รีเซต

"ทากเปลือย Blue dragon" โผล่หาดกะรน เตือนห้ามจับเด็ดขาด!

"ทากเปลือย Blue dragon" โผล่หาดกะรน เตือนห้ามจับเด็ดขาด!
TNN ช่อง16
1 กันยายน 2566 ( 19:03 )
155
"ทากเปลือย Blue dragon" โผล่หาดกะรน เตือนห้ามจับเด็ดขาด!

"ทากเปลือย Blue dragon" มังกรทะเลสีน้ำเงิน โผล่หาดกะรน จ.ภูเก็ต เตือนอันตราย ห้ามสัมผัสเด็ดขาด สามารถดึงเข็มพิษจากสัตว์อื่นมาใช้ได้


เฟซบุ๊ก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง แจ้งว่า กรมทะเลชายฝั่ง ลงพื้นที่บริเวณหาดกระรน จังหวัดภูเก็ต ตามที่ได้รับแจ้งจากสื่อออนไลน์ในการพบทากเปลือย (Blue dragon) แจ้งเตือนประชาชนห้ามสัมผัส


วันที่ 31 สิงหาคม 2566 เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนบน ลงพื้นที่บริเวณหาดกระรน จังหวัดภูเก็ต ตามที่ได้รับแจ้งจากสื่อออนไลน์ในการพบทากเปลือย (Blue dragon) จากการตรวจสอบเบื้องต้นคาดว่าเป็น ทากเปลือย (Blue dragon) ชนิด Glaucilla sp. ซึ่งจากการสำรวจพบได้ตลอดแนวชายหาดของหาดกะรน 


ทั้งนี้ ยังพบแมงกะพรุนแว่นตาพระอินทร์ Porpita porpita (Linnaeus, 1758) และแมงกะพรุน Velella velella (Linnaeus, 1758) ซึ่งแมงกะพรุนดังกล่าวเป็นอาหารของทากเปลือย Blue dragon และยังไม่มีผลกระทบต่อนักท่องเที่ยวบริเวณชายหาด รวมทั้งแจ้งเตือนประชาชนไม่ควรไปสัมผัสจับต้อง ซึ่งอาจได้รับอันตรายได้ ทั้งนี้ทางศูนย์วิจัยฯ จะติดตามเฝ้าระวังเหตุการณ์ดังกล่าวต่อไป



ขณะที่ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาโพสต์เฟซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat ถึงเรื่องดังกล่าวว่า


"เพจ  ขยะมรสุม ᴍᴏɴsᴏᴏɴɢᴀʀʙᴀɢᴇ ᴛʜᴀɪʟᴀɴᴅ รายงานการพบทากทะเลมังกรฟ้า Blue Dragon Sea Slug ที่ชายฝั่งภูเก็ต ทากทะเลเป็นญาติของหอยฝาเดียว นักดำน้ำรู้จักดี แม้มีขนาดเล็กแต่สีสวย ถึงขั้นเป็นเป้าหมายในการเก็บแต้มของเหล่านักดำน้ำผู้นิยมสัตว์เล็ก


ทากทะเลเป็นสัตว์พิสดาร บางชนิดสามารถกินสัตว์ที่มีเข็มพิษแล้วดึงเอาเซลล์เข็มพิษมาไว้ในตัวเพื่อป้องกันตัวเอง นักดำน้ำบางคนอาจเจอทากพวกนี้กำลังกินไฮดรอยด์ (ขนนกทะเล) โดยมีเข็มพิษอยู่ปลายเนื้อเยื่อที่ยื่นออกมาคล้าย “หนาม” ตามลำตัว เราเรียกทางทะเลกลุ่มนี้ว่า Aeolidida พวกเธอสามารถดึงเข็มพิษจากสัตว์อื่นมาใช้ได้ แต่ในจำนวนนี้ สุดยอดทากคือเจ้ามังกรฟ้า


ทากทะเลกลุ่มนี้ดำรงชีวิตกลางน้ำ เรียกกันว่า pelagic nudibranch (ทากเปลือยกลางน้ำ - แปลแบบง่ายๆ ครับ) หนึ่งในนั้นคือเทพธิดาแห่งท้องทะเล sea angel ใครไปญี่ปุ่นอาจเคยเห็นในอควอเรี่ยม แต่เด็ดจริงต้องไปดูที่ฮอกไกโด บริเวณทะเลน้ำแข็ง แต่นางฟ้าหรือจะสู้มังกร เพราะมังกรฟ้าไม่เพียงแค่อยู่กลางน้ำ แค่ยังกินแมงกะพรุน


แมงกะพรุนธรรมดาทากไม่ชอบ เธอกินสุดโหดกะพรุนชื่อ Portuguese man o' war แมงกะพรุนชนิดนี้พิษร้ายแรง ชื่อไทยคือเรือรบโปรตุเกส ขวดเขียว ฯลฯ เป็นแมงกะพรุนทะเลเปิด ลอยมาตามคลื่นลมเป็นระยะ เช่น ฝั่งอันดามัน สงขลา (ไม่ค่อยเข้ามาในอ่าวไทยตอนใน ไม่ใช่แมงกะพรุนกล่อง) เมื่อกินแมงกะพรุน ทากก็ต้องอยู่แถวนั้น มังกรฟ้าจึงมีอากาศเก็บอยู่ในท้อง ทำให้ลอยขึ้นลงอยู่แถวผิวน้ำกลางมหาสมุทร


แมงกะพรุนขวดเขียวก็ลอยอยู่ตามผิวน้ำ เมื่อเจอทากก็ลุยโลก พวกเธอมีกระบวนการพิเศษ กินเซลล์เข็มพิษเข้าไปแล้วนำมาไว้ตรงปลายหนาม กลายเป็นอาวุธป้องกันตัวเอง ถึงบอกเลยว่า ตัวนี้แหละสุดยอดสัตว์!


ปกติแล้วมังกรฟ้าอยู่กลางมหาสมุทร แต่มีบางครั้งที่คลื่นลมแรงพัดพวกเธอลอยมาที่ฝั่ง ดังเช่นกรณีที่เกิดขึ้นที่ภูเก็ต ลอยมาทีก็มากันเยอะหน่อย เพราะกระแสน้ำทำให้พวกเธอลอยอยู่ใกล้กัน ไม่ใช่โดดเดี่ยวกลางทะเล ไม่งั้นจะผสมพันธุ์กันยังไงล่ะฮะ


ทั้งหมดที่เล่ามา คงพอเข้าใจว่าทากมีพิษ เพราะเข็มพิษแมงกะพรุนอยู่กับเธอ ไม่ควรจับแตะโดน เห็นสีสวยๆ อย่าคิดจับไปเลี้ยง แต่ถ้าพลาดไปก็ใช้หลักการเดียวกับการโดนแมงกะพรุน คุณหมอแนะนำให้ใช้น้ำส้มสายชูเยอะๆ
ทากพวกนี้มาถึงฝั่ง อยู่ได้ไม่นานเพราะไม่ใช่ที่อยู่ คลื่นกระแทกแป๊บเดียวก็อากาศออกหมด แฟ่บ จากนั้นก็บ๋ายบาย


แล้วแมงกะพรุนจะตามมาไหม ? มีสิทธิครับ เพราะขวดเขียวก็ลอยน้ำอยู่เหมือนกัน ทากกับแมงกะพรุนสัมพันธ์กัน เมื่อทากมา แมงกะพรุนก็อาจจะมา ระวังกันไว้หน่อยนะครับ"







ภาพจาก กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง