รีเซต

UNกังวลสื่อถูกทำร้าย-จับกุมระหว่างทำข่าวประท้วงสหรัฐฯ

UNกังวลสื่อถูกทำร้าย-จับกุมระหว่างทำข่าวประท้วงสหรัฐฯ
TNN ช่อง16
4 มิถุนายน 2563 ( 12:25 )
217


วันนี้ (4มิ.ย.63) นางมิเชล บาเชเลต์ ข้าหลวงใหญ่สิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติชี้ว่า สหรัฐฯนั้นมีการเหยียดผิวเชิงโครงสร้าง และแสดงความกังวลว่า สื่อถูกทำร้ายและจับกุมขณะรายงานข่าวการประท้วงของสหรัฐฯมากอย่างไม่เคยมีมาก่อน

 

นางบาเชเลต์ระบุว่า สหรัฐฯจำเป็นต้องรับฟังเสียงของผู้ประท้วงและแก้ปัญหาให้ถูกจุดหากต้องการให้ประเทศเดินหน้าต่อ  ไม่ว่าจะเป็นความเป็นธรรมสำหรับนายจอร์จ ฟลอยด์และครอบครัว การยุติการใช้ความรุนแรงของตำรวจ และการยุติการเหยียดผิวในเชิงโครงสร้างในสังคมสหรัฐฯ และที่สำคัญสหรัฐฯจำเป็นต้องมีภาวะความเป็นผู้นำที่ชัดเจนและสร้างสรรค์ในการแก้วิกฤตนี้

 

เธออธิบายว่า ในช่วงวิกฤตแบบนี้ ประเทศจำเป็นต้องมีผู้นำที่ออกมาประณามการเหยียดผิวอย่างชัดเจนไม่คลางแคลงใจ และรับฟังเสียงเรียกร้องของประชาชน รวมถึงแก้ปัญหาความไม่เท่าเทียมกันอย่างจริงใจ

 

คำกล่าวของนางบาเชเลต์มีขึ้นขณะที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ปฏิเสธใช้แนวทางเหมือนประธานาธิบดีคนอื่นๆ ที่เมื่อเกิดวิกฤตลักษณะนี้จะแสดงบทบาทของผู้เยียวยาสังคม แต่เขากลับประกาศว่าจะสั่งให้กองทัพปราบปรามม็อบที่รุนแรง

 

คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ยังเผยด้วยว่า มีรายงานที่เชื่อถือได้ว่า เจ้าหน้าที่บังใช้กฎหมายนั้นใช้กำลังเกินอย่างไม่จำเป็นในช่วงการรับมือประท้วง

 

นอกจากนี้ ยังมีการใช้แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และสเปรย์พริกไทย โจมตีไปที่ผู้ประท้วงและผู้สื่อข่าว ที่ไม่ได้มีท่าทีคุกคาม

 

นางบาเชเลต์แสดงความกังวลว่า ขณะนี้มีสื่ออย่างน้อย 200 รายที่ถูกโจมตีหรือไม่ก็ถูกจับกุมระหว่างทำหน้าที่รายงานข่าว ทั้งที่ทุกคนมีเอกสารแสดงความเป็นสื่ออย่างชัดเจน จึงถือเป็นการทำร้ายสื่ออย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน และมีหลายกรณีที่เป็นดารทำร้ายหรือจับกุมขณะรายงานสดด้วย

 

เธอระบุว่า เป็นเรื่องที่น่าตกใจมากเพราะ เสรีภาพในการแสดงออกของสื่อเป็นหลักการพื้นฐานของสหรัฐฯ และเป็นอัตลักษณ์ของความเป็นชาติของสหรัฐฯด้วย

 

นอกจากนี้ เธอยังเรียกร้องให้ผู้ประท้วงงดเว้นการใช้ความรุนแรง เพราะมีเจ้าหน้าที่หลายคนต้องเสียชีวิตและบาดเจ็บจากการประท้วงครั้งนี้ไปแล้ว และอาคารทรัพย์สินเสียหายเป็นจำนวนมาก

 

ขณะที่เดอะ นิวยอร์กไทมส์ รายงานก่อนหน้านี้ว่า ผู้สื่อข่าวและช่างภาพ ที่ลงพื้นที่รายงานข่าวการประท้วงในสหรัฐฯ ระบุว่าการปฏิบัติจากเจ้าหน้าที่ตำรวจต่อพวกเขาในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นถึงความไม่ไว้วางใจสื่อของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์มักวิพากษ์วิจารณ์การทำงานของสื่อ ไม่ว่าจะเป็น fake news หรือข่าวปลอม และมักกล่าวโจมตีองค์กรสื่อหรือนักข่าวบางคนด้วยถ้อยคำเช่น “สื่อเป็นศัตรูของประชาชน”

 

ก่อนหน้านี้ มีกรณีที่ผู้สื่อข่าวผิวสีของซีเอ็นเอ็น ถูกตำรวจจับขณะยืนรายงานสดในเมืองมินนิอาโปลิส ทั้งๆที่มีบัตรแสดงตน และในวันเดียวกัน ยังมีผู้สื่อข่าวหญิงในเมืองหลุยส์วิลล์ รัฐเคนตั๊กกี้ ถูกตำรวจยิงสเปรย์พริกไทยใส่อย่างตั้งใจขณะที่เธอกำลังยืนรายงานสดเช่นกัน
 


ทั้งนี้ การจับกุมผู้สื่อข่าวระหว่างทำข่าวประท้วงหรือจลาจล อาจเกิดขึ้นได้ปกติในหลายประเทศ แต่สำหรับสหรัฐเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เกิดขึ้นเท่าไหร่นัก เพราะเสรีภาพสื่อนั้นถูกรองรับไว้ในบทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 หรือ First Amendment

 

การจับกุมผู้สื่อข่าวซีเอ็นเอ็นคารายการสดนำไปสู่การวิจารณ์การทำงานของตรวจที่ละเมิดรัฐธรรมนูญ จนทำให้ผู้ว่าการรัฐมินนิโซตาต้องออกมากล่าวขอโทษ และมีรายงานว่าแท้จริงแล้ว ยังมีผู้สื่อข่าวอีกหลายสิบคนที่เผชิญสถานการณ์คล้ายๆกัน ทั้งๆที่ยืนยันตัวตนกับเจ้าหน้าที่แล้วว่าพวกเขากำลังปฏิบัติหน้าที่สื่ออยู่

 

เอลเลน เชียเรอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสื่อสารมวลชนจากมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น ระบุว่า การที่ประธานาธิบดีของประเทศมักเรียกสื่อว่าเป็น “ศัตรูของประชาชน” นั้นมีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์เหล่านี้

 

ด้าน เบลลิงแคท์ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ติดตามเสรีภาพสื่อของสหรัฐฯ รายงานว่า มีเหตุการณ์คุกคามหรือทำร้ายผู้สื่อข่าวและทีมงานกว่า 100 เหตุการณ์เกิดขึ้นระหว่างการรายงานข่าวประท้วง ซึ่งพบว่า จำนวนมาก ไม่ได้ถูกทำร้ายโดยผู้ประท้วง แต่กลับเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ

 

ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ขณะนี้กำลังเกิดวัฒนธรรมการโจมตีสื่อโดยไม่ต้องรับผิด ซึ่งถือเป็นการละทิ้งเรื่องเสรีภาพสื่อ ซึ่งเป็นค่านิยมสำคัญของอเมริกา เพราะนอกจากผู้สื่อข่าวได้รับการปฏิตนไม่เหมาะสมจากตำรวจแล้ว ยังตกเป็นเป้าของผู้ประท้วงในบางครั้งด้วย เช่น ผู้ประท้วงขว้างปาสิ่งของใส่ผู้สื่อข่าวของฟอกซ์นิวส์ที่รายงานอยู่ใกล้ทำเนียบขาว ในขณะที่เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีกลุ่มผู้ประท้วงบุกไปสร้างความเสียหายให้กับสำนักงานใหญ่ของซีเอ็นเอ็นที่เมืองแอตแลนตา

 

ขณะที่ซาราห์ แมททิว จากคณะกรรรมการสื่อเพื่อเสรีภาพสื่อ ระบุว่า แม้บทบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฉบับที่ 1 ไม่ได้ยกเว้นสื่อจาก "กฎการควบคุมฝูงชน" แต่ก็ย้ำว่า ต้องมีการปกป้องเสรีภาพสื่อขณะรายงานข่าวประท้วง เพราะสื่อคือผู้แทนของประชาชน หากผู้บังคับใช้กฎหมายโจมตีสื่อ จนพวกเขาไม่สามารถทำงานต่อไปได้ ก็เท่ากับว่าเป็นการทำร้ายประชาชนด้วยนั่นเอง

 

เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง