กรมวิทย์ฯ จับตา ไวรัสสายพันธุ์ไฮบริด หวั่นเชื้อดุผสมกัน ทำอาการแย่
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แจง เฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด กลุ่มไวรัสลูกผสม ทำให้คนเดียวติดเชื้อได้สองสายพันธุ์พร้อมกัน ชี้ ต้องจับตา เพราะอาจทำให้โรครุนแรง
กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กล่าวถึงการเฝ้าระวังไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ (new variant) ในกลุ่มไวรัสลูกผสม (hybrid of COVID-19 variants) และการติดเชื้อต่างสายพันธุ์ในคนเดียวกัน (co-infection) ว่า ขณะนี้มีการเฝ้าระวังอย่างต่อเนื่อง โดยกรณีไวรัสลูกผสม จะเป็นไวรัสตัวใหม่ ส่วนกรณีคนเดียวติดสองเชื้อมีความเป็นไปได้ แต่ทั้ง 2 กลุ่มยังไม่พบการติดเชื้อในประเทศ ซึ่งปกติไม่ว่าประเทศใดเมื่อเจอเชื้อสายพันธุ์ใดก็ตาม จะต้องมีการนำเข้าระบบกลางของทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทย แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนทั้งกลุ่มไวรัสลูกผสม และกลุ่มการติดเชื้อต่างสายพันธุ์ในคนเดียวกัน หากพบจะต้องเปิดเผยข้อมูลแน่นอน
“สิ่งที่อยากฝากคือ ไม่ว่าสายพันธุ์อะไร เราก็รักษาแบบเดิม มีการเฝ้าระวังว่าปอดอักเสบมากน้อยแค่ไหน และสายพันธุ์ไหนแต่ละคน อาการก็แตกต่างตามแต่ละบุคคล ยิ่งคนโรคมีประจำตัวก็ต้องระวัง อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ไม่จำเป็นต้องตรวจหาสายพันธุ์เลย ซึ่งหากตรวจน้ำยาทั่วไป แต่ผลไม่100% ก็ประมาณ 1-2 พันบาท แต่หากมาตรวจแบบมุ่งเป้าก็ 3-4 พัน แต่หากตรวจระดับโครจีโนมเป็นหมื่นบาท ดังนั้น ไม่ได้มีความจำเป็นในการตรวจหาเชื้อสายพันธุ์ เพราะสิ้นเปลือง และเชื่อว่าขณะนี้แทบไม่มีเอกชนรายใดตรวจหาสายพันธุ์ได้ เพราะลงทุนสูง” นพ.ศุภกิจ กล่าว
ด้าน ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ขณะนี้ทางศูนย์จีโนม มีการเฝ้าระวังเรื่องนี้เป็นหลัก ทั้งกลุ่มไวรัสลูกผสม (hybrid of COVID-19 variants) และการติดเชื้อต่างสายพันธุ์ในคนเดียวกัน (co-infection) โดยกลุ่มไฮบริด ก็คล้ายๆ วัวสีขาว และวัวสีดำ ออกลูกมาก็จะเป็นไฮบริด สมมติสายพันธุ์อังกฤษและอินเดียผสมกันและออกเป็นตัวใหม่มีลักษณะทั้งสองสายพันธุ์ แต่กรณีติดเชื้อสองสายพันธุ์คือ ในร่างกายมีเชื้อ 2 ชนิด
“ปัจจุบันข้อมูลน้อยมาก แต่แพทย์และนักวิจัยกลัว เพราะเคยเกิดกับไวรัสตัวอื่น ขณะนี้ทางศูนย์จีโนมจึงมุ่งเรื่องนี้เป็นสำคัญ แต่ ณ ขณะนี้ข้อมูลไม่ชัด อย่างไฮบริด ประเทศเวียดนามนำเสนอข่าวแต่ก็ไม่มีหลักฐานชัดเจน แต่ประเทศไทยมีระบบเฝ้าระวังอยู่ ทั้งในประเทศและสถานกักตัว กักกัน” หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์กล่าว
เมื่อถามว่าระหว่างเชื้อไฮบริดกับเชื้อ 2 สายพันธุ์ในคนเดียวแบบไหนน่ากลัว ศ.เกียรติคุณ ดร.วสันต์ กล่าวว่า กรณี Co-infection จะเป็นเฉพาะบุคคล คือ หาย หรือไม่หายอาจรุนแรงเสียชีวิต แต่เป็นเฉพาะบุคคล เพราะเวลาแพร่เชื้ออาจนำเชื้อไปติดแค่สายพันธุ์เดียวก็ได้ ไม่จำเป็นต้องติดเชื้อ 2 สายพันธุ์ อาจแบบ 80 ต่อ 20 ไม่จำเป็นต้อง 50 ต่อ 50 ส่วนสายพันธุ์ลูกผสมหรือไฮบริด ก็ต้องระวัง เพราะหากเกิดขึ้นจริงแสดงว่าเป็นตัวใหม่ และเกรงว่าจะเอาลักษณะแย่ๆของสายพันธุ์ที่ผสมมารวมกัน ซึ่งตรงนี้ก็ต้องระวัง โดยต้องระวังกรณีคนเดินทางเข้าประเทศด้วย เพราะคนๆนั้นอาจมีเชื้อไฮบริดก็เป็นได้ ซึ่งขณะนี้กำลังเฝ้าระวังกันอยู่ ยังไม่พบเชื้อทั้ง 2 กลุ่มในประเทศไทย