ทูตดับเบิลยูทีโอ ชี้สงครามรัสเซีย-ยูเครน ฉุดเศรษฐกิจโลกวูบ 1.3% หวั่นกระทบความมั่นคงอาหารประเทศยากจน
นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟิลด์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เปิดเผยว่า องค์การการค้าโลก (WTO) ได้จัดทำรายงานศึกษาผลกระทบของสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ต่อเศรษฐกิจและการค้าโลก เรื่อง “The Crisis in Ukraine: Implications of the War for Global Trade and Development” ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ พบว่าภาวะสงครามจะทำให้เศรษฐกิจโลกและการค้าโลกในปี 2022 ยังคงขยายตัว โดยเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 3.1-3.7% ลดลง 0.7-1.3%
โดยคาดว่าเศรษฐกิจยูเครน และรัสเซีย จะขยายตัวลดลง 25% และ 5% ในปี 2022 จากกรณีปกติ ขณะที่เศรษฐกิจสหภาพยุโรป (อียู) จะขยายตัวลดลง 1.5% และภูมิภาคเอเชียจะขยายตัวลดลง 1.3% ตามลำดับ
นอกจากนี้ การค้าโลกจะขยายตัว 2.4-3.0% ลดลง 2.2% จากกรณีปกติ หากความขัดแย้งยังยืดเยื้อ อาจก่อให้เกิดการแบ่งขั้วการผลิต เพื่อสร้างการพึ่งพาตนเองในการผลิตและการค้า ทำให้การแข่งขันและการสร้างนวัตกรรมของโลกลดลง ซึ่งจะส่งผลให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลงถึง 5% จากกรณีปกติ
นางพิมพ์ชนก กล่าวว่า แม้รัสเซียและยูเครน มีขนาดทางเศรษฐกิจและการค้าโลกไม่มาก แต่มีบทบาทสำคัญในการส่งออกสินค้าสำคัญหลายรายการ ภาวะสงครามจึงทำให้ราคาสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มขึ้น อาทิ ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าว ข้าวโพด ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโอ๊ต เนื้อสัตว์ หรือแม้กระทั่งเบียร์ อาจส่งผลต่อความมั่นคงทางอาหารในประเทศยากจน ที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าดังกล่าวในระดับสูงจากรัสเซียและยูเครน โดยภูมิภาคแอฟริกา มีแนวโน้มประสบปัญหาราคาข้าวสาลีเพิ่มถึง 50-85% นอกจากนี้ ราคาสินค้ากลุ่มพลังงานและวัตถุดิบในการผลิต อาทิ น้ำมันและปุ๋ย เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลทางอ้อมให้ราคาอาหารในตลาดโลกเพิ่มสูงขึ้นไปอีก
ส่วนผลกระทบต่อไทย นั้นอาจจเกิดจากเศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลง ราคาสินค้าสูงขึ้น โดยเฉพาะอาหารและพลังงาน กระทบทางอ้อมต่อการส่งออก และอัตราเงินเฟ้อในประเทศ ดังนั้นไทยต้องหาตลาดส่งออกและแหล่งนำเข้าสินค้าทดแทน และแนวโน้มทำให้เกิดการแบ่งขั้วการผลิตสินค้าและบริการ อาจะจำเป็นต้องเลือกข้าง จากเดิมที่สามารถได้รับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากทั้งสองค่าย ไทยจึงอาจจำเป็นต้องออกแบบยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจและการค้าของประเทศ เพื่อรองรับการแบ่งขั้วการผลิตและการค้านี้ โดยอาจหันไปพึ่งประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันมากขึ้น ทั้งอาเซียน แอฟริกา และลาตินอเมริกา โดยยังคงพยายามรักษาผลประโยชน์ของไทยกับประเทศมหาอำนาจต่างๆ