จีนพัฒนาหอคอยตะเกียบจับจรวดขนส่งอวกาศคล้าย SpaceX
เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมาบริษัท คอสโมลีป (Cosmoleap) ประเทศจีนประสบความสำเร็จในการระดมทุน 100 ล้านหยวน หรือราว 460 ล้านบาท สำหรับพัฒนาจรวดเยว่เชียน (Yueqian) ที่สามารถลงจอดบนหอคอยตะเกียบขนาดใหญ่ ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับการทำงานของจรวดขนส่งอวกาศสตาร์ชิป (Starship) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) จากประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยมีบริษัท เชนเนอร์จี เฉิงอี้ (Shenergy Chengyi) รัฐวิสาหกิจที่มีฐานอยู่ในเมืองเซี่ยงไฮ้, บริษัท เถี่ยนชวง แคปิตอล (Tiangchuang Capital) ซึ่งเป็นบริษัทลงทุนที่เน้นด้านเทคโนโลยีเกิดใหม่, บริษัทเงินทุน ไป่หยาน (Baiyan Fund) ,บริษัทเงินทุน เลเจนด์ แคปิตอล (Legend Capital) ที่สนับสนุนความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และนักลงทุนรายใหญ่ จาง เฉา (Zhang Chao) เข้าร่วมในการระดมทุน
เป้าหมายของบริษัท คอสโมลีป (Cosmoleap) คือ การมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีจรวดขนส่งอวกาศและยานอวกาศต้นทุนต่ำที่มีความน่าเชื่อถือสูง รวมไปถึงสามารถเดินทางกลับโลกเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ โดยมีภารกิจหลักในการสนับสนุนการปล่อยดาวเทียมเพื่อสร้างเครือข่ายอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมขนาดใหญ่ของประเทศจีน
จรวดเยว่เชียน (Yueqian) เป็นจรวดเชื้อเพลิงเหลวโครงสร้างมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 เมตร และมีความสูง 75 เมตร สามารถบรรทุกดาวเทียมหรือยานอวกาศน้ำหนัก 10 ตัน ขึ้นสู่วงโคจรของโลกระดับความสูง 1,000 กิโลเมตร ซึ่งมีขนาดเล็กเมื่อเทียบกับจรวดซูเปอร์เฮฟวี (Super Heavy) ของบริษัท สเปซเอ็กซ์ (SpaceX) ที่มีเส้นผ่านศูนย์กลาง 9 เมตร อย่างไรก็ตาม บริษัท คอสโมลีป (Cosmoleap) มีแผนพัฒนาจรวดรุ่นใหม่ที่มีความยาวมากถึง 126 เมตร และขนส่งดาวเทียมและยานอวกาศน้ำหนัก 100 ตัน ให้ได้ภายในปี 2030
สำหรับการทดสอบจรวดเยว่เชียน (Yueqian) คาดว่าจะมีขึ้นในปี 2025 โดยการทดสอบจะมีขึ้นประมาณ 3 ปี ก่อนนำมาใช้ขนส่งดาวเทียมและยานอวกาศเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ระบุรายละเอียดว่าการทดสอบดังกล่าวจะมีการทดสอบหอคอยตะเกียบรวมอยู่ด้วยหรือไม่
ปัจจุบันบริษัทเทคโนโลยีอวกาศในจีนพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีหลายบริษัทที่กำลังพัฒนาเทคโนโลยีจรวดรูปแบบต่าง ๆ เช่น Landspace, Galactic Energy, Space Pioneer, iSpace และ Deep Blue Aerospace เป็นต้น รวมถึงบริษัทแยกย่อยที่เป็นของรัฐบาล อย่างเช่น CAS Space และ Expace รวมไปถึงจรวด Long March ที่กำลังถูกพัฒนาให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้โดย CASC หรือ บริษัทวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศแห่งประเทศจีน
ที่มาของข้อมูล Spacenews
ที่มาของรูปภาพ Cosmoleap