รีเซต

บรรณารักษ์ชาวอินโด ผุดไอเดีย "นำขยะมาแลกหนังสือ" ส่งเสริมการอ่าน ลดขยะชุมชน

บรรณารักษ์ชาวอินโด ผุดไอเดีย "นำขยะมาแลกหนังสือ" ส่งเสริมการอ่าน ลดขยะชุมชน
TNN World
11 พฤศจิกายน 2564 ( 13:53 )
60
บรรณารักษ์ชาวอินโด ผุดไอเดีย "นำขยะมาแลกหนังสือ" ส่งเสริมการอ่าน ลดขยะชุมชน

Indonesia: บรรณารักษ์คนหนึ่งที่อินโดนีเซีย จัดตั้งระบบนำหนังสือออกไปให้ชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกลบนเกาะชวายืมอ่าน โดยการนำขยะมาแลก เพื่อส่งเสริมการอ่านในเด็กและลดปริมาณขยะในชุมชน

 

ตลอด 5 ปีที่ผ่านมา บรรณารักษ์ ‘ราเดน โรโร เฮนดาร์ติ’ จะขี่รถสามล้อซึ่งบรรทุกกองหนังสือไว้ด้านหลังไปหาเด็ก ๆ ในหมู่บ้านมันตัง บนเกาะชวา เพื่อให้เด็กนำขยะถ้วยพลาสติก, กระเป๋า และขยะอื่น ๆ มาแลกกับหนังสือ ซึ่งเธอก็รับขยะเหล่านั้นกลับมาด้วย

 

เด็ก ๆ และชาวบ้านทั่วไปในชุมชน สามารถเข้าถึงคอลเลกชันหนังสือประมาณ 6,000 เล่ม ด้วยขวดพลาสติกหรือซองขนมเพียงแค่ซองเดียว และสามารถยืมหนังสือได้มากเท่าที่ต้องการ โดยเด็กและชาวบ้านมักจะยืมหนังสือกันนานถึง 1 สัปดาห์

 

เฮนดาร์ติ บอกว่า สามารถรวบรวมขยะได้มากถึงสัปดาห์ละ 100 กิโลกรัม จากนั้นเจ้าหน้าที่ห้องสมุดจะคัดแยกขยะ และส่งไปรีไซเคิลหรือนำไปขาย เพื่อนำเงินที่ได้มาซื้อหนังสือเพิ่มเติมให้ห้องสมุดเคลื่อนที่

 

เธอ กล่าวอีกว่า เธอต้องการสร้างวัฒนธรรมการรู้หนังสือในเด็ก ๆ ตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อส่งเสริมการอ่านให้กับพวกเขา เป็นการใช้เวลาที่มีประโยชน์กว่าการเล่นเกมออนไลน์ รวมถึงช่วยลดขยะเพื่อต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งในตอนนี้ ความตระหนักรู้ด้านสิ่งแวดล้อมค่อย ๆ เติบโตขึ้นในหมู่บ้าน

 

เธอคิดว่าขณะนี้ มีชาวบ้านประมาณ 3 ใน 4 ของหมู่บ้านเข้าร่วมในการแลกเปลี่ยนนี้ เธอบอกด้วยว่า มีแผนขยายห้องสมุดไปยังหมู่บ้านใกล้เคียงอื่น ๆ เชื่อว่า จะทำให้ผู้คนจำนวนมากขึ้น เกิดจิตสำนึกที่ดีด้วยการไม่ทิ้งขยะไปทั่ว อีกทั้งยังได้เข้าถึงหนังสือที่มีประโยชน์ด้วย

 

ด้านนักอ่านตัวน้อยวัย 11 ขวบคนหนึ่ง ผู้คอยเสาะหาขยะในหมู่บ้าน กล่าวว่า เมื่อมีขยะมากเกินไป สภาพแวดล้อมในหมู่บ้านจะสกปรกและไม่ดีต่อสุขภาพ เขาถึงมองหาขยะเพื่อเอาไปแลกกับการยืมหนังสือ

 

ธนาคารโลก ระบุว่า อัตราการรู้หนังสือในเด็กอายุมากกว่า 15 ปีในอินโดนีเซียอยู่ที่ประมาณ 96% แต่รายงานในเดือนกันยายน เตือนว่า การระบาดของโควิด-19 จะทำให้เด็กอายุมากกว่า 15 ปี กว่า 80% มีระดับความสามารถในการอ่านต่ำกว่ามาตรฐานขั้นต่ำสุด ที่กำหนดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD

ขณะที่ การทดสอบโดย OECD สำหรับโครงการการประเมินนักเรียนต่างชาติ หรือ PISA ในปี 2018 แสดงให้เห็นว่าอย่างน้อย 70% ของนักเรียนในอินโดนีเซีย ไม่ถึงเกณฑ์มาตรฐานการรู้หนังสือขั้นพื้นฐาน ทำให้อินโดนีเซียอยู่ในอันดับ 8 จากระดับต่ำสุดของ 77 ประเทศที่เข้าร่วมทดสอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง