รีเซต

ดัชนีผลผลิตอุตฯเดือนเม.ย.โต 18.46% กำลังการผลิตกระเตื้อง 59.58% หวังขับเคลื่อนศก.ก้าวผ่านวิกฤต

ดัชนีผลผลิตอุตฯเดือนเม.ย.โต 18.46% กำลังการผลิตกระเตื้อง 59.58% หวังขับเคลื่อนศก.ก้าวผ่านวิกฤต
ข่าวสด
31 พฤษภาคม 2564 ( 14:53 )
40

 

ดัชนีผลผลิตอุตฯเม.ย.โต - นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เอ็มพีไอ) เดือนเม.ย. 2564 อยู่ที่ระดับ 91.88 ขยายตัว 18.46% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ฐานต่ำอยู่ในระดับ 77.57 เนื่องจากเดือนเม.ย.ปีก่อน ผู้ผลิตรายหลายมีการหยุดผลิตชั่วคราว ตามประกาศล็อกดาวน์ในประเทศของรัฐบาล ทำให้เกิดผล กระทบมากที่สุดจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในรอบแรก

 

 

ส่วนอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 59.58% เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอยู่ที่ระดับ 50.90% สะท้อนแนวโน้มภาคการผลิตอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ดีขึ้นตามลำดับ เห็นได้จากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมเดือนเม.ย. 2564 มีมูลค่ารวม 21,429 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัว 45.69% ซึ่งเป็นการขยายตัว สูงสุดในรอบ 36 เดือน ตั้งแต่เดือนพ.ค. 2561

 

 

“เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มดีขึ้นจากความคืบหน้าของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ในหลายประเทศ ทำให้เกิดความเชื่อมั่นในการผลิตและการบริโภคมากขึ้น”นายทองชัย กล่าว

 

 

โดยอุตสาหกรรมที่ขยายตัวในเดือนเม.ย. 2564 ได้แก่ รถยนต์และเครื่องยนต์ ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 288.06% จากรถปิกอัพ รถยนต์นั่งขนาดเล็ก และเครื่องยนต์ดีเซล เป็นหลัก เทียบกับปีก่อนผู้ผลิตหลายรายต้องหยุดผลิตชั่วคราว หลังการประกาศมาตรการล็อกดาวน์ในประเทศ เบียร์ขยายตัว 515.18% เนื่องจากสงกรานต์ปีนี้ไม่มีมาตรการล็อกดาวน์ประเทศ แม้ว่าจะมีการควบคุมในบางพื้นที่

 

 

เครื่องปรับอากาศและชิ้นส่วน ขยายตัว 57.38% ผู้ผลิตมีการพัฒนาสินค้าที่สอดคล้องกับความต้องการและจัดรายการส่งเสริมการขายกระตุ้นการจำหน่ายในประเทศให้เพิ่มขึ้น ประกอบกับสถานการณ์ของประเทศคู่ค้าหลักเริ่มคลี่คลายทำให้การดำเนินการส่งออกกลับมาเป็นปกติหลังจากการปิดช่องทางขนส่ง

 

 

เหล็กและเหล็กกล้าขั้นมูลฐาน ขยายตัว 29.23% จากเหล็กแผ่นรีดร้อน เหล็กแผ่นรีดเย็น เหล็กเคลือบสังกะสี และเหล็กเส้นข้ออ้อยเป็นหลัก เทียบกับปีก่อนลูกค้าชะลอคำสั่งซื้อตามความต้องการใช้หดตัว รวมทั้งมีผู้ผลิตบางรายหยุดผลิตชั่วคราวในปีก่อน

 

 

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม กล่าวว่าเดือนเม.ย.ปีที่แล้ว เป็นช่วงที่เกิดผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 มากที่สุด จากทิศทางเศรษฐกิจของโลกที่ดีขึ้น สะท้อนได้จากตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มขึ้นในระดับสูง ประกอบกับภาครัฐมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้แนวโน้มภาคการผลิตของประเทศเติบโตต่อเนื่อง แม้จะมีการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการผลิตภาพรวมและไม่กระทบต่อห่วงโซ่อุปทานของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

 

 

“ภาคการผลิตอุตสาหกรรมยังคงสามารถดำเนินการได้อย่างปกติ และเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มดีขึ้นตามทิศทางการส่งออกที่ดีขึ้นเช่นกัน โดยคาดว่าภาคอุตสาหกรรมจะยังคงขยายตัวได้ตามเป้าหมาย ดังนั้นในช่วงนี้ภาคการผลิตอุตสาหกรรมและการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐจึงถือว่าเป็นกลจักรสำคัญที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวข้ามผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 ไปได้”นายสุริยะ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง