นักวิทย์โปรตุเกสพัฒนา 'สนทนแล้ง' ต้องการน้ำน้อย-ผลผลิตเท่าเดิม
ลิสบอน, 10 มี.ค. (ซินหัว) -- นักวิจัยชาวโปรตุเกสกำลังพัฒนาต้นสนที่ทนแล้งได้มากขึ้น ต้องการน้ำน้อยลงกว่าครึ่ง และให้ผลผลิตเนื้อไม้และยางไม้ได้เหมือนต้นสนปกติ
สำนักข่าวลูซาของโปรตุเกสรายงานโดยอ้างถึงคำพูดของโจเอา นูนีส ประธานวิทยาเขตเทคโนโลยีและนวัตกรรมบีเอลซี3 (BLC3 Technology and Innovation Campus) ว่า "เราได้สร้างต้นสนที่มีความยืดหยุ่นและมีคุณภาพทางพันธุกรรมดีขึ้น ด้วยวิธีการในระดับยีนและระดับโมเลกุล"
นูนีสกล่าวว่า "ซูเปอร์ทรี" หรือต้นไม้สุดแกร่งดังกล่าว ได้รับการพัฒนาขึ้นผ่านสถานการณ์ภัยแล้งต่างๆ ที่มีการสร้างขึ้นภายใต้การควบคุม ซึ่งทำให้พวกมัน "พร้อมรับมือและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและความเสี่ยงด้านสุขอนามัยพืชได้ดีขึ้น"
หลังทดลองนานสองปี นักวิทยาศาสตร์ของวิทยาเขตฯ 3 คน อ้างว่าต้นสนพันธุ์นี้ช่วยประหยัดน้ำได้มากถึงร้อยละ 60 เมื่อเทียบกับต้นสนสายพันธุ์ปกติทั่วไปในปัจจุบัน
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าจะเพิ่มจำนวนต้นสนจอมอึดที่ปัจจุบันมีอยู่ 162 ต้นเหล่านี้ เพื่อสร้างพืชชนิดอื่นๆ ที่มีลักษณะทนแล้งเหมือนกัน ผ่านการถ่ายทอดพันธุกรรมของสนเหล่านี้ไปยังพืชชนิดอื่นที่ต้องเผชิญกับความเครียดอันเนื่องมาจากน้ำ เพื่อให้พวกมันแพร่พันธุ์ได้ต่อไป
นักวิทยาศาสตร์กล่าวด้วยว่า นอกเหนือจากการจัดหาแหล่งยางไม้ธรรมชาติซึ่งสำคัญอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจของโปรตุเกสแล้ว อีกจุดมุ่งหมายของพวกเขาคือหลีกเลี่ยงไม่ให้มีการสูญเสียพืชพรรณต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานแห่งสมดุลของโลกในปริมาณมาก
อนึ่ง วิทยาเขตเทคโนโลยีและนวัตกรรมบีเอลซี3 เป็นองค์กรไม่แสวงกำไรของโปรตุเกส ที่ส่งเสริมกิจกรรมด้านการวิจัยและเทคโนโลยี การบ่มเพาะความคิดและธุรกิจ ตลอดจนการสนับสนุนห่วงโซ่ทางเศรษฐกิจ