ครม.อนุมัติร่างแก้ไขกฎหมายเพิ่มอำนาจ ก.ล.ต.ร่วมเป็นพนักงานสอบสวน ยับยั้งความเสียหายของนักลงทุน

ครม.อนุมัติร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ให้ กลต. ร่วมเป็นพนักงานสอบสวน เพื่อยับยั้งความเสียหายของนักลงทุนได้อย่างรวดเร็ว
#ทันหุ้น นายคารม พลพรกลาง รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการของร่างพระราชกำหนดแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ซึ่งเป็นกรณีฉุกเฉินที่มีความจำเป็นรีบด่วนอันมิอาจจะหลีกเลี่ยงได้เพื่อประโยชน์ในอันที่จะรักษาความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศที่จะตราพระราชกำหนด ตามมาตรา 172 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ตามความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเป็นเรื่องด่วน
โดยให้รับความเห็นของสำนักงานศาลยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด และกรมสอบสวนคดีพิเศษในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการปรับปรุงรายละเอียดของร่างพระราชกำหนดฯ ไปประกอบการพิจารณาต่อไปด้วย แล้วดำเนินการต่อไปได้ และเห็นควรมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พิจารณากำหนดแนวทางการดำเนินงานและการเพิ่มประสิทธิภาพบุคลากรรวมทั้งแนวทางในการประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเข้าร่วมดำเนินงานด้านการสอบสวนคดีในกรณีที่มีเหตุจำเป็น เพื่อเตรียมความพร้อมในการดำเนินงานเมื่อพระราชกำหนดฯ มีผลบังคับใช้โดยเฉพาะในด้านการสอบสวนคดีต่อไป
นายคารม กล่าวว่า สาระสำคัญของเรื่อง เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ในประเด็น (1) การเพิ่มประสิทธิภาพการตรวจสอบและการกำกับดูแลการขายหลักทรัพย์โดยที่ยังไม่มีหลักทรัพย์อยู่ในครอบครอง (การขายชอร์ต) (2) การยกระดับการทำหน้าที่ของผู้ประกอบวิชาชีพในตลาดทุน เพิ่มความเข้มแข็งของบริษัทที่ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน(3) การกำหนดสิทธิของผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ให้ครอบคลุมถึงการดำเนินการแทนผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในกระบวนการฟื้นฟูกิจการและล้มละลาย
(4) การรายงานข้อมูลการก่อภาระผูกพันในหลักทรัพย์ต่อสำนักงาน ก.ล.ต. (5) การเพิ่มมาตรการทางกฎหมายเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบการกระทำความผิดและยับยั้งความเสียหายและการมอบหมายบุคคลอื่นจัดการทรัพย์สินที่ยึดอายัด (6) การสอบสวนคดีที่อาจมีผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความเชื่อมั่นในระบบตลาดทุนหรืออาจมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
และ (7) มาตรการการลงโทษกรณีมีการปฏิบัติฝ่าฝืนหรือไม่เป็นไปตามบทบัญญัติที่กำหนดไว้ ซึ่งมาตรการทางกฎหมายดังกล่าวข้างต้นจะเป็นเครื่องมือในการยับยั้งความเสียหายและบูรณาการการบังคับใช้กฎหมายระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายในการกระทำความผิดที่เป็นอาชญากรรมทางเศรษฐกิจสามารถบรรลุผลได้อย่างแท้จริง อันจะช่วยเสริมสร้างความเชื่อมันให้นักลงทุนในตลาดทุนและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจและตลาดทุนให้กลับมามีเสถียรภาพได้อย่างรวดเร็ว