เปิดกลโกง "บัตรทอง" ตัดแต่งตัวเลข-บิดเบือน ผลตรวจสุขภาพ
การยกเลิกสัญญาคลินิคเอกชน และ โรงพยาบาล กับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) หลังพบการทุจริตของสถานพยาบาล ส่งผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้สิทธิ์บัตรทองในกรุงเทพมหานครกว่า 1 ล้านคน ที่ต้องเปลี่ยนแปลงสถานบริการด้านสาธารณสุข
ทีมข่าว TNN ช่อง 16 ตรวจสอบเรื่องนี้กับคณะทำงานด้านการตรวจสอบทุจริต ของ สปสช. พบว่า สถานพยาบาลดังกล่าวมีพฤติกรรมที่มีความจงใจในการตกแต่งตัวเลข และจัดทำเอกสารเท็จ โดยอาศัยช่องว่างของระบบการเบิกจ่ายของกองทุนบัตรทอง
จากข้อมูลของ นายจิรวุสฐ์ สุขได้พึ่ง ประธานอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีหน่วยบริการเรียกเก็บค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุขเกินจริง พบว่า กลโกงบัตรทองของสถานพยาบาลที่ตรวจพบมีกลโกงหลัก 3 รูปแบบ คือ
1.สวมสิทธิ์ ผู้ที่ขึ้นทะเบียนกับสถานพยาบาล แอบอ้างชื่อว่ามาตรวจรักษาจริง ด้วยการนำเลขบัตรประชาชนเข้าไปกรอกในระบบเพื่อนำไปเบิกจ่ายกัย สปสช.
2.ปลอมแปลงใบแล็บ หรือ เอกสารรับรองผลการตรวจ โดยไม่มีผู้ป่วยไปตรวจจริง ซึ่งมักใช้กับผลการตรวจจากสถานประกอบการ ด้วยการเมครายชื่อพนักงานของสถานประกอบการนั้นขึ้นมาใหม่
3.การแก้ไข ปรับเปลี่ยนข้อมูลทางกายภาพของผู้ป่วย เพื่อให้มีมวลกายสูงเข้าเกณฑ์ตรวจโรคในกลุ่มเมตาบอลิก ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงเบาหวาน และ ความดัน สามาถเบิกจ่ายค่าตรวจคัดกรองได้รายละ 400 บาท
"พยายามแก้ไข้ข้อมูลในใบคัดกรองเพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ เช่น ดูประวัติแล้วว่า ผู้ป่วยมีส่วนสูงเท่านี้ แล้วส่วนสูงปัจจุบันลดลง หรือน้ำหนักในอดีตมีแค่นี้ น้ำหนักในปัจจุบันลดลงอย่างฮวบฮาบ รวมไปถึงการแก้ไขมวลกระดูก BMI เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ เพื่อไปตรวจเลือดเข้าแล็ป ซึ่งไม่เป็นความจริง จากนั้น นำผลแล็ปซึ่งไม่ได้มีการตรวจจริง มาเป็นหลักฐาน และรวบรวมค่าใช้จ่ายทั้งการตรวจแล็ป ค่าคัดกรอง นำมาเบิกกับ สปสช." นายจิรวุสฐ์ กล่าว
นอกจากสถานพยาบาลแล้วนั้น ยังพบว่า มีการทุจริตของคลินิคทันตกรรม ที่มีการตกแต่งตัวเลขค่าทันตกรรมเกินจริง เพื่อหวังเรียกเก็บเงินกับ สปสช.
"ที่ตรวจพบ คือ การทำโอเวอร์หัตถการ เช่น การอุดฟัน 1 ซี่ อุดได้ 4 ด้าน ก็เบิกมา 6 ด้าน" นายจิรวุสฐ์ ยกตัวอย่าง
กลโกงของสถานประกอบการพยาบาลที่ทุจริตต่อ สปสช.คิดเป็นมูลค่าความเสียหายเกือบ 200 ล้านบาท และ มีผู้ได้รับผลกระทบกว่า 1 ล้านคน จากการบอกเลิกสัญญาคลินิกเอกชน และ โรงพยาบาลที่พบการทุจริต ชี้ให้เห็นถึงช่องว่างของการกระทำผิด ซึ่ง สปสช.เตรียมปิดรอยรั่วด้วยการปรับปรุงระบบการเบิกจ่ายที่ต้องมีการพิสูจน์ตัวบุคคลผู้ใช้สิทธิบัตรทอง
"เบิกผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อทาง สปสช.ปลายทางเห็นถูกต้อง ระบบก็เบิกออกไปอัตโนมัติ ซึ่งต้องแก้ไขจุดนีั ทำให้ สปสช.ต้องปรับปรุงระบบให้มีการยืนยันตัวตน" นายจิรวุสฐ์ กล่าว
ทั้งนี้ สปสช. พบว่า ได้มีการนำสิทธิประชาชนมาแอบอ้างเบิกค่าใช้จ่ายทุจริตในล็อตที่ 3 เพิ่มอีก 106 แห่ง มีประชาชนที่จะได้รับผลกระทบอีกราว 9 แสน ถึง 1 ล้านคนอยู่ระหว่างการประสานและดำเนินการเพื่อหาหน่วยบริการรองรับ หลังจากที่ก่อนหน้านี้มีการตรวจสอบพบการทุจริตและแจ้งความแล้ว 2 ล็อต โดยล็อตที่ 1 จำนวน 18 แห่ง และล็อตที่ 2 จำนวน 64 แห่ง รวมขณะนี้ตรวจสอบพบทุจริตบัตรทองแล้วรวม 188 แห่ง มูลค่าความเสียหายรวมทั้ง 3 ล็อตเป็นเงิน 195 ล้านบาท
พัชรพงษ์ พันธุ์สวัสดิ์ ถ่ายภาพ
วุฒิพันธุ์ เปรมาสวัสดิ์ สำนักข่าว TNN ช่อง 16 รายงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สปสช. เตรียมสถานพยาบาลรองรับ 1 ล้านคน กระทบสิทธิบัตรทอง
มัดรวม สิทธิประโยชน์ "บัตรทอง" คุ้มครองอะไร ใครสมัครได้บ้าง?
ตอบทุกข้อสงสัย? สปสช. ยกเลิกสัญญา 64 คลินิก ผู้ใช้สิทธิบัตรทองทำอย่างไร
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE