รีเซต

พญาอินทรีฟุ้งจรวดไฮเปอร์โซนิก หัวรบโมเมนตัมแรง-เร็วทุบสถิติ

พญาอินทรีฟุ้งจรวดไฮเปอร์โซนิก หัวรบโมเมนตัมแรง-เร็วทุบสถิติ
ข่าวสด
17 ธันวาคม 2563 ( 15:15 )
470
พญาอินทรีฟุ้งจรวดไฮเปอร์โซนิก หัวรบโมเมนตัมแรง-เร็วทุบสถิติ

พญาอินทรีฟุ้งจรวดไฮเปอร์โซนิก - วันที่ 17 ธ.ค. ไฟลท์โกลบอลรายงานว่า กองทัพอากาศสหรัฐอเมริกาประสบความสำเร็จในการทดสอบระบบขับเคลื่อนด้วยไอพ่นแบบใหม่ จำนวน 2 รุ่น ที่มีความเร็วทำลายสถิติโลก ซึ่งจะนำไปใช้ขับเคลื่อนหัวรบความเร็วเหนือเสียงยิ่งยวด

 

ความสำเร็จนี้เป็นผลงานของห้องปฏิบัติการคิดค้นพัฒนากองทัพอากาศสหรัฐฯ หรือเอเอฟอาร์แอล และบริษัท แอโรเจ็ต ร็อกเก็ตไดน์ ตั้งแต่เดือนพ.ย. และเพิ่งทดสอบสำเร็จไปที่หน่วยทดสอบเทคโนโลยีขับเคลื่อน ฐานทัพอากาศอาร์โนลด์ รัฐเทนเนสซี เมื่อ 15 ธ.ค.

 

AGM-183A Air-launched Rapid Response Weapon (ARRW) on B-52

 

ความสำเร็จในการทดสอบดังกล่าวยังเกิดขึ้นพร้อมกันกับการทดสอบเทคโนโลยีขับเคลื่อนหัวรบแบบใหม่ที่ฐานทัพอากาศฮอลโลแมน รัฐนิว เม็กซิโก เมื่อเดือนพ.ย. ซึ่งจะถูกนำไปใช้ขับเคลื่อนระบบขีปนาวุธแบบอากาศสู่พื้นชนิดใหม่ เรียกว่า AGM-183A Air-launched Rapid Response Weapon (ARRW) หรือแอร์โรว

ระบบขีปนาวุธแอร์โรว ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบตลอดเดือนธ.ค.นี้ เป็นขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงยิ่งยวด หรือไฮเปอร์โซนิก ที่ใช้ไอพ่นขับเคลื่อนขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศระดับสูงจากนั้นจึงร่อนลงมาด้วยแรงโน้มถ่วงของโลกเพื่อพุ่งสู่เป้าหมาย พัฒนาโดยบริษัท ล็อกฮีด มาร์ติน มีกำหนดเริ่มผลิตปี 2564 พัฒนาต่อจากระบบอาวุธเหนือเสียง (ซูเปอร์ โซนิก)

ระบบดังกล่าวมีความง่ายต่อการผลิตมากกว่าระบบอาวุธเหนือเสียงอื่นที่ต้องใช้เครื่องยนต์สันดาปที่ต้องมีช่องให้อากาศเข้าไปผสมกับเชื้อเพลิงเพื่อสร้างแรงขับ ซึ่งเป็นเครื่องยนต์ชนิดแรกและกำลังได้รับการพัฒนาจากแอโรเจ็ต ร็อกเก็ตไดน์ เรียกว่า เครื่องสแครมเจ็ต

 

 

หลักการของเครื่องสแครมเจ็ตในขีปนาวุธเหนือเสียงยิ่งยวดนั้นจะต้องทำให้หัวรบมีความเร็วมากกว่า 5 เท่าของเสียง หรือ 5 มัค (เรียกว่าไฮเปอร์โซนิก) จากนั้นจึงเริ่มใช้เครื่องยนต์พิเศษเพื่อให้จรวดร่อนไปได้ถึงเป้าหมาย หรือครุยซิ่ง ซึ่งถือเป็นความท้าทายทางด้านวิศวกรรมอย่างยิ่ง จนถูกนักวิทยาศาสตร์ เปรียบเทียบว่า เหมือนกับการพยายามจุดไม้ขีดไฟในพายุเฮอร์ริเคน

ข้อดีของระบบอาวุธไฮเปอร์โซนิก คือ ข้าศึกจะสามารถเห็นขีปนาวุธพุ่งมาได้ด้วยตาเปล่าก็ต่อเมื่อปรากฎที่เส้นขอบฟ้า และด้วยความเร็วของขีปนาวุธชนิดนี้ ก็ถือว่าสายเกินไปที่จะยิงทำลายขีปนาวุธลูกนี้แล้ว

นายพอล เคเนดี้ ผู้จัดการโครงการพัฒนาของเอเอฟอาร์แอล กล่าวว่า เครื่องยนต์รุ่น เอ็กซ์-51 เวฟไรเดอร์ ของแอโรเจ็ต ร็อกเก็ตไดน์ สามารถให้แรงขับได้สูงสุดถึงเกือบ 5,900 กิโลกรัม (13,000 ปอนด์) หรือราว 57.85 กิโลนิวตัน ถือเป็นสถิติสูงสุดของเครื่องยนต์สแครมเจ็ต

 

หัวรบความเร็วสูง

 

รายงานระบุว่า นอกไปจากระบบขับเคลื่อนแล้ว ทางกองทัพอากาศสหรัฐ ยังอยู่ระหว่างพัฒนาหัวรบชนิดใหม่ โดยไม่เหมือนกับทางกองทัพรัสเซีย และจีน ที่ใช้หัวรบนิวเคลียร์ติดกับเครื่องยนต์ไฮเปอร์โซนิก แต่ทางกองทัพสหรัฐฯ จะใช้หัวรบระเบิดทั่วไปแทน

 

 

การออกแบบดังกล่าวส่งผลให้เกิดความท้าทายด้านการออกแบบ เนื่องจากจรวดมีความเร็วสูงมาก การจุดชนวนหัวรบจึงต้องมีความแม่นยำ และด้วยรัศมีทำลายล้างต่ำกว่าหัวรบนิวเคลียร์ ระบบนำวิถีจำเป็นต้องมีความแม่นยำสูงมากอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม เอเอฟอาร์แอล ระบุว่า ข้อดีของการใช้หัวรบปกติคือมีน้ำหนักเบา ขนาดเล็ก แต่มีประสิทธิภาพทำลายเป้าหมายได้เหมือนหัวรบนิวเคลียร์ (คือต้องยิงให้โดน)

นอกจากนี้ กองทัพสหรัฐฯ ยังอยู่ระหว่างพัฒนาแนวคิด "หัวรบกระแทก" ซึ่งอาศัยหลักการของโมเมนตัม (มวลxความเร็ว) มาใช้โดยเพียงให้หัวรบพุ่งกระแทกเป้าหมายด้วยแรงโมเมนตัมมหาศาล ซึ่งหัวรบชนิดนี้จำเป็นต้องมีระบบนำวิถีที่แม่นยำสูงเช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง