รีเซต

TMA ผนึกผู้เชี่ยวชาญแนะแนวทางสร้าง Smart and Sustainable Cities

TMA ผนึกผู้เชี่ยวชาญแนะแนวทางสร้าง Smart and Sustainable Cities
TNN ช่อง16
25 กันยายน 2563 ( 16:08 )
90
TMA ผนึกผู้เชี่ยวชาญแนะแนวทางสร้าง Smart and Sustainable Cities

วันนี้ ( 25 ก.ย.63) สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA)เปิดเผยว่า ได้จัดงาน “Sustainability Forum 2000 : Creating a Resilient City”  เพื่อผลักดันเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ และสนับสนุนให้องค์กรต่าง ๆ ได้ร่วมกันสร้างสรรค์เมืองที่ยืดหยุ่นและยั่งยืนท่ามกลางสภาพภูมิอากาศที่ผันแปร  โดยได้เชิญผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหารจากองค์กรชั้นนำทั้งในประเทศและระดับโลก มาร่วมให้ความรู้และความเห็นในแง่มุมต่าง ๆ 

นายฮาราลด์ นายด์ฮาร์ด (Mr.HaraldNeidhardt) CEO & Curator Futur/io Institute, Germany กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโรค COVID-19นับเป็นบททดสอบครั้งสำคัญสำหรับโลกธุรกิจและการสร้างความยั่งยืน แต่ยังถือว่าCOVID-19 เป็นวิกฤติระยะสั้น เมื่อเทียบกับปัญหาโลกร้อนที่เป็นวิกฤติระยะยาวซึ่งมีผลกระทบกับทุกคนทั่วโลก ดังนั้นปัญหานี้จึงต้องอาศัยการร่วมมือจากทุกภาคส่วน

 “หากวันนี้คนยังเพิกเฉยกับปัญหาโลกร้อนต่อไป อาจทำให้เกิดวิกฤตการณ์ในอนาคตได้ เช่น ตอนใต้ของกรุงปารีสและตอนใต้ของเทือกเขาแอลป์อาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของทะเลทรายซาฮาร่า หรือเมืองชายฝั่งซึ่งมีประชากรอาศัยหนาแน่นก็จะไม่สามารถอยู่ได้อีกต่อไป”นายนายด์ฮาร์ด กล่าว

จากงานวิจัยของ IPCC (The Intergovernmental Panel on Climate Change) ระบุว่าโอกาสทางรอดจากหายนะทางสภาพภูมิอากาศ คือการป้องกันไม่ให้อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1.5 องศาเซลเซียส  ซึ่งเราต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงครึ่งหนึ่งภายในปี ค.ศ.2030 และลดลงทั้งหมดภายในปี ค.ศ.2050

นายโจนัส ธอร์นบลัม (Mr.JonasTörnblom) CEO Envito AB, Sweden กล่าวว่า “การสร้าง Smart and Sustainable Cities จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาคสังคม เศรษฐกิจ การเมือง สิ่งแวดล้อม และกฎหมาย เพื่อร่วมกันกำหนดขอบเขตและแนวทางของการแก้ไขปัญหารวมทั้งการสร้างโมเดลธุรกิจในรูปแบบใหม่ที่รวมการสร้างความยั่งยืนอยู่ในกระบวนการบริหารจัดการนั้นด้วย”

นายฟิน มอร์เทนเซ่น (Mr.Finn Mortensen) Executive Director State of Green, Denmark กล่าวว่า ประเทศเดนมาร์กได้เริ่มวางแผนยุทธศาสตร์ระยะยาวเพื่อปรับเปลี่ยนประเทศเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1970โดยได้มีการวางแผนการผลิตและการใช้พลังงานหมุนเวียนอย่างยั่งยืน การสร้างความมั่นคงทางทรัพยากร ตลอดจนแผนการสร้างเมือง Smart City ซึ่งทำให้เดนมาร์กเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จในการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม  โดยในอนาคตอันใกล้ ประมาณ 65%ของประชากรโลกจะอาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็วและก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นความแออัด การจัดการทรัพยากร มลพิษจากการคมนาคม ตลอดจนปัญหาสุขภาพของผู้ที่อยู่อาศัยในเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่เราเริ่มเห็นผลกระทบจากภาวะโลกร้อนอย่างชัดเจนมากขึ้น   ซึ่งการพัฒนาเมืองให้เป็น Smart City ที่มีความยั่งยืนต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง แต่หนึ่งในปัจจัยที่สำคัญคือความสามารถในการรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่แปรปรวนรุนแรง ตัวอย่างเช่น เมืองโคเปนเฮเกนและเมืองท่องเที่ยวรอสกิลด์ ที่มีนวัตกรรมในการจัดการและลดความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายจากน้ำท่วมและพายุฝน เช่น การสร้างถนนที่สามารถช่วยดูดซับน้ำการสร้างอาคารและโครงสร้างพื้นฐานที่มีความยืดหยุ่นคงทนต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ เป็นต้น

ด้าน ดร. ภากร ปีตธวัชชัยกรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นเมกะเทรนด์ที่ทุกคนจับตามอง นักลงทุนหรือสถาบันทางการเงินให้ความสนใจกับบริษัทที่ยึดหลักความยั่งยืนและดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศในยุโรปจะมองเรื่องนี้เป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจลงทุนจากสถิติต่าง ๆ ของโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า มีสัดส่วนของคนรู้หนังสือมากขึ้น คนยากจนน้อยลง สังคมมีความเจริญมากขึ้น แต่สิ่งแวดล้อมกลับเสื่อมโทรมลง โดยสาเหตุหลักมาจากการขยายตัวของความเจริญต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมมีการเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรง รวมทั้งปัญหาทรัพยากรน้ำ จึงทำให้บริษัทที่มีความอนุรักษ์นิยมสูงหลายแห่งเริ่มให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้เสีย (Stakeholders) มากกว่าผู้ถือหุ้น (Shareholders) เป็นครั้งแรก

นอกจากนี้ ยังมีการอภิปรายในหัวข้อ CEO Roundtable : Business Adapting towards Resilience โดย นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) นายแบรด เดนิก (Mr.Brad Denig) Co-ordinatingManaging Director – Innovation & Sustainability, AWR Lloyd Limited นายยูซา ซูเซีย (Mr. JusaSusia) Head of Region, Business Finland และ ดร.ชญาน์ จันทวสุ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความยั่งยืนและภาพลักษณ์องค์กร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) สรุปได้ว่า ในปัจจุบันเราได้รับผลกระทบจากภาวะโลกร้อนที่ทำให้เกิดความแปรปรวนของสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติทางธรรมชาติที่นับวันจะรุนแรงขึ้น ทำให้เราเห็นว่าการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมไม่ใช่สิ่งที่รอได้อีกต่อไป  ภาคเอกชนจึงจำเป็นต้องช่วยกันแก้ปัญหา การวางแผนกลยุทธ์ในการบริหารจัดการที่ยึดหลักความยั่งยืน (Sustainability) ความสามารถในการปรับตัว (Resilience) และการบริหารจัดการความเสี่ยง (Risk Management) เป็นหัวใจสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืนต่อไป 


เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง