำนวนมากได้รับเข็มสุดท้ายมานานกว่า 6 เดือน

ความรู้จากงานวิจัยหลายชิ้นก่อนหน้านี้ ที่เคยชี้ให้เห็นว่า ประสิทธิภาพวัคซีนในการลดความรุนแรงอาจคงอยู่ถึงประมาณ 7 เดือนแล้วจะถดถอยลงมาก

ประกอบกับเป็นช่วงเทศกาลไตรมาสปลายปี ที่เกิดกิจกรรมเสี่ยง แออัด และท่องเที่ยวกันมาก

จึงต้องช่วยกันป้องกันตัวสม่ำเสมอ ไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด 

ลดละเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง สถานที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี

โรงพยาบาลควรตรวจคัดกรองผู้ป่วยในก่อนรับเข้ารักษา เพื่อปกป้องผู้ป่วยทุกคนและบุคลากรทางการแพทย์ เรื่องนี้ควรถือเป็นสิทธิของทุกคนที่จะได้รับการดูแลคุ้มครองสวัสดิภาพและความปลอดภัย

คนติดเชื้อ ไม่สบาย ควรแยกตัวจากคนอื่น 7-10 วันจนดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK ได้ผลลบ 

สำคัญที่สุดคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างใช้ชีวิตประจำวันนอกบ้าน

อ้างอิง

Whitaker M et al. Variant-specific symptoms of COVID-19 in a study of 1,542,510 adults in England. Nature Communications. 11 November 2022.



ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก TNN ONLINE / รอยเตอร์

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง