รีเซต

สธ.แนะโรงงานสุ่มตรวจโควิดใช้มาตรการซีลพื้นที่ ป้องปิดกิจการ-แรงงานกลับแพร่เชื้อต่อ

สธ.แนะโรงงานสุ่มตรวจโควิดใช้มาตรการซีลพื้นที่ ป้องปิดกิจการ-แรงงานกลับแพร่เชื้อต่อ
มติชน
18 สิงหาคม 2564 ( 14:49 )
20
สธ.แนะโรงงานสุ่มตรวจโควิดใช้มาตรการซีลพื้นที่ ป้องปิดกิจการ-แรงงานกลับแพร่เชื้อต่อ

 

เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค กล่าวถึงมาตรการตรวจหาเชื้อโควิด-19 แบบสุ่มในโรงงานหรือสถานประกอบ ด้วยชุดตรวจแอนติเจน เทสต์ คิท (ATK) ว่า หลักการควบคุมโรคของเราจะมีมาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล (Bubble and seal) เพื่อกำหนดขอบเขตคนที่สามารถทำงานร่วมกันได้ หรือต้องแยกส่วนไม่ให้สัมผัสกัน รวมถึงการเดินทางจากที่พักไปทำงานจะต้องไม่แวะจุดอื่น ลดการสัมผัสให้มากที่สุด โดยที่ผ่านมา เวลาพบการติดเชื้อในโรงงาน ก็จะสอบสวนโรคเพื่อหาคนที่มีความเสี่ยง ด้วยการสุ่มตรวจ หากพบติดเชื้อ ร้อยละ 10 ต้องใช้มาตรการบับเบิล แอนด์ ซีล เข้มข้น ต้องแยกผู้ป่วยที่มีอาการออก จัดพื้นที่คล้ายโรงพยาบาล (รพ.) สนามในโรงงาน เพื่อลดการสัมผัส เฝ้าระวังต่อเนื่อง 14 วัน

 

 

นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า หลักการสุ่มตรวจหาเชื้อในโรงงาน หากมีแรงงานน้อยกว่า 100 คน จะสุ่มตรวจ 50 คน เช่น 75 คน จะตรวจ 50 คน เช่นกัน หากมี 100-150 คน จะสุ่มตรวจ 75 คน แต่หากมากกว่า 1,000 คน จะสุ่ม 150 คน ในทุก 1,000 คน ทั้งนี้ การสุ่มตรวจจะเป็นการลดค่าใช้จ่าย ส่วนคนในโรงงานที่ไม่ได้ตรวจเชื้อ ก็ให้ใช้มาตรการเฝ้าระวัง 14 วัน ที่ไม่ได้ตรววจทุกคนเพราะแม้ว่าจะตรวจวันนี้แล้วไม่พบเชื้อ พรุ่งนี้ก็จะอาจจะติดเชื้อก็ได้ ทั้งนี้ หากทุกคนใช้มาตรการป้องกันตัวเอง สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง ล้างมือ หากมีเชื้อแฝงอยู่ก็ไม่แพร่ต่อให้คนอื่น

 

 

ทั้งนี้ นพ.เฉวตสรร กล่าวว่า การสุ่มตรวจหาเชื้อคนในโรงงาน สามารถปรึกษากับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ในพื้นที่ได้ เนื่องจากโรงงานขนาดเล็กอาจไม่มีควาพร้อมด้านสถานที่ ซึ่งส่วนนี้ต้องมีปรึกษากับสาธารณสุขในพื้นที่ เพื่อให้โรงงานยังสามารถทำงานต่อไปได้ด้วยความปลอดภัย กิจกรรมต่างๆ มีมาตรการที่เหมาะสม และเพื่อป้องกันการต้องปิดกิจการ เพราะเป็นสาเหตุที่ทำให้แรงงานเดินทางกลับบ้าน นำเชื้อไปแพร่ให้คนอื่น ฉะนั้น มาตรการเหล่านี้จะเป็นตัวช่วยได้อย่างดี ขณะนี้ กองโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กำลังปรึกษาผู้เชี่ยวชาญเพื่อสรุปแนวทางมาตรการเพื่อความชัดเจนและสื่อสารกับประชาชนอีกครั้ง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง