รีเซต

เมื่อจาการ์ตาจมบาดาล อินโดนีเซียมีแผนสร้างเมืองหลวงใหม่อย่างไรบ้าง

เมื่อจาการ์ตาจมบาดาล อินโดนีเซียมีแผนสร้างเมืองหลวงใหม่อย่างไรบ้าง
ข่าวสด
5 เมษายน 2563 ( 11:02 )
93

 

เมื่อจาการ์ตาจมบาดาล อินโดนีเซียมีแผนสร้างเมืองหลวงใหม่อย่างไรบ้าง - BBCไทย

บ้านของวินดาในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย กำลังทรุดจมลงเรื่อย ๆ ในอัตราราว 20 เซนติเมตรต่อปี เธอจ่ายเงินค่าหิน กรวด และปูนซีเมนต์เพื่อถมที่ให้สูงขึ้นไปแล้วถึง 4 คันรถบรรทุก ซึ่งก็อาจจะช่วยให้หนีระดับน้ำทะเลที่กำลังเอ่อท่วมตามขึ้นมาได้ชั่วคราว แต่ถึงกระนั้นก็ตาม วินดากลับเจอปัญหาอีกอย่างหนึ่ง

"พื้นยกสูงขึ้น แต่หลังคาบ้านกลับต่ำเตี้ยลงมาทุกที จนฉันจะเอื้อมมือแตะมันได้แล้ว ตอนนี้หลังคาอยู่เหนือหัวเราแค่ครึ่งเมตรเท่านั้น"

BBC

ชาวบ้านอย่างวินดาไม่สามารถแก้ปัญหาใหญ่อย่างเรื่องเมืองทั้งเมืองทรุดจมบาดาลได้ด้วยตนเอง ทั้งยังไม่อาจจะย้ายหนีไปไหนได้ แต่รัฐบาลอินโดนีเซียนั้นตรงกันข้าม โดยเมื่อไม่นานมานี้ทางการได้ประกาศจะย้ายเมืองหลวงไปอยู่ที่จังหวัดกาลิมันตันตะวันออกบนเกาะบอร์เนียว ห่างจากกรุงจาการ์ตาราว 2,000 กิโลเมตร เพื่อหนีสภาพการณ์ในอนาคตที่คาดว่าพื้นที่ชายฝั่ง 95% ของกรุงจาการ์ตาจะต้องจมทะเลในอีก 30 ปีข้างหน้า

Getty Images
จาการ์ตา เป็นเมืองที่กำลังทรุดตัวเร็วที่สุดในโลกแห่งหนึ่ง จากปัญหาระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นและการทรุดตัวของแผ่นดินจากการสูบน้ำบาดาลขึ้นมาใช้

มีการตั้งงบประมาณ 3.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อเนรมิตมหานครแห่งใหม่ขึ้นในพื้นที่ที่ปัจจุบันเป็นสวนปาล์มน้ำมัน ล้อมรอบด้วยพื้นที่ธรรมชาติชุ่มน้ำและป่าเขตร้อน เมืองหลวงแห่งนี้จะเป็นเมืองชายฝั่งขนาดเล็กท่ามกลางเมืองบริวารอีก 5 แห่ง โดยการก่อสร้างระยะแรกถูกกำหนดให้เสร็จสิ้นลงภายในปี 2025

การเลือกทำเลที่ตั้งของเมืองหลวงแห่งใหม่ นับว่าเหมาะสมด้วยเหตุผลทางการเมืองและเศรษฐกิจ เนื่องจากเกาะบอร์เนียวนั้นอยู่ใกล้กับจุดศูนย์กลางของประเทศ ซึ่งเป็นหมู่เกาะน้อยใหญ่กระจายตัวอยู่ห่างกัน

อย่างไรก็ตาม เกาะบอร์เนียวนั้นเป็นที่ตั้งของป่าแห่งสำคัญของโลก อุดมไปด้วยสัตว์ป่าและมีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลกด้วย แม้บรรดาผู้นำของอินโดนีเซียจะให้คำมั่นว่า การสร้างเมืองหลวงใหม่ในครั้งนี้จะพยายามรักษาสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติเอาไว้ให้ได้มากที่สุด โดยใช้หลักการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน แต่นักเหล่านักอนุรักษ์ก็ยังคงเกรงว่าโครงการใหญ่ดังกล่าวจะก่อให้เกิดผลกระทบที่เสียหายร้ายแรงขึ้น

สร้างเมืองที่กลมกลืนกับธรรมชาติ

ทีมสถาปนิก "เออร์แบนพลัส" (Urban+) ซึ่งได้รับคัดเลือกจากทางการให้เป็นผู้ออกแบบสร้างเมืองหลวงใหม่ระบุว่า พวกเขามุ่งจะทำงานให้สอดคล้องกับสภาพของธรรมชาติที่เป็นอยู่ โดยจะไม่จงใจฝืนหรือต่อต้าน

"เราได้โอกาสอันเหลือเชื่อในการสร้างทุกสิ่งจากศูนย์และเริ่มต้นทุกอย่างกันใหม่ทั้งหมด เราจึงสามารถจะออกแบบเมืองที่ใกล้เคียงกับอุดมคติได้มากกว่าเมืองที่มีอยู่ในปัจจุบัน" โซเฟียน สิบารานี หัวหน้าสถาปนิกของเออร์แบน พลัสกล่าว

BBC
โซเฟียน สิบารานี หัวหน้าสถาปนิกของเออร์แบน พลัส ได้รับคัดเลือกจากทางการให้เป็นผู้ออกแบบสร้างเมืองหลวงใหม่

ตามแผนการที่พวกเขาวางไว้ 70% ของพื้นที่เมืองใหม่ 2,500 ตารางกิโลเมตรจะเป็นพื้นที่สีเขียว ส่วนในพื้นที่ก่อสร้างจะมีการจัดตั้งสถาบันเพื่อการปลูกป่าและสวนพฤกษศาสตร์รวมอยู่ด้วย

เมืองหลวงของอินโดนีเซียแห่งใหม่จะมีขนาดย่อม จนผู้คนสามารถเดินเท้าไปยังจุดสำคัญต่าง ๆ ของเมืองได้ และมีส่วนที่จัดให้เป็นถนนคนเดินโดยเฉพาะ ส่วนบริเวณที่ต้องใช้ระบบขนส่งสาธารณะนั้น จะจัดให้ใช้พาหนะที่ขับเคลื่อนด้วยพลังไฟฟ้าทั้งหมด

BBC

เมืองบริวารทั้ง 5 แห่งที่ล้อมรอบเมืองหลวงใหม่ จะถูกแยกออกจากกันด้วยแนวพื้นที่สีเขียว ซึ่งใช้เป็นแถบกั้นอาณาเขตของแต่ละเมืองไม่ให้ขยายเติบโตเข้ามารุกล้ำกันในอนาคต เนื่องจากเคยมีบทเรียนจากปัญหาของกรุงจาการ์ตามาแล้วว่า เมืองรอบนอกที่ขยายตัวอย่างไร้การควบคุม ทำให้เกิดปัญหาผังเมืองและการใช้ทรัพยากรในเขตเมืองหลวงขึ้นได้ เช่นประชากรที่เพิ่มขึ้นไม่สามารถเข้าถึงน้ำประปา ทำให้มีการขุดเจาะน้ำบาดาลกันเองขนานใหญ่ จนยิ่งทำให้ผิวดินทรุดตัวจมลงเร็วยิ่งขึ้น

BBC

ทีมสถาปนิกของสิบารานีมองว่าเมืองเช่นนี้ขาดความสมดุลกับธรรมชาติ พวกเขาจึงเลือกใช้แนวทางการออกแบบเมืองหลวงแห่งใหม่ที่เรียกว่า "การเลียนแบบทางชีวภาพ" (Biomimicry) ซึ่งก็คือการเรียนรู้และจากสิ่งแวดล้อมรอบข้างแล้วนำมาประยุกต์ใช้ให้สอดคล้องต้องกัน โดยในแผนสร้างเมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซีย พวกเขาได้แรงบันดาลใจจากโครงสร้าง 4 ชั้นของป่าฝน ซึ่งแต่ละชั้นแบ่งตามชนิดพืชพรรณและระดับความสูงของต้นไม้

BBC

เนรมิตเมืองที่ยั่งยืนกลางป่าทำได้จริงหรือ

ริตา ปาดาวันกี ผู้เชี่ยวชาญการวางแผนพัฒนาเมืองชาวอินโดนีเซียที่มหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์แห่งสิงคโปร์แสดงความเห็นว่า แผนการออกแบบเมืองหลวงใหม่ทดแทนกรุงจาการ์ตา โดยยึดหลักการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมนั้นถือว่าดำเนินมาถูกทางแล้ว แต่ทว่า "อย่างไรเสียเราก็ไม่อาจหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อธรรมชาติ โดยต้องมีการทิ้งร่องรอยต่าง ๆ จากการดัดแปลงพื้นที่สีเขียวให้เป็นเมือง หรือทำผืนดินที่ไม่เคยมีการก่อสร้างให้เกิดสิ่งก่อสร้างขึ้น"

"โครงการนี้ยังไม่ผ่านขั้นตอนการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มันดูดีเมื่อถูกเขียนอยู่บนกระดาษ แต่เราก็รู้กันอยู่แล้วว่า รัฐบาลอินโดนีเซียมีประวัติไม่ค่อยดีนักในเรื่องการดำเนินงานให้ได้ตรงตามแผนที่วางไว้"

นอกจากนี้แผนการ "เมืองสีเขียว" ของทางการอินโดนีเซียยังถูกตั้งคำถาม เมื่อองค์การผลิตไฟฟ้าของรัฐแถลงว่า แหล่งพลังงานที่จะป้อนให้กับเมืองหลวงใหม่ จะได้มาจากการก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังน้ำถึง 3 แห่ง รวมทั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินอีก 3 แห่งในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก

BBC
การทำเหมืองในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออกสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก

อุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินในจังหวัดนี้เฟื่องฟูอย่างมาก โดยมีผู้ได้รับใบอนุญาตให้ทำเหมืองถ่านหินได้อย่างน้อย 1,434 ราย ครอบคลุมพื้นที่กว่า 50,000 ตร.กม. ซึ่งกว้างใหญ่กว่าประเทศเบลเยียมเสียอีก และที่สำคัญอุตสาหกรรมนี้ได้สร้างผลกระทบทางสังคมและสิ่งแวดล้อมให้กับคนในพื้นที่อยู่ก่อนแล้ว

การ์ดีเป็นชาวบ้านคนหนึ่งที่ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ที่จังหวัดกาลิมันตันตะวันออกในยุคทศวรรษ 1970 ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการลดความแออัดของประชากรบนเกาะชวา อุตสาหกรรมเหมืองถ่านหินทำให้พื้นที่ทุรกันดารห่างไกลความเจริญแห่งนี้ค่อย ๆ พัฒนาขึ้น แต่ก็ต้องแลกมาด้วยความสูญเสียอันใหญ่หลวง เมื่อลูกสาววัยสิบขวบของเขาตกลงไปในหลุมเปิดของเหมืองที่มีน้ำขังและจมน้ำเสียชีวิต

BBC
การ์ดีชูรูปถ่ายของลูกสาววัยสิบขวบที่ตกลงไปในหลุมเปิดของเหมืองที่มีน้ำขังและจมน้ำเสียชีวิต

หลุมลึกที่ถูกทิ้งไว้โดยไม่มีการถมกลบตามข้อสัญญาในสัมปทานแบบนี้ มีถึง 1,735 แห่งทั่วจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก ถือเป็นตัวอย่างหนึ่งที่ฟ้องถึงการกอบโกยทรัพยากรธรรมชาติ และการเอารัดเอาเปรียบชุมชนท้องถิ่นโดยนายทุนและเจ้าหน้าที่ของรัฐ

ถึงกระนั้นก็ตาม การ์ดีก็ยังรู้สึกตื่นเต้นที่ทางการจะย้ายเมืองหลวงมายังจังหวัดของเขา "มันคือการเติบโตและอนาคต พื้นที่แถบนี้จะคึกคักมากขึ้น สภาพเศรษฐกิจท้องถิ่นจะดีขึ้น ผู้คนมีงานทำกันมากขึ้น"

ในขณะที่ชนพื้นเมืองเผ่าปาเซอร์อย่าง "ดาห์เลีย" กลับกลัวว่าความเจริญที่กำลังจะมาถึงจะทำลายวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเธอลง "เราจะต้องเตรียมการปกป้องวัฒนธรรมและภาษาของตัวเอง หวังว่าคนที่อพยพมาใหม่จะไม่มาแย่งที่ดินทำกินของพวกเรา ฉันไม่อยากจะไปอาศัยนอนใต้สะพานเหมือนกับคนจนในจาการ์ตา"

BBC
"ดาห์เลีย" กลัวว่าความเจริญที่กำลังจะมาถึงจะทำลายวิถีชีวิตและวัฒนธรรมอันเป็นเอกลักษณ์ของพวกเธอลง

ซูย์กราน อามิน ชนพื้นเมืองเผ่าปาเซอร์อีกผู้หนึ่งกล่าวเสริมว่า ชุมชนของเขามีปัญหากับผู้ทำเหมืองถ่านหินและสวนปาล์มน้ำมัน ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่ทำลายหน้าดินและเร่งการตัดไม้ทำลายป่ามานานแล้ว การสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่นั้นเท่ากับว่าพวกเขาจะต้องเปิดแนวรบเพิ่มเพื่อต่อสู้กับภาครัฐด้วย

"เรารู้มาว่าพวกเขาจะสร้างเมืองที่กลมกลืนกับป่า แต่เราไม่อยากให้พวกเขามาปลูกต้นไม้ต้นใหม่ที่นี่ สิ่งที่เราปรารถนาคือการอนุรักษ์ผืนป่าที่มีอยู่ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยได้ชื่อว่าเป็นปอดของโลก ป่าของเราไม่ควรจะถูกแทนที่ด้วยต้นไม้ของคนเมือง"

BBC
ซูย์กราน อามิน ชี้ว่า การสร้างเมืองหลวงแห่งใหม่เท่ากับว่าพวกเขาจะต้องเปิดแนวรบเพิ่มเพื่อต่อสู้กับภาครัฐด้วย

คำมั่นสัญญาจากรัฐบาล

นายบัมบัง บรอดโจเนโกโร รัฐมนตรีด้านการวางแผนพัฒนาชาติของอินโดนีเซีย ได้นำคณะเจ้าหน้าที่ของรัฐและสื่อมวลชนเข้าเยี่ยมชมพื้นที่ก่อสร้างเมืองหลวงใหม่ ซึ่งบรรดาชนชั้นนำในแวดวงการเมืองการปกครอง รวมทั้งเจ้าหน้าที่ของรัฐจำนวนมากจะต้องโยกย้ายมาปักหลักอยู่อาศัยในสถานที่แห่งนี้ในไม่ช้า เจ้าหน้าที่บางคนแสดงความดีใจที่จะไม่ต้องทนกับสภาพการจราจรติดขัดในกรุงจาการ์ตาอีกต่อไป

นายบรอดโจเนโกโรยืนยันว่า รัฐบาลจะรักษาสัญญาเรื่องการปกป้องผืนป่าที่อยู่ในอาณาเขตของมหานครแห่งใหม่ ทั้งจะเร่งรัดแก้ไขหน้าดินที่เสียหายจากการทำเหมือง และออกเอกสารสิทธิ์ในที่ดินทำกินให้แก่ชนเผ่าพื้นเมืองด้วย

อย่างไรก็ตาม บรรดานักอนุรักษ์ที่ต่อสู้เพื่อแก้ไขประเด็นปัญหาทางสิ่งแวดล้อมมานานปี ต่างไม่สู้จะเชื่อถือคำพูดของรัฐบาลอินโดนีเซียนัก "พวกเขาเคยให้สัญญามาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แต่ก็ปล่อยให้บริษัทเหมืองถ่านหินเข้ามาทำลายหน้าดินและไม่แก้ไขตามสัญญา" เดดี อิราวัน นักอนุรักษ์ท้องถิ่นกล่าว

"รายงานของกลุ่มอนุรักษ์และนักสิทธิมนุษยชนที่ออกเมื่อต้นปีชี้ว่า พวกที่ได้สัมปทานทำเหมืองในจังหวัดกาลิมันตันตะวันออก มีสายสัมพันธ์กับมหาเศรษฐีและนักการเมืองที่ทรงอิทธิพลระดับชาติจำนวนมาก"

BBC
อุรังอุตังเป็นสัตว์ใกล้สูญพันธุ์ที่มีถิ่นที่อยู่อาศัยบนเกาะบอร์เนียว

ด้านดร. จามาร์ติน สิหิเต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของมูลนิธิ BOSF ซึ่งดูแลงานด้านการอนุรักษ์อุรังอุตังบนเกาะบอร์เนียว กล่าวถึงผลกระทบจากการย้ายเมืองหลวงมายังพื้นที่ใกล้ผืนป่า ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่าจำนวนมากด้วยว่า "ถ้าไม่มีการวางแผนที่ดีและขาดการมีส่วนรวมจากประชาชน เมืองหลวงใหม่ก็อาจกลายเป็นจาการ์ตาแห่งที่สอง พวกเขาจะทำผิดซ้ำและทำได้แค่ย้ายปัญหามาไว้ในที่ใหม่เท่านั้น"

"หากไม่คำนึงถึงป่าและใช้ป่าเป็นหัวใจสำคัญของการพัฒนา ก็อย่ามาที่เกาะบอร์เนียวเลยจะดีกว่า"

"หวังว่าการย้ายเมืองหลวงครั้งนี้จะมีผลดีต่อการอนุรักษ์ธรรมชาติอยู่บ้าง นั่นก็คือการโน้มน้าวใจผู้มีอำนาจและบรรดานักการเมืองที่ได้เข้ามาอยู่ในพื้นที่ ให้สามารถมองเห็นปัญหาด้วยตาตนเองว่าไม่ใช่เรื่องไกลตัว เราไม่ต้องเดินทางไปอธิบายให้พวกเขาฟังถึงกรุงจาการ์ตาอีกต่อไป"

ข่าวที่เกี่ยวข้อง