รีเซต

ปิ๊งไอเดีย 'ทุเรียนขายยกเข่ง' คนแห่อุดหนุน แม่ค้าเผยหวังช่วยผู้สูงอายุกลุ่มจักสานมีรายได้

ปิ๊งไอเดีย 'ทุเรียนขายยกเข่ง' คนแห่อุดหนุน แม่ค้าเผยหวังช่วยผู้สูงอายุกลุ่มจักสานมีรายได้
มติชน
16 พฤษภาคม 2564 ( 08:08 )
298
ปิ๊งไอเดีย 'ทุเรียนขายยกเข่ง' คนแห่อุดหนุน แม่ค้าเผยหวังช่วยผู้สูงอายุกลุ่มจักสานมีรายได้

 

ข่าววันที่ 16 พฤษภาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เนื่องจากในช่วงนี้กระแสทุเรียนมาแรง ซึ่งถือว่าเป็นผลไม้ยอดฮิต ที่หลายคนชอบรับประทานกัน ราคาถูกบ้าง แพงบ้าง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์และสถานที่ขาย

 

 

โดยช่วงสถานการณ์โควิด 19 ระบาดหนักขณะนี้ ทำให้สถานประกอบการ ร้านค้าหลายแห่งปิดชั่วคราว บริษัท ห้างร้านบางแห่งสั่งหยุดงานลูกจ้างไปก่อน เพื่อรอให้สถานการณ์คลี่คลายไปในทางที่ดีแล้วค่อยกลับมาทำใหม่ ทำให้หลายคนมองหาอาชีพที่จะช่วยทำให้มีรายได้เลี้ยงตัวเองและครอบครัวไปก่อน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนที่ต้องหยุดงาน ทั้งมองหาอาชีพเสริมแบบง่าย ๆ ใช้ทุนต่อทุนหาเงินเข้ากระเป๋าได้

 

 

อย่างที่ร้านขายทุเรียนตั้งอยู่ริมถนนสายราชบุรี – ผาปก ข้าง ๆ สถานีตำรวจภูธร สภ.สวนผึ้ง ก่อนถึงหน้าที่ว่าการอำเภอสวนผึ้ง อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี เล็กน้อยในฝั่งเดียวกับ มีร้านขายทุเรียนสายพันธุ์หมอนทอง ใส่เข่งใบเล็ก ๆ วางขายอยู่บนโต๊ะ มีลูกค้าสนใจเข้ามาเลือกซื้อกันคึกคักตลอดทั้งวัน

 

 

ที่สำคัญร้านนี้มาแปลกกว่าใครตรงที่ว่า มีแม่ค้าส่งเสียงหวานแจ้ว ๆ บอกขายทุเรียนยกเข่ง สนใจมาซื้อได้ ทุเรียนหมอนทองจาก จ.จันทบุรี เนื้อดี หวาน เม็ดลีบ ราคาเพียงกิโลกรัมละ 130 บาท ถูกกว่าหลายแห่งที่ แถมได้เข่งกลับบ้านไปด้วย โดยมีประชาชนหลายคนสนใจ ให้ผ่าดูเนื้อข้างในดูแล้วมีคุณภาพดี ราคาไม่แพง และเข่งที่ใส่ยังเอากลับไปใช้ประโยชน์ เช่น ปลูกต้นไม้ ใส่ผลไม้ ใส่หอม กระเทียมในครัวได้สารพัดประโยชน์

 

 

 

 

ส่วนสาเหตุที่ต้องขายทุเรียนยกเข่งนั้น นางสาวพิมชนก ห้วยหงส์ทอง แม่ค้าขายทุเรียน ได้ระบุเก๋ๆ ว่า “เข่งกินได้ ” ด้วยความแปลกคำว่าเข่งกินได้นั้น หมายถึงนำเข่งใบเล็ก ๆ มาใส่ลูกทุเรียน ความหมายเหมือนกับว่า กินทุเรียนที่อยู่ในเข่งได้

 

 

นางสาวพิมชนก แม่ค้า กล่าวว่า เข่งที่ใส่ทุเรียนนี้ เป็นฝีมือของผู้สูงอายุในชุมชน อ.สวนผึ้ง เพราะช่วงนี้อยู่ในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เข่ง ตระกร้า ของกลุ่มจักสานผู้สูงอายุในชุมชน ขายไม่ได้เลย ทำให้ต้องขาดรายได้อยู่กับบ้าน จึงมีแนวคิดนำเข่งมาใส่ทุเรียนขาย ซึ่งเป็นร้านของนายนาวิน รักษ์สวน เป็นน้องชาย มีอาชีพเป็นพนักงานบริษัทแห่งหนึ่งที่อยากหารายได้ช่วยบริษัทปิดมาเป็นพ่อค้าขายทุเรียนชั่วคราว จึงได้นำเข่งมาตั้งรวมไว้ มองดูก็น่ารักดี

 

 

 

 

 

โดยนางสาวพิมชนก กล่าวว่า มีลูกค้ามาสอบถามว่าเป็นเข่งอะไรเห็นเอามาใส่ทุเรียนไว้ จึงอธิบายว่าเป็นเข่งของชาวบ้านผู้สูงอายุในชุมชน เราคิดค่าเข่งราคา 40 บาท กับค่าทุเรียนที่ใส่ในเข่งแต่ละลูกจะชั่งน้ำหนักไม่เท่ากัน เช่น ทั้งเข่งและทุเรียน 1 ใบ 300 บาท เพราะทุเรียนลูกใหญ่สามารถซื้อยกเข่งไปได้เลย บางลูกยกเข่งเพียง 180 บาท ขายเป็นเข่ง ไม่ได้ขายเป็นลูก เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้สูงอายุกลุ่มจักสานเข่งอยู่กับบ้านให้มีรายได้ด้วย ทำให้ลูกค้าสนใจชอบเพราะดูแปลกดี

แม่ค้าทุเรียนเผยอีกว่า เข่งดังกล่าวเป็นงานฝีมือของผู้สูงอายุ ที่ก้นเข่งจะมีขาตั้งใช้ผิวไม้รวกสานสวยงาม ซึ่งเคยนำไปขายตามแหล่งท่องเที่ยวก่อนโควิดระบาดใบละ 70-80 บาท แต่ช่วงนี้ได้ขายเป็นราคาส่งที่ถูกเป็นราคาต้นทุน ถือเป็นการช่วยผู้สูงอายุให้มีรายได้ มีกำลังใจสานเข่งอยู่กับบ้านในชุมชนอีกทางหนึ่ง สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง เข่งลักษณะโปร่ง มีรูด้านล่าง อากาศถ่ายเทดี ทั้งใส่หอม กระเทียม ของใช้ ผลไม้ ปลูกต้นไม้เล็ก ๆได้ช่วยระบายอากาศดี

หลังจากที่แม่ค้า ได้ลงรูปขายทุเรียนยกเข่งกินได้ไปไม่นาน ก็มีประชาชน เกิดความสนใจ เดินทางไปเลือกซื้อทุเรียนกันอย่างไม่ขาดสาย ด้วยราคาที่ไม่แพง บางคนเลือกซื้อกลับคนละเข่าสองเข่ง เพื่อนำเข่งกลับไปใช้ประโยชน์ที่บ้านอีกด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง