“เงินสงเคราะห์บุตร” รัฐเริ่มจ่าย อัตราใหม่ 1,000 บาท มีผลย้อนหลังม.ค. 68

“เงินสงเคราะห์บุตร” รัฐบาลประกาศจ่ายอัตราใหม่ 1,000 บาท ให้ผู้ประกันตนม. 33 - ม.39 มีผลย้อนหลังม.ค. 68
รัฐบาลประกาศเริ่มจ่ายเงินสงเคราะห์บุตรอัตราใหม่แก่ผู้ประกันตนตามมาตรา 33 และ 39 อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่วันที่ 30 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งมีผลย้อนหลังตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป โดยปรับเพิ่มจากเดิม 800 บาท เป็น 1,000 บาทต่อเดือนต่อบุตรหนึ่งคนครอบคลุมเด็กอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 6 ขวบ และได้รับสูงสุดคราวละไม่เกิน 3 คน
นางสาวศศิกานต์ วัฒนะจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุว่า มาตรการดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายรัฐบาลในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน ลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกันตน และส่งเสริมให้เกิดการมีบุตรในช่วงที่ประเทศไทยกำลังเผชิญปัญหาอัตราการเกิดลดลง และประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้น
รายละเอียดการจ่ายเงินสงเคราะห์บุตร (ย้อนหลัง)
เงินสงเคราะห์บุตรจะโอนเข้าบัญชีธนาคารของผู้ประกันตน ทุกสิ้นเดือน โดยเป็นการจ่ายย้อนหลังตามหลักเกณฑ์ ดังนี้:
- สิทธิในเดือนมกราคม จะได้รับเงินในเดือนเมษายน
- สิทธิในเดือนกุมภาพันธ์ จะได้รับเงินในเดือนพฤษภาคม
- สิทธิในเดือนมีนาคม จะได้รับเงินในเดือนมิถุนายน
- สิทธิในเดือนเมษายน จะได้รับเงินในเดือนกรกฎาคม
- สิทธิในเดือนพฤษภาคม จะได้รับเงินในเดือนสิงหาคม
- สิทธิในเดือนมิถุนายน จะได้รับเงินในเดือนกันยายน
- สิทธิในเดือนกรกฎาคม จะได้รับเงินในเดือนตุลาคม
- สิทธิในเดือนสิงหาคม จะได้รับเงินในเดือนพฤศจิกายน
- สิทธิในเดือนกันยายน จะได้รับเงินในเดือน ธันวาคม
- สิทธิในเดือนตุลาคม จะได้รับเงินในเดือนมกราคม (ปีถัดไป)
- สิทธิในเดือนพฤศจิกายน จะได้รับเงินในเดือนกุมภาพันธ์ (ปีถัดไป)
- สิทธิในเดือนธันวาคม จะได้รับเงินในเดือนมีนาคม (ปีถัดไป)
เงื่อนไขและขั้นตอนการขอรับเงินสงเคราะห์บุตรจากประกันสังคม
เงื่อนไขผู้มีสิทธิ
- เป็นผู้ประกันตน มาตรา 33 หรือ มาตรา 39
- จ่ายเงินสมทบไม่น้อยกว่า 12 เดือน ภายใน 36 เดือนก่อนเดือนที่มีสิทธิ
- บุตรต้องเป็นบุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย (ไม่รวมบุตรบุญธรรม หรือบุตรที่ยกให้บุคคลอื่น)
- รับสิทธิได้ตั้งแต่บุตรแรกเกิดถึงอายุ 6 ปีบริบูรณ์ (สูงสุดไม่เกิน 3 คน)
หมดสิทธิเมื่อ
บุตรอายุครบ 6 ปี, บุตรเสียชีวิต, บุตรถูกยกให้ผู้อื่น หรือสิ้นสภาพการเป็นผู้ประกันตน
เอกสารที่ต้องใช้
1.แบบคำขอ สปส. 2-01
2.สำเนาสูติบัตรบุตร (แนบทุกคน หากยื่นหลายคนพร้อมกัน)
3.เอกสารยืนยันความเป็นบิดา (กรณีผู้ประกันตนชาย) เช่น ทะเบียนสมรส ทะเบียนหย่า หรือคำพิพากษาศาล
4.สำเนาสมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร (เฉพาะ 11 ธนาคารที่รองรับ)
5.เอกสารอื่น เช่น ใบเปลี่ยนชื่อ-สกุล, หนังสือเดินทาง (กรณีต่างชาติ)
6.เอกสารภาษาอื่นต้องแปลเป็นภาษาไทยและรับรองความถูกต้อง
7.สำเนาทุกฉบับต้องรับรองความถูกต้อง และแสดงต้นฉบับเมื่อเจ้าหน้าที่ขอตรวจสอบ
ขั้นตอนการยื่นคำขอ
- กรอกแบบฟอร์ม สปส. 2-01 และลงนาม
- ยื่นที่สำนักงานประกันสังคมใกล้บ้าน (เว้นสำนักงานใหญ่กระทรวงสาธารณสุข) หรือยื่นทางไปรษณีย์
- หากยื่นสำหรับบุตรหลายคน (ไม่เกิน 3 คน) ใช้แบบคำขอชุดเดียวได้
- เมื่อพิจารณาอนุมัติแล้ว สำนักงานประกันสังคมจะโอนเงินเข้าบัญชีธนาคารของผู้ยื่นแบบรายเดือน
ช่องทางสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิเงินสงเคราะห์บุตรได้ผ่าน:
เพจ Facebook: สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน
เว็บไซต์: www.sso.go.th