รีเซต

ห่วงมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบในหญิงไทยอันดับ 1 - พร้อมแนะ 4 ข้อป้องกันเกิดโรค

ห่วงมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบในหญิงไทยอันดับ 1 - พร้อมแนะ 4 ข้อป้องกันเกิดโรค
TNN ช่อง16
1 เมษายน 2565 ( 19:17 )
165
ห่วงมะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบในหญิงไทยอันดับ 1 - พร้อมแนะ 4 ข้อป้องกันเกิดโรค

วันนี้ ( 1 เม.ย. 65 )นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า โรคมะเร็งเต้านมพบมากเป็นอันดับ 1  ของมะเร็งในผู้หญิงไทย ซึ่งจากข้อมูลของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ได้ระบุว่า มีผู้ป่วยเฉลี่ยรายใหม่ 18,000 คนต่อปี  หรือ 49 คนต่อวัน มีผู้เสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมราว 4,800 คน หรือคิดเป็น 13 คนต่อวัน ซึ่งกลุ่มเสี่ยงมะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่จะพบในหญิงที่มีอายุมากขึ้น โดยเฉพาะอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ หรือมีประวัติเคยเป็นมะเร็งเต้านมมาก่อน หรือเคยมีก้อนบริเวณเต้านม ที่ผลการตรวจพบว่าผิดปกติ มีประจำเดือนครั้งแรก ก่อนอายุ 12 ปี หมดประจำเดือนหลังอายุ 55 ปี หรือเคยรับการฉายรังสีบริเวณทรวงอกก่อนอายุ 30 ปี และผู้หญิงที่สูบบุหรี่จัด    ดื่มสุรา ไม่ออกกำลังกาย โดยพบว่าผู้หญิงอายุ 15 – 49 ปี ที่น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น10 กิโลกรัม จะมีโอกาสเกิดมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นร้อยละ 18 ในขณะที่ผู้ชายก็มีสิทธิ์เป็นมะเร็งเต้านมได้ 1 ใน 100 ของผู้ป่วยเป็นมะเร็งเต้านม

 นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวต่อไปว่า การป้องกันที่ดีที่สุด คือ ผู้หญิงที่มีอายุ 20 ปีขึ้นไปทุกคน ควรตรวจเต้านม  เป็นประจำทุกเดือน ซึ่งจะทำให้รู้ถึงสภาพที่เป็นปกติของเต้านม หากเกิดความผิดปกติของเต้านมจะสามารถพบได้ ตั้งแต่เนิ่น ๆ โดยการตรวจเต้านมทำได้ 2 วิธี คือ

 วิธีที่ 1 ดูด้วยตา คลำด้วยมือ ซึ่งการคลำมี 3 แบบ จะเลือกใช้แบบใดก็ได้ แต่ต้องให้มั่นใจว่าครอบคลุมเนื้อเยื่อเต้านมทั้งหมด ทั้งขอบด้านล่างเสื้อชั้นใน บริเวณหัวนม บริเวณใต้รักแร้ และไหปลาร้า อย่ายกนิ้วขึ้นจากเต้านมขณะคลำ 

แบบที่ 1 การคลำในแนวขึ้นลง จากบริเวณกระดูกไหปลาร้าจนถึงด้านล่างของทรวงอก โดยคลำจากใต้รักแร้  หรือตำแหน่งใต้แขนจนถึงฐานของเต้านม แล้วขยับนิ้วทั้งสามคลำในแนวขึ้นลง และสลับกันไปเรื่อย ๆ ให้ทั่วทั้งเต้านม   

- แบบที่ 2 การคลำแบบแนวก้นหอย เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมบริเวณลานหัวนมไปตามแนวก้นหอย จนกระทั่งถึงฐานเต้านม ครอบคลุมถึงบริเวณรักแร้ และไหปลาร้า และ แบบที่ 3 การคลำแบบแนวรูปลิ่ม เริ่มคลำจากส่วนบนของเต้านมบริเวณลานหัวนมจนถึงฐานแล้วกลับขึ้นสู่ยอด อย่างนี้เรื่อย ๆ ให้ทั่วทั้งเต้านม ครอบคลุมถึงบริเวณรักแร้ และไหปลาร้า นอกจากนี้ ควรคลำเต้านมให้ได้ 3 ระดับ ดังนี้ กดเบา ให้รู้สึกถึงบริเวณใต้ผิวหนัง กดปานปลาง ให้รู้สึกถึงบริเวณกึ่งกลางเนื้อนม และกดหนัก  ให้รู้สึกถึงเนื้อนมใกล้กระดูกอก เมื่อคลำพบก้อนที่โตระยะขนาด 2 – 5 เซนติเมตร อัตราการรอดชีวิตมีถึงร้อยละ 75 – 90 แต่หากคลำพบก้อนขนาด 5 เซนติเมตรขึ้นไป อัตราการรอดมีเพียงร้อยละ 15 – 30 เท่านั้น

วิธีที่ 2 การตรวจด้วยเครื่องเอกซเรย์เต้านม (Mammogram) สามารถพบก้อนได้ตั้งแต่ขนาด 2 -3 มิลลิเมตรขึ้นไป ซึ่งจากข้อมูลของมูลนิธิถันยรักษ์ในพระราชูปถัมภ์ สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี พบว่า ระยะเริ่มต้น เป็นระยะที่มะเร็ง ยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อของเต้านม มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 100 ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อของเต้านม มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 100 

ขนาดไม่เกิน 2 เซนติเมตร มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 98 

ขนาดระหว่าง 2 -5 เซนติเมตร มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 88 

ขนาดใหญ่มากกว่า 5 เซนติเมตร มีอัตรารอดชีพ ร้อยละ 52 

ระยะแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น มีอัตรารอดชีพร้อยละ 16 

ดังนั้นประชาชนจึงควรหมั่นตรวจเช็คร่างกายตนเอง และพบแพทย์เพื่อตรวจคัดกรองมะเร็งอย่างสม่ำเสมอ และปฏิบัติตนดังต่อไปนี้

1.ออกกำลังกาย เป็นประจำ 

2.กินผักและผลไม้ให้มากขึ้น 

3.ลดอาหารที่มีไขมัน 

4.ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มีน้ำหนักเกิน จะช่วยป้องกันมะเร็งเต้านมได้    


ข้อมูลจาก : กรมอนามัย

ภาพจาก : AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง