รีเซต

เผยผลการศึกษาอาการลองโควิด กว่าครึ่งมีปัญหา “ความจำ”

เผยผลการศึกษาอาการลองโควิด กว่าครึ่งมีปัญหา “ความจำ”
TNN ช่อง16
2 มกราคม 2566 ( 08:42 )
75
เผยผลการศึกษาอาการลองโควิด กว่าครึ่งมีปัญหา “ความจำ”

วันนี้ ( 2 ม.ค. 65 )ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์โควิด ผ่านทางเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า   “ปัญหาด้านความจำในกลุ่มคนที่เคยติดเชื้อโควิด-19”

Miskowiak KW และคณะ จากประเทศเดนมาร์ก ได้เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารทางการแพทย์ Journal of Affective Disorders เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา

ทำการประเมินในผู้ป่วยที่มารับบริการที่คลินิก Long COVID จำนวน 194 คน ซึ่งเคยมีประวัติติดเชื้อโควิด-19 มาก่อนเฉลี่ย 7 ± 4 เดือน โดย 91 คนติดเชื้อแล้วต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล และ 103 คน ไม่ได้นอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

พบว่า มีถึง 44-53 % ที่มีปัญหาด้านความคิดความจำ (cognitive impairment) โดยมีการตรวจพบทั้งเรื่องความจำในระหว่างการทำงาน รวมถึงปัญหาในการจัดการและตัดสินใจ ความสามารถในการสื่อสารโดยการพูด

ทั้งกลุ่มที่ติดเชื้อแล้วนอนรักษาในโรงพยาบาล และกลุ่มที่ไม่ต้องนอนโรงพยาบาลนั้น ต่างก็ประสบปัญหาด้านความคิดความจำในลักษณะเดียวกัน และส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และสมรรถนะในการใช้ชีวิตและการทำงาน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาข้างต้นพบบ่อยขึ้นในกลุ่มสูงอายุ มีโรคประจำตัว หรือติดเชื้อจนต้องนอนรักษาตัวในโรงพยาบาล

สถานการณ์ของไทยเราในปัจจุบันนั้น จำเป็นต้องใช้ชีวิตอย่างมีสติ ไม่ประมาท ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ

การป้องกันตัวไม่ให้ติดเชื้อ หรือไม่ติดเชื้อซ้ำ ย่อมดีที่สุด

หลังเดินทางท่องเที่ยว พบปะสังสรรค์ ไปร่วมกิจกรรมรื่นเริงปีใหม่ที่ผ่านมา ควรประเมินความเสี่ยงของตนเอง สังเกตอาการผิดปกติ หากไม่สบาย ควรตรวจ ATK ด้วยตนเองทันที ถ้าเป็นบวก แปลว่าติดเชื้อ จำเป็นต้องแยกตัวจากคนอื่น 7-10 วัน จนกว่าอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจซ้ำได้ผลลบ

แต่หากไม่สบาย ตรวจได้ผลลบ อย่าเพิ่งวางใจ ให้ตรวจซ้ำอย่างน้อย 3 วันติดกัน เพราะอาจเป็นผลลบปลอมได้ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง ระหว่างใช้ชีวิตประจำวัน จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก


ข้อมูลจาก : เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat 

ภาพจาก  :  AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง