รีเซต

ผลวิจัยชี้! บางคนอาจจะมีภูมิคุ้มกันโควิดที่ได้มาจากไข้หวัดอยู่ก่อนแล้ว

ผลวิจัยชี้! บางคนอาจจะมีภูมิคุ้มกันโควิดที่ได้มาจากไข้หวัดอยู่ก่อนแล้ว
TNN ช่อง16
8 พฤศจิกายน 2563 ( 14:51 )
706
ผลวิจัยชี้! บางคนอาจจะมีภูมิคุ้มกันโควิดที่ได้มาจากไข้หวัดอยู่ก่อนแล้ว

ผลการวิจัยล่าสุดได้ระบุว่าร่างกายของบางคนอาจจะมีภูมิคุ้มกันบางส่วนที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสโคโรน่าอยู่ก่อนแล้ว ถึงแม้ว่าข้อมูลที่ได้อาจจะยังให้คำตอบได้ไม่ชัดเจนนักว่าภูมิคุ้มกันที่มีอยู่นี้จะสามารถป้องกันได้ดีเพียงใดก็ตาม

รายงานล่าสุดนี้ได้ทำการทดสอบกับตัวอย่างเลือดที่เก็บจากผู้ใหญ่และเด็กในประเทศอังกฤษในช่วงก่อนที่การระบาดจะเริ่มขึ้นในเดือนธันวาคมปี 2019 ที่ผ่านมา และจากตัวอย่างผลเลือดของผู้ที่มีผลเลือดเป็นลบในการตรวจเชื้อ SARS-CoV-2 หรือไวรัสโคโรนาที่เป็นต้นเหตุของโควิด เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับผลเลือดของผู้ที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าติดเชื้อโควิด

และอย่างที่คาดไว้ ผลพบว่าส่วนใหญ่แล้ว ร่างกายของผู้ที่ติดเชื้อโควิดนั้นจะมีกลุ่มแอนติบอดี้ที่หลากหลายที่ใช้จะตอบสนองต่อโปรตีนของเชื้อไวรัสที่ทำหน้าที่โจมตีเซลล์ในร่างกายของเรา ซึ่งแอนติบอดี้ที่ว่านั้นได้แก่ IgG, IgM, IgA และในกรณีของผู้ที่ไม่ติดเชื้อบางส่วนรวมไปถึงผู้ที่ได้รับการยืนยันว่าพึ่งป่วยด้วยไข้หวัดโคโรนาทั่วไปนั้น พบว่าร่างกายของพวกเขามีแอนติบอดี้ที่สามารถตอบสนองกับเชื้อ SARS-CoV-2 ด้วยเช่นกัน

แอนติบอดี้ที่เจอในกลุ่มคนที่ไม่ติดเชื้อนั้นแตกต่างจากที่เจอในกลุ่มคนที่ติดเชื้อโควิดอย่างสิ้นเชิง โดยที่พบจะเป็นตัวที่ชื่อว่า IgG หรือตัวที่มักจะเจอบ่อย ๆ ในการต้านทานไข้หวัดทั่วไป และยังพบในกลุ่มผู้ใหญ่คิดเป็นไม่กี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น โดยจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้ใหญ่จำนวน 302 คน พบว่ามีเพียง 16 คน หรือประมาณ 5.26% เท่านั้นที่มีแอนติบอดีเหล่านี้ แต่สำหรับเด็กนั้นพบว่าเจอแอนติบอดีเหล่านี้ในกลุ่มตัวอย่างเด็กอายุตั้งแต่ 1-16 ปี จำนวนกว่า 21 คนจาก 48 คน หรือคิดเป็นกว่า 44% เลยทีเดียว


ซึ่งการค้นพบแอนติบอดีแบบ cross-reactive ที่เจอได้บ่อยในกลุ่มเด็กนั้น อาจจะเป็นเหตุผลว่าทำไมเด็กถึงมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดน้อยกว่ากลุ่มประชากรอื่น ๆ และมีความเสี่ยงน้อยกว่าต่อการเจ็บป่วยรุนแรงนั่นเอง และยังค้นพบหลักฐานอีกว่าการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์อื่นที่พบบ่อยครั้งขึ้นอาจจะสามารถอธิบายระดับแอนติบอดีในเด็กที่สูงขึ้นได้

นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยอื่น ๆ ที่ค้นพบว่า บางคนยังมีสิ่งที่เรียกว่า “T-Cells” ซึ่งเป็นอีกส่วนที่สำคัญของระบบภูมิคุ้มกันอันได้มาจากการติดเชื้อไวรัสหวัดทั่วไป ซึ่งสามารถตอบสนองกับเชื้้อ SARS-CoV-2 ได้ การค้นพบเหล่านี้จึงแสดงให้เห็นว่ามีกลุ่มคนที่ร่างกายอาจจะสร้างภูมิคุ้มกันเบื้องต้นที่จะป้องกันโควิดได้ก่อนแล้วจริง ๆ 

แต่อย่างไรก็ตามเรายังไม่สามารถชี้ชัดจากผลการศึกษานี้ได้ทั้งหมด เพราะเรายังไม่ทราบว่าระบบป้องกันนี้ทำงานอย่างไรกันแน่ โดยยังมีอีกหลายเรื่องที่ยังไม่แน่ชัดเกี่ยวกับ T Cell เช่น T Cell แบบ cross-reactive เหล่านี้จะส่งผลต่อการตอบสนองของบุคคลต่อการติดเชื้อได้อย่างไร และจะส่งผลต่อการป้องกันการแพร่เชื้อโควิดได้อย่างไร รวมถึงยังมีความเป็นไปได้ที่การมีแอนติบอดี้แบบ cross-reactive อาจจะทำให้เสี่ยงต่อการป่วยอย่างรุนแรงในบางกรณี เช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งโรคซาร์ส (SARS)

ดังนั้นแล้วนักวิทยาศาสตร์จึงต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ผลที่แน่ใจได้ นอกเหนือไปจากการช่วยอธิบายว่าเหตุใดคนบางกลุ่มจึงมีความเสี่ยงน้อยกว่าต่อโควิด เพื่อที่การทำความเข้าใจเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันที่ยืมมานี้อาจนำไปสู่วัคซีนที่ดีขึ้นสำหรับไวรัสโคโรนาทั้งในปัจจุบันและอนาคต

ขอบคุณข้อมูลจาก

Gizmodo


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNThailand.com

facebook : TNNThailand

facebook live : TNN Live

twitter : @TNNThailand

Line : @TNNONLINE

Youtube Official : TNNThailand

Instagram : @tnn_online

TIKTOK : @tnnonline

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง