จีนเปิดตัวชิปควอนตัมตัวนำยิ่งยวด 'ขนาด 504 คิวบิต' ให้ทั่วโลกใช้งานได้
(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้เยี่ยมชมถ่ายภาพแบบจำลองต้นแบบของคอมพิวเตอร์ควอนตัม "จิ่วจาง" ที่มหกรรมการแสดงความสำเร็จด้านนวัตกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีน (อันฮุย) ครั้งที่ 2 ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองเหอเฝย มณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีน วันที่ 26 เม.ย. 2023)
เหอเฝย, 28 เม.ย. (ซินหัว) -- วันพฤหัสบดี (25 เม.ย.) ควอนตัมซีเทก (QuantumCTek Co., Ltd.) บริษัทควอนตัมชั้นนำในมณฑลอันฮุยทางตะวันออกของจีนระบุว่า ศูนย์ความเป็นเลิศด้านข้อมูลควอนตัมและฟิสิกส์ควอนตัม สังกัดสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์ (CAS) ของจีน ได้ส่งมอบชิปประมวลผลควอนตัมตัวนำยิ่งยวดขนาด 504 คิวบิต ให้กับควอนตัมซีเทก นับเป็นการสร้างสถิติใหม่ให้กับขนาดคิวบิตของชิปควอนตัมตัวนำยิ่งยวดของจีน
ควอนตัมซีเทกกล่าวว่า ชิปดังกล่าวซึ่งมีชื่อว่าเซียวหง (Xiaohong) จะใช้เพื่อตรวจสอบและควบคุมระบบการวัดกิโลกรัม-คิวบิต ที่บริษัทพัฒนาขึ้นเองโดยอิสระ
รองศาสตราจารย์เหลียงฝูเถียน ประจำศูนย์ฯ กล่าวว่าระบบการวัดและควบคุมและชิปประมวลผลควอนตัมเป็นฮาร์ดแวร์ที่เป็นหัวใจสำคัญของคอมพิวเตอร์ควอนตัม โดยระบบการวัดและควบคุมจะมีอิทธิพลอย่างมากต่อประสิทธิภาพโดยรวมของคอมพิวเตอร์ควอนตัม
เหลียงกล่าวว่า เป็นที่คาดว่าตัวชี้วัดสำคัญของชิปรุ่นนี้ ซึ่งประกอบด้วยอายุการใช้งานของคิวบิต ความแม่นยำของเกต (gate) และความลึกของวงจรควอนตัม จะแตะถึงระดับประสิทธิภาพชิปของแพลตฟอร์มประมวลผลควอนตัมหลักๆ ระดับสากล อย่างเช่นแพลตฟอร์มควอนตัมของไอบีเอ็ม (IBM)
กงหมิง นักวิจัยประจำศูนย์ฯ กล่าวว่าจุดประสงค์หลักของชิปรุ่นนี้คือส่งเสริมการพัฒนาระบบมาตรวัดและการควบคุมคอมพิวเตอร์ควอนตัมขนาดใหญ่ แทนการมุ่งเป้าไปที่พลังการประมวลผลที่สูงขึ้นและอำนาจสูงสุดของควอนตัม (Quantum Supremacy)
"จิ่วจาง 2.0" คอมพิวเตอร์ควอนตัมซึ่งสามารถตรวจจับโฟตอนหรืออนุภาคของแสงได้สูงสุดถึง 113 โฟตอน และ "จู่ชงจือ 2.1" ระบบคอมพิวเตอร์ควอนตัมตัวนำยิ่งยวดแบบตั้งโปรแกรมได้ ขนาด 66 คิวบิต ที่พัฒนาโดยนักวิทยาศาสตร์ชาวจีนเมื่อปี 2021 ทำให้จีนกลายเป็นประเทศเดียวที่มีความได้เปรียบด้านการคำนวณเชิงควอนตัมผ่านแนวทางเทคนิคหลักสองทาง ได้แก่ ควอนตัมโดยใช้แสงหรือโฟโตนิกส์ (photonics quantum) และควอนตัมตัวนำยิ่งยวด (Superconducting Quantum Computer)
หวังเจิ้น รองผู้จัดการใหญ่ของไชน่า เทเลคอม ควอนตัม กรุ๊ป (China Telecom Quantum Group) บริษัทคอมพิวเตอร์ควอนตัมที่ลงทุนโดยกลุ่มบริษัทไชน่าเทเลคอม (China Telecom) วิสาหกิจด้านโทรคมนาคมขนาดใหญ่ของจีน กล่าวว่าบริษัทฯ จะร่วมมือกับควอนตัมซีเทกเพื่อพัฒนาควอนตัมคอมพิวเตอร์ด้วยชิป "เซียวหง" รุ่นใหม่นี้ ซึ่งผู้ใช้ทั่วโลกจะสามารถเข้าถึงได้ ผ่านแพลตฟอร์มคลาวด์คอมพิวเตอร์ควอนตัมที่พัฒนาขึ้นโดยไชน่า เทเลคอม ควอนตัม กรุ๊ป
หวังเจิ้นทิ้งท้ายว่าแพลตฟอร์มดังกล่าวจะช่วยให้ผู้ใช้งานในสาขาต่างๆ สามารถทำการวิจัยเกี่ยวกับปัญหาและอัลกอริธึมของข้อมูลที่เป็นประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเร่งการนำคอมพิวเตอร์ควอนตัมไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์จริง