รีเซต

'สเตย์โฮม' ไม่วิวาท ชวนครอบครัวจับมือผ่าวิกฤต ใช้เวลาร่วมกันอย่างไร 'บ้านไม่พัง'

'สเตย์โฮม' ไม่วิวาท ชวนครอบครัวจับมือผ่าวิกฤต ใช้เวลาร่วมกันอย่างไร 'บ้านไม่พัง'
มติชน
14 เมษายน 2563 ( 10:45 )
179

 

ครอบครัว – การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือโควิด-19 ไม่เพียงแต่นำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ และปัญหาเศรษฐกิจ ที่คนทั่วโลกต้องประสบเท่านั้น

แต่ยังนำมาซึ่งปัญหา “ความรุนแรงในครอบครัว” ที่เพิ่มสูงขึ้น หลังแต่ละประเทศมีมาตรการล็อกดาวน์ ห้ามออกจากบ้านในเวลาต่างๆ และสนับสนุนให้ประชาชนทำงานอยู่ที่บ้าน เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ในช่วงเวลาที่คนทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อแล้วนับล้านคน

 

ฝรั่งเศส นับเป็นหนึ่งประเทศ ที่มีตัวเลขของความรุนแรงที่เพิ่มสูงขึ้น หลังจากออกมาตรการล็อกดาวน์ ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา โดยรัฐบาลฝรั่งเศสระบุว่า มีการแจ้งเหตุความรุนแรงในครอบครัว เพิ่มขึ้นร้อยละ 36 ในกรุงปารีส และร้อยละ 32 ในพื้นที่อื่นๆ ทั้งยังมีการฆาตกรรมอยู่ด้วย ทำให้รัฐบาลเร่งเปิดศูนย์ให้คำปรึกษา 20 แห่งในร้านค้าทั่วประเทศ ให้ผู้หญิงขอความช่วยเหลือได้ระหว่างออกมาซื้อของ และใช้เครือข่ายของเภสัชกรในการให้ความช่วยเหลือ โดยมีรหัส “แมสก์ 19” ในการขอความช่วยเหลือ ทั้งยังจ่ายเงินค่าที่พักในโรงแรม ให้เหยื่อความรุนแรงในครอบครัวย้ายมาพักได้ เมื่อถูกคู่ทำร้าย

 

ข้ามไปที่สหราชอาณาจักร ประชาชนได้โทรเข้าไปร้องเรียนเหตุความรุนแรงในบ้าน เพิ่มขึ้น 65% ขณะที่ ประเทศจีน พบว่าภายหลังจากการกักตัวช่วงเกิดโรคระบาด มีอัตราการขอหย่าร้างมากขึ้นถึงร้อยละ 25 ในเซี่ยงไฮ้ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนการระบาด เชื่อว่าอยู่ด้วยกันมากเกินไป จนเกิดปากเสียงเล็กๆ น้อยๆ ลามไปสู่การหย่าร้าง ในเดือนกุมภาพันธ์ เจ้าหน้าที่ตำรวจในมณฑลหูเป่ย์ ได้รับเรื่องร้องเรียนการใช้ความรุนแรงในครอบครัวถึง 162 คดี เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 3 เท่า

 

เดอะ การ์เดี้ยน เผยว่า ในบราซิล พบว่าจำนวนเหตุความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยผู้พิพากษาผู้เชี่ยวชาญด้านความรุนแรงรายหนึ่งในรีโอ เดจาเนโร ระบุว่า น่าจะมีอัตราที่เพิ่มขึ้น 40-50% ด้วยกัน เช่นเดียวกับในไซปรัส ที่มีคนโทรเข้ามาแจ้งเหตุกับสายด่วน เพิ่มขึ้น 30%

 

ในอิตาลีนั้น นักเคลื่อนไหว เปิดเผยว่า แม้สถิติที่โทรมาแจ้งทางสายด่วนจะลดลง แต่พวกเธอก็เปลี่ยนไปใช้การส่งข้อความและอีเมล์แทน หนึ่งในข้อความนั้น บอกว่าเธอกำลังขังตัวเองอยู่ในห้องน้ำในขณะที่มือกดส่งข้อความขอความช่วยเหลือ ส่วนในประเทศสเปนนั้น มีผู้หญิงถูกสามีฆ่าต่อหน้าต่อหน้าลูกๆ ของพวกเขา

 

เช่นเดียวกับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ที่อัตราความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยพบว่าในสิงคโปร์ มีคนโทรเข้ามาร้องเรียนมากขึ้น 33% เมื่อเทียบกับช่วงเดือนกุมภาพันธ์ของปีก่อน ขณะที่ในอินโดนีเซีย สามีได้ใช้กฎหมายข่มขู่ภรรยา หากพวกเธอคิดจะพาลูกๆ หนีออกจากบ้าน

 

ทั้งนี้ สหประชาชาติ ได้ออกมาเตือนว่า ผู้หญิงในประเทศที่ยากจนและที่อยู่ในบ้านที่เล็กกว่า จะมีช่องทางน้อยกว่าในการร้องทุกข์เหตุทารุณ ขณะที่ อันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้ออกมาทวีต แสดงความเป็นห่วงถึงผู้หญิงทั่วโลก ที่ต้องเผชิญกับความรุนแรง ในพื้นที่ที่ควรจะปลอดภัยอย่างในบ้าน และเรียกร้องให้รัฐบาลทั่วโลก ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยกับผู้หญิงระหว่างต้องกักตัว

 

มิใช่ความรุนแรงต่อภรรยาเท่านั้น แต่เด็กๆ ทั่วโลก โดยเฉพาะเด็กผู้หญิง ก็มีความเสี่ยงต่อความรุนแรงเช่นกัน จากข้อมูลของยูนิเซฟ เปิดเผยว่า ในช่วงเวลาที่มีปัญหาด้านสุขภาพ หรือการแพร่ระบาดของโรคต่างๆ ทำให้ตัวเลขของเด็กที่ถูกละเมิดนั้นเพิ่มมากขึ้น เช่น ปี 2014-2016 ซึ่งมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสอีโบลา ในแอฟริกันตะวันตก ทำให้มีปัญหาการละเมิดทางเพศ แรงงานเด็ก และแม่วัยใส โดยในเซียราลีโอน มีวัยรุ่นที่ท้องไม่พร้อมมากถึง 14,000 คน มากกว่าช่วงปกติถึงหนึ่งเท่า

 

ในประเทศไทย เป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีการรณรงค์ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” เพื่อระงับการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสโคโรนา ทำให้ น.ส.อุษณี กังวารจิตต์ อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ออกมาแสดงความเป็นห่วง และขอให้ทุกคนใช้เวลาอยู่ร่วมกันอย่างมีคุณภาพ แนะนำให้ทำกิจกรรมร่วมกัน ลดความเครียด อย่างทำอาหาร ทำดีไอวาย หรือประดิษฐ์สิ่งต่างๆ

 

 

โควิด-เศรษฐกิจฝืด ‘ตัวเร่ง’ ความรุนแรง

เรื่องนี้ จะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ให้ความเห็นว่า แม้ในปัจจุบันนี้ ทางมูลนิธิยังอยู่ในช่วงการเก็บข้อมูล และยังไม่มีสถิติดังกล่าวมากนัก แต่ก็มีแนวโน้มที่จะเกิดความรุนแรงขึ้น เมื่อทุกคนต้องกลับไปอยู่บ้าน และโครงสร้างทางสังคมที่ออกแบบมาให้ผู้หญิง ต้องรับภาระทั้งในบ้านและนอกบ้าน ผู้ชายไม่ได้ถูกฝึกมาให้ทำงานบ้าน อยู่ในสังคมชายเป็นใหญ่ และมีสังคมลูกผู้ชาย จากที่ผ่านมาเราพบการติดเชื้อที่สนามมวย สนามกีฬา บ่อนพนัน ผับ บาร์ ซึ่งมีแนวโน้มนำไปสู่การติดเชื้อมากกว่าหญิง เป็นสิ่งที่ผู้ชายต้องปรับตัวอย่างมาก

 

นอกจากนั้น จะเด็จมองว่า สาเหตุสำคัญของความรุนแรงอีกประการ ก็คือ ความเครียดทางเศรษฐกิจ โดยว่า พอเกิดการล็อกดาวน์ นอกจากจะต้องอยู่ด้วยกันแล้ว ยังมีความเครียดจากเศรษฐกิจ คนตกงาน ไม่มีงานทำ นำไปสู่การกระทบกระทั่งกันได้ บางครั้งผู้หญิงอาจจะเกิดความเครียดเมื่อสามีอยากออกไปมีสังคมข้างนอก ก็กลัวจะนำเชื้อมาติดคนในครอบครัว นำไปสู่การมีปากเสียงกันอีก

 

“ระบบทุนนิยม ได้ดึงคำว่าครอบครัวออกไปนานแล้ว และออกแบบให้ผู้หญิงต้องรับผิดชอบงานทั้งในบ้านและนอกบ้าน ก่อนหน้านี้ ทั้งชายและหญิงก็ต้องทำงานหนัก ไม่มีเวลาคิดในจุดนี้ แต่พอโควิด ต้องอยู่ด้วยกันก็เกิดปัญหาได้ ชายก็คิดว่าไม่ใช่หน้าที่ หญิงก็คิดว่าทำไมไม่ช่วย การอยู่ด้วยกันตลอดเป็นเดือน ก็เกิดความขัดแย้งได้เช่นกัน”

 

“ปัญหานี้ ไม่เหมือนความรุนแรงในช่วงปกติ ที่มีรากฐานจากชายเป็นใหญ่ และมีปัจจัยอื่นๆ เช่น แอลกอฮอล์มากระตุ้น โควิดทำให้เห็นความไม่เท่าเทียมหลายอย่างที่ฝังรากอยู่ในสังคมไทย”

 

แนะ ‘ผู้ชายปรับตัว’

โดยจะเด็จเผยอีกว่า ช่วงเวลาวิกฤตนี้ ถือเป็นโอกาสที่จะได้เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ผู้ชายก็ต้องปรับตัวให้ครอบครัวพ้นวิกฤต ค่อยๆ อดทน ใจเย็น คิดว่างานบ้านไม่ใช่สิ่งที่ทำไม่ได้ ค่อยๆ ปรับตัวไป เพราะที่ผ่านมาส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงที่ต้องอดทนเพราะคิดถึงลูก อาจจะผลัดกัน วันนี้ภรรยาทำกับข้าว สามีไปล้างจาน ผู้หญิงก็ต้องให้กำลังใจสามีในการเริ่มทำอะไรใหม่ๆ แต่หากมีความรุนแรงเกิดขึ้นแล้วนั้น ผู้หญิงต้องกล้าที่จะร้องเรียน อย่าปล่อยให้ลุกลามไปมากกว่านี้ ใช้กลไกของกฎหมายเข้าช่วย

 

“สิ่งสำคัญคือรัฐบาลต้องมีมาตรการ เยียวยาคนที่ตกงาน เพราะปัญหาไม่ได้แก้เพียงแค่ให้เงินแล้วจบ แต่ยังมีปัญหาสังคมอีกมากที่จะตามมา ซึ่งปัญหาความรุนแรงนี้ ลุกลามไปสู่ครอบครัวที่แตกแยก ภาครัฐต้องเตรียมพร้อม ช่องทางร้องทุกข์ต่างๆ ของผู้หญิงต้องทำงานอย่างเต็มที่”

 

“ปัญหาวิกฤตนี้ ต้องเรียนรู้ ทำความเข้าใจดีที่สุด” จะเด็จทิ้งท้าย

 

ห่วงความรุนแรงทางเพศ-เด็ก-ผู้สูงอายุ

ด้าน วราภรณ์ แช่มสนิท ผู้จัดการแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ มองว่า จากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลกนี้ แม้ว่าไทยจะยังไม่มีระบบการจัดเก็บข้อมูลที่ชัดเจน แต่มีการคาดการณ์ว่าสถานการณ์มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ทั้งความรุนแรงในชีวิตคู่ สามี ภรรยา และเด็ก รวมไปถึงกลุ่มคนเปราะบางอื่นๆ อย่าง ผู้สูงอายุ แต่ก่อนหากมีการกระทบกระทั่งกัน หรือเสี่ยงต่อการใช้ความรุนแรง ยังสามารถแจ้งไปยังหน่วยงานต่างๆ เช่น ศูนย์พึ่งได้ หรือศูนย์โอเอสซีซี ตามโรงพยาบาลต่างๆ แต่ตอนนี้ไม่สามารถใช้ข้ออ้างว่าป่วยในการออกไปแจ้งกับเจ้าหน้าที่ได้ ทำให้ช่องทางแคบลง และก็ไม่สามารถออกไปไหนได้ นอกจากนี้ ความสนใจของสังคม ทั้งเจ้าหน้าที่ ภาครัฐ ไปจนถึงสื่อมวลชน ก็พุ่งไปที่สถานการณ์โควิดกันทั้งหมด

 

“ความรุนแรงในครอบครัวนั้น อาจเกิดขึ้นได้หลายรูปแบบ ที่ชัดเจนอย่างการทำร้ายร่างกาย ก็มีโอกาสเกิดได้มาก ไปจนถึงความรุนแรงด้านจิตใจ ด่าทอ ดูถูกดูแคลน ทำให้รู้สึกด้อยค่า เกิดได้ทั้งผู้ใหญ่ เด็ก และผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ยังเสี่ยงต่อการเกิดความรุนแรงทางเพศ เมื่อต้องอาศัยอยู่ชายคาเดียวกันในพื้นที่จำกัด ยิ่งกลุ่มคนมีรายได้น้อยและไม่มีบ้านช่องที่เป็นสัดส่วน ก็มีโอกาสเสี่ยงจะเกิดความรุนแรงทางเพศ”

 

วราภรณ์เผยอีกว่า “ปกติแล้ว เมื่อเด็กๆ ไปโรงเรียนครูอาจช่วยดูแลเมื่อเด็กมีความผิดปกติ แต่เมื่อปิดโรงเรียน เด็กก็ไม่มีช่องทางที่จะบอกใครเมื่อเกิดปัญหารุนแรง รวมไปถึงผู้สูงอายุ ที่ก่อนหน้านี้มีปัญหาต่อการถูกทอดทิ้ง เนื่องจากครอบครัวไปทำงานในพื้นที่อื่น ช่วงเวลานี้ ที่กลุ่ม อสม.ซึ่งเคยดูแลต้องทุ่มกำลังไปทำงานเพื่อต้านโควิด ย่อมเป็นสิ่งที่น่าเป็นห่วง”

 

“สิ่งสำคัญอีกเรื่องหนึ่งคือปัญหาเศรษฐกิจ ทำให้เกิดความเครียดในครอบครัว ถือเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญต่อการเกิดความรุนแรง”

 

 

แจ้งโรงพยาบาล หรือ 1300 ขอความช่วยเหลือ

และอาจเป็นการยากสำหรับผู้หญิง ที่จะต้องขอความช่วยเหลือ ในช่วงเวลาที่ยังต้องเผชิญกับผู้ที่ใช้ความรุนแรงอยู่ภายในบ้าน วราภรณ์แนะนำว่า ในภาวะวิกฤตเช่นนี้ ให้โทร 1300 ซึ่งรับแจ้งเหตุเหล่านี้ หรือลองโทรศัพท์ไปเบอร์ของ รพ.ต่างๆ เพื่อขอความช่วยเหลือ เพราะในประเทศไทยยังมีช่องทางไม่มากพอเหมือนในต่างประเทศ เช่นที่ฝรั่งเศส ซึ่งใช้เครือข่ายของเภสัชกรในการรับเรื่องราวร้องทุกข์ หรือใช้รหัสแทน เมื่อผู้กระทำติดตามมาด้วย

 

ส่วนคำแนะนำของกลุ่มต่างๆ ที่ออกเสนอให้ครอบครัวใช้เวลาอยู่ร่วมกัน เพื่อกระชับความสัมพันธ์ลดความขัดแย้งนั้น วราภรณ์มองว่า ช่วงเวลานี้ปัญหาไม่ได้อยู่ที่การไม่มีการใช้เวลาร่วมกัน แต่เป็นเพราะถูกบีบให้ใช้เวลาร่วมกันมากเกินไป แม้จะไม่ต้องการ หรือมีความเสี่ยงก็ตาม วิธีนี้สามารถใช้ได้ในครอบครัวที่มีความสัมพันธ์ที่ดี แต่ในครอบครัวที่มีปัญหาอยู่แล้ว หรือมีการใช้อำนาจเหนือ การกดขี่ สิ่งนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหา ภาครัฐควรออกมาพูดว่าครอบครัวที่เสี่ยง สามารถขอความช่วยเหลือจากเราได้

 

“ในครอบครัวที่อาจจะไม่ได้มีพื้นฐานของความขัดแย้ง หรือความรุนแรงมาก่อน เมื่อมาเจอสถานการณ์ที่บีบคั้นจนอาจนำไปสู่ความรุนแรงนั้น อาจจะต้องหาเวลา หรือจังหวะหลบหลีกการปะทะ ดูไปตามสถานการณ์และประเมินเหตุ เพราะต่างคนก็ต่างมีความเครียด สิ่งสำคัญคือเด็กๆ เพราะเขาเองก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมเขาออกจากบ้านไม่ได้ และก็มีความกังวลของเขาเองด้วยเช่นกัน”

 

วราภรณ์ทิ้งท้ายว่า หลังจากจบสถานการณ์โควิด เราอาจเห็นปัญหาสังคมที่ตามมามากมาย เพราะรัฐเองได้ทุ่มทรัพยากรทั้งหมดไปกับการแก้ปัญหาโควิด จึงอยากให้รัฐมีการดูแลในเรื่องนี้ อย่างในสหรัฐอเมริกา มีมาตรการช่วยเหลือทางเศรษฐกิจออกมา ช่วยคนที่ต้องถูกจำกัดอยู่ในบ้าน เขาได้ผ่านงบประมาณส่วนหนึ่งเพื่อสนับสนุนองค์กรเอกชน เพื่อช่วยเหลือปัญหาสังคม เพิ่มช่องทางในการให้บริการให้ง่ายขึ้น ไม่ใช่แค่ต้องติดต่อไปคุยที่สำนักงาน ก็อยากให้รัฐเองให้ความสำคัญในเรื่องนี้ด้วย

 

ไม่ชินอยู่ด้วยตลอด ให้ ‘ปรับตัว-รับฟัง’

ในมุมมองของนักจิตวิทยา นพ.วรตม์ โชติพิทยสุมนฑ์ โฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เห็นว่าช่วงเวลานี้ เป็นโอกาสให้ทุกคนได้ทบทวนตัวเองได้

 

นพ.วรตม์เผยว่า นับแต่การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 นั้น มีประชาชนโทรเข้ามาปรึกษาผ่านสายด่วนกรมสุขภาพจิต ในเรื่องความเครียด ความวิตกกังวล จำนวนมาก อย่างไรก็ตาม เรื่องการทะเลาะเบาะแว้ง หรือปัญหาในครอบครัว เป็นเรื่องที่มีการปรึกษาเข้ามาเป็นประจำอยู่แล้ว

 

โฆษกกรมสุขภาพจิตเผยอีกว่า ในช่วงเวลาที่แต่ละคนต้องมาใช้ชีวิตร่วมกัน แต่ละคนอาจไม่ชินกับการที่ต้องอยู่ด้วยกันตลอดเวลา สิ่งสำคัญคือการปรับตัว และรับฟัง จากที่แต่ก่อน แต่ละคนมีเวลาไม่มาก ก็จะพูดในสิ่งที่อยากจะพูด สิ่งที่รู้สึกและความเดือดร้อนของตัวเอง กลายเป็นไม่ฟังกัน เป็นบ่อเกิดของการทะเลาะเบาะแว้ง แต่เมื่อมีเวลามากขึ้นแล้วเราควรต้องเปลี่ยนเป็นผู้รับฟังที่ดี เริ่มจากฟังเขา เพื่อให้เกิดความเห็นอกเห็นใจ และเกิดความสัมพันธ์ที่ดี

 

“ที่สำคัญคือต้องดูสติตัวเอง จากแต่ก่อนอาจจะไม่มีเวลาดูตัวเองว่า เมื่อเราโกรธ เรามีพฤติกรรมอย่างไร เสี่ยงต่อความรุนแรงแค่ไหน ช่วงเวลานี้ก็ควรจะมีสติดูตัวเอง เพื่อป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดความรุนแรงต่อผู้อื่น เมื่อรู้ตัวตลอดเวลา ก็จะทำให้โอกาสการเกิดความรุนแรงนั้นน้อยลง”

 

‘หาพื้นที่ส่วนตัว’ บรรยากาศตึงเครียด

แต่หากใกล้จะเกิดความรุนแรงขึ้นแล้วนั้น นพ.วรตม์แนะนำให้หาพื้นที่ส่วนตัวระหว่างกัน พักไปมีช่วงเวลาผ่อนคลายของตัวเอง เพื่อจัดการอารมณ์ ซึ่งแต่ละคนมีกิจกรรมแตกต่างกัน เช่น การวาดรูป ฟังเพลง ดูหนัง เพื่อทำให้จิตใจเย็นลง ชอบสิ่งไหนทำสิ่งนั้นเพื่อควบคุมอารมณ์ตนเอง

 

“ในชีวิตคู่นั้น อาจเกิดปัญหาได้ 108 อย่าง บางครอบครัวก็ชอบยกปัญหาเก่าๆ เข้ามาพูด ในช่วงเวลาแบบนี้เป็นเรื่องไม่จำเป็นเลย ควรเปลี่ยนความคิดว่า เราจะสร้างความสุขด้วยกันอย่างไร เพราะเราหลีกเลี่ยงการอยู่ด้วยกันไม่ได้อยู่แล้ว จะเลือกมีความสุขในสถานการณ์แบบนี้ หรือจะทุกข์ไปตลอด”

 

“สิ่งสำคัญคือการเป็นแบบอย่างให้กับลูก หากพ่อแม่แสดงความรุนแรง พูดจาไม่ดีต่อกัน ลูกก็จะเรียนรู้และกระทำตาม แต่หากพ่อแม่พูดจากันดีๆ ถ้อยทีถ้อยอาศัย ในช่วงเวลาเช่นนี้ จากที่เคยก้าวร้าว ลูกอาจจะเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นคนดีเลยก็ได้ หันมาน่ารัก สุภาพ มอบความรักให้กับคนอื่นได้ นอกจากนี้ ยังไม่ควรละเลยผู้สูงอายุ ในช่วงเวลาที่ไม่สามารถไปมาหาสู่กันได้ ก็ใช้เทคโนโลยีต่างๆ เข้าช่วย ส่งกำลังใจผ่านช่องทางออนไลน์ได้”

 

กระชับความรักในครอบครัว

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง