รีเซต

TPCHจ่อบุ๊ครายได้ชีวมวลQ3 ปักเป้ากำลังผลิตแตะ109MW

TPCHจ่อบุ๊ครายได้ชีวมวลQ3 ปักเป้ากำลังผลิตแตะ109MW
ทันหุ้น
16 กันยายน 2563 ( 09:00 )
101
TPCHจ่อบุ๊ครายได้ชีวมวลQ3 ปักเป้ากำลังผลิตแตะ109MW

ทันหุ้น – สู้โควิด - TPCH ส่งสัญญาณผลงานไตรมาส 3/63 โตเด่น จ่อรับรู้รายได้โรงไฟฟ้าชีวมวล 7 แห่ง กำลังการผลิตรวม 83 เมกะวัตต์ ฟากผู้บริหารมั่นใจปีนี้อัพกำลังผลิตโรงไฟฟ้าชีวมวลแตะ 109 เมกะวัตต์ตามเป้า สบช่องลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่ม 2-3 โครงการ กำลังผลิต 10-20 เมกะวัตต์ คาดชัดเจนในไตรมาส 4/63 นี้  โบรกเคาะเป้า 14.80 บาท

 

นางกนกทิพย์ จันทร์พลังศรี ประธานคณะกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCHประกอบธุรกิจหลักโดยการถือหุ้นในบริษัทอื่น (Holding Company) ที่ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เปิดเผยว่า แนวโน้มการดำเนินธุรกิจในไตรมาส 3/2563 คาดว่าจะมีการเติบโตที่ดี เนื่องจากบริษัทสามารถรับรู้รายได้จากการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ของโรงไฟฟ้าชีวมวลเดิม จำนวน 7 แห่ง ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าชีวมวลช้างแรก ไบโอเพาเวอร์ (CRB) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลแม่วงศ์ เอ็นเนอยี่ (MWE),โรงไฟฟ้าชีวมวลมหาชัย กรีน เพาเวอร์ (MGP) ,โรงไฟฟ้าชีวมวลทุ่งสัง กรีน (TSG ) โรงไฟฟ้าชีวมวล พัทลุง กรีน เพาเวอร์ (PGP) โรงไฟฟ้าชีวมวล สตูล กรีน เพาเวอร์ (SGP) และโรงไฟฟ้าชีวมวล ปัตตานี กรีน เพาเวอร์ (PTG) ซึ่งมีกำลังการผลิตรวม 83 เมกะวัตต์

 

ทยอย COD เพิ่ม

 

ทั้งนี้บริษัทเตรียมทยอย COD ของโรงไฟฟ้าชีวมวลเพิ่มอีก 3 แห่ง มีขนาดกำลังการผลิตรวม 26 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย โครงการโรงไฟฟ้า ทีพีซีเอช เพาเวอร์1 (TPCH 1) กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์,โรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์2 (TPCH 2) กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าชีวมวล ทีพีซีเอช เพาเวอร์ 5 (TPCH 5) กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะสามารถ COD ภายในปี 2563 ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมเพิ่มเป็น 109 เมกะวัตต์

 

นอกจากนี้บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาแผนเข้าลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวลอีก 2-3 โครงการ กำลังการผลิตรวม 10-20 เมกะวัตต์ ซึ่งโรงไฟฟ้ามีใบอนุญาตแล้ว คาดจะได้ข้อสรุปการลงทุนภายในไตรมาส 4/2564 นี้ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการเจรจาเรื่องเงินลงทุน ขณะเดียวกันบริษัทอยู่ระหว่างรอ TOR สำหรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าขยะ SP2,SP3 คาดจะเห็นความชัดเจนได้ในไตรมาส 4/2563 เช่นเดียวกัน

 

ลงทุนโรงไฟฟ้าขยะ

 

นอกจากนี้คาดจะมี TOR สำหรับโรงไฟฟ้าขยะอีก 2 โครงการ คาด TOR จะออกมาในปี 2564 สำหรับโครงการ SP2,SP3 บริษัทจะลงทุนตามสัดส่วนของการถือหุ้นในบริษัท สยาม พาวเวอร์ จำกัด (SP) ซึ่งประกอบธุรกิจผลิตบริหารจัดการระบบการนำขยะมูลฝอยมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้า ด้านเงินลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างทำการศึกษา บริษัทได้จัดทำทริสเรทติ้งเพื่อจัดอันดับเครดิตองค์กร และจะใช้สำหรับการันตีการหาแหล่งเงินทุนมาใช้ขยายธุรกิจในอนาคต โดยบริษัทคาดว่าปีหน้าจะใช้เงินลงทุนขยายโครงการสูงขึ้น และยังมีแหล่งเงินทุนอีกหลายช่องทาง เช่น หุ้นกู้ เป็นต้น ขณะเดียวกันบริษัทมองการเพิ่มทุนจะเป็นช่องทางสุดท้ายในการหาแหล่งเงินทุน

 

นายเชิดศักดิ์ วัฒนะวิจิตรกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีพีซี เพาเวอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ TPCH กล่าวต่อว่า ขณะที่แผนการดำเนินงานช่วงที่เหลือของปีนี้ บริษัทคาดจะพยายามเดินเครื่องเชิงพาณิชย์ หรือ COD โรงไฟฟ้าชีวมวล TPCH 1 กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ ,TPCH2 กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์และ TPCH 5 กำลังการผลิต 6 เมกะวัตต์ให้ได้ภายในปีนี้ หรือไม่เกินไตรมาส 4/2563 โดยงานก่อสร้างมีความคืบหน้าไปแล้ว 98-99% แต่จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้วิศวกรต่างชาติไม่สามารถเดินทางมาตรวจงานได้ตามกำหนด แต่บริษัทจะมีการประชุมหารือทดสอบระบบโดยระบบออนไลน์ เพื่อผลักดันการ COD ให้ได้

 

ดันเป้าแตะ250MW

 

ทั้งนี้ บริษัทจะลงทุนเพิ่มเติมในโรงไฟฟ้าชีวมวลอยู่ที่ 90 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะ 40 เมกะวัตต์ เพื่อให้ได้ตามเป้าหมายที่จะมีทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพและโรงไฟฟ้าขยะให้ครบ 250 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ 200 เมกะวัตต์ ปัจจุบันมีอยู่แล้ว 110 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าขยะที่ 50 เมกะวัตต์ จากที่มีอยู่ 10 เมกะวัตต์ โดยส่วนหนึ่งจะมาจากการเข้าร่วมประมูลโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก และโครงการโรงไฟฟ้าขยะชุมชน

 

บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด ระบุว่า ผู้บริหารยังคงเป้าหมายกำลังการผลิตในระยะยาวที่ 250 MW จากที่แน่นอนแล้ว 116 MW โดยจะมุ่งเน้นพลังงานประเภทชีวมวลและขยะ ทั้งนี้บริษัทตัดสินใจเลื่อนกำหนดการเดินเครื่องโรงงาน 3 แห่ง จากการล็อกดาวน์ประเทศ ทางฝ่ายจึงปรับลดกำไรปี 2563 - 2566 ลงมาอยู่ที่ 18%, 22% และ 13%ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ทางฝ่ายคงคำแนะนำ "ซื้อ" แต่ลดราคาเป้าหมายลงเป็น 14.80 บาทจาก 15.20 บาท การขยายกำลังการผลิตคือปัจจัยขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญในระยะยาว

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง