รีเซต

ญี่ปุ่นทำได้ (ไง) พลิกสถานการณ์โควิด-19 แบบพลิกฝ่ามือ

ญี่ปุ่นทำได้ (ไง) พลิกสถานการณ์โควิด-19 แบบพลิกฝ่ามือ
TNN ช่อง16
19 ตุลาคม 2564 ( 10:18 )
33
ญี่ปุ่นทำได้ (ไง) พลิกสถานการณ์โควิด-19 แบบพลิกฝ่ามือ

จากที่ญี่ปุ่นซี่งมีประชากรหนาแน่นมาก เคยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ต่อวันถึง 20,000 คน ตัวเลขล่าสุดในวันจันทร์ (18 ตุลคม) อยู่ที่ 429 คน เฉพาะในกรุงโตเกียว จากที่เคยติดเชื้อวันละหลายพัน ช่วงพีคสูงสุดกลางเดือนสิงหาคม มีผู้ติดเชื้อมากกว่าวันละ 6,000 คน


แต่วันอาทิตย์ที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อเพียง 40 คน ส่วนในวันจันทร์ (18 ตุลาคม) มีผู้ติดเชื้อเพียง 29 คนเท่านั้น เป็นตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำที่สุดของปีนี้ และเป็นตัวเลขหลักสิบมานาน 10 วันแล้ว โดยยอดผู้ติดเชื้อสะสมทั่วประเทศขณะนี้ อยู่ที่กว่า 1.71 ล้านคน และเสียชีวิตสะสมราว 18,000 คน


◾◾◾

🔴 ผู้คนกลับไปใช้ชีวิตเกือบเหมือนปกติ


ขณะที่ผู้คนสามารถใช้ชีวิตได้ค่อนข้างเป็นปกติ ร้านอาหารปิ้งย่าง ผับบาร์คาราโอเกะเปิดให้บริการ ลูกค้าเข้าไปดื่มกินยามค่ำคืนคับคั่งแทบเหมือนปกติ ส่วนบริการขนส่งสาธารณะก็มีคนใช้บริการแน่นขนัด สร้างความประหลาดใจว่า จำนวนผู้ติดเชื้อลดลงอย่างฮวบฮาบได้อย่างไร ในเมื่อญี่ปุ่นไม่เคยใช้วิธีปิดเมืองอย่างประเทศอื่น ๆ แบบในหลายประเทศแถบเอเชีย ยุโรป หรืออเมริกา


แต่ใช้วิธีขอความร่วมมือประชาชนและภาคส่วนต่าง ๆ ให้ปฏิบัติตามกฎระเบียบข้อบังคับ ภายใต้สถานการณ์ฉุกเฉินที่ประกาศบังคับใช้ในหลายพื้นที่ นานหลายเดือนกินเวลาแตกต่างกัน


ขณะที่เมื่อไม่กี่เดือนก่อน ที่กรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันโอลิมปิกฤดูร้อน หลายฝ่ายยังอดเป็นห่วงไม่ได้ ว่ากรุงโตเกียวจะเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ จากกลุ่มก้อนนักกีฬาและเจ้าหน้าที่จากประเทศต่างๆ ทั่วโลก


◾◾◾

🔴 ช้าแต่เห็นผล


ศาสตราจารย์ คาซึฮิโร ทาเทดะ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยโตโฮในกรุงโตเกียว อธิบายว่า แม้ญี่ปุ่นจะเริ่มฉีดวัคซีนค่อนข้างช้ากว่าประเทศอื่น ๆ คือกว่าจะเริ่มก็ปาเข้าไปเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ จนเมื่อเกิดไวรัสสายพันธุ์ Delta ระบาดหนักในเดือนสิงหาคม ก็ได้ดำเนินการเดินหน้าฉีดวัคซีนอย่างเข้มข้น


ขณะนี้มีประชากรผู้ใหญ่ อายุต่ำกว่า 64 ปีรับวัคซีนสองเข็มแล้วเกือบ 70% จนเห็นผลชัดเจนในการควบคุมการระบาด เข้าลักษณะของภูมิคุ้มกันหมู่


◾◾◾

🔴 ประชาชนลดเสี่ยงจากหลายปัจจัย


นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การที่เกิดพายุหลายครั้งปลายเดือนสิงหาคม เป็นช่วงสภาพอากาศย่ำแย่ที่เกิดขึ้นเป็นประจำในช่วงเดือนกรกฎาคม-กันยายนของทุกปี ทำให้ผู้คนอยู่แต่ภายในบ้าน ไม่นับรวมการสวมหน้ากากอนามัยอย่างเคร่งครัดอันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของชาวญี่ปุ่น และ การใช้มาตรการปิดจุดเสี่ยง เช่น สถานบันเทิงยามค่ำคืน เป็นต้น ก็ทำให้ผู้คนในญี่ปุ่นสามารถเว้นระยะห่างและงดการทำกิจกรรมเสี่ยงได้ในเวลาที่นานขึ้น


แม้จะมีความกังวลบ้างว่า เมื่อฤดูหนาวมาถึง อาจจะมีความเสี่ยงเพิ่มขี้น เพราะในเวลานั้นภูมิคุ้มกันจากวัคซีนอาจลดลงไป ทำให้อาจเกิดการระบาดระลอกใหม่ขี้นมาได้ก็ตาม


◾◾◾

🔴 อดีตนายกฯ ฝากผลงานไว้ดี


อีกส่วนหนึ่ง ก็ต้องชื่นชมการทำงานของ โยชิฮิเดะ ซูงะ อดีตนายกรัฐมนตรีที่เพิ่งจากตำแหน่งเมื่อไม่นานมานี้ ที่ไว้ลายดำเนินนโยบายหลายอย่างที่เอื้อในการเพิ่มการฉีดวัคซีน ทั้งเพิ่มจำนวนบุคลากรทางการแพทย์ให้เข้ามาช่วยฉีดวัคซีน เดินหน้าเปิดศูนย์ฉีดวัคซีนขนาดใหญ่ตามเมืองใหญ่ทั่วประเทศ และสนับสนุนการฉีดวัคซีนตามสำนักงานและสถานที่ทำงานต่าง ๆ ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ช่วยให้ผู้คนเข้าถึงวัคซีนได้ง่ายยิ่งขึ้น


ศาสตราจารย์ฮิโระชิ นิชิอุระ จากมหาวิทยาลัยเกียวโต แจ้งต่อคณะที่ปรึกษาด้านโควิด-19 ของรัฐบาลเมื่อไม่นานมานี้ว่า การปูพรมฉีดวัคซีนในประเทศตั้งแต่เดือนมีนาคมจนถึงกันยายน มีส่วนช่วยประชากรกว่า 650,000 คน ไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 และช่วยรักษาชีวิตผู้คนได้กว่า 7,200 คน


ก่อนหน้านี้ บรรดาผู้เชี่ยวชาญเคยออกมาตราหน้าคนหนุ่มสาวในญี่ปุ่น ที่ออกไปจับกลุ่มรวมตัวดื่มกินตามสวนสาธารณะช่วงที่ผับบาร์ปิดบริการ ว่าเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เชื้อโควิด-19 แพร่กระจายเป็นวงกว้าง แต่ข้อมูลที่แท้จริงพบว่า ผู้ใหญ่ในวัย 40 และ 50 ปีในญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยเช่นกัน ที่ชอบไปสังสรรค์ปาร์ตี้ตามผับบาร์ยามค่ำคืน ขณะที่จำนวนผู้ที่ติดเชื้อที่ป่วยหนัก และผู้เสียชีวิต มักจะเป็นคนในวัยผู้ใหญ่ อายุ 50 ปีหรือต่ำกว่า ที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน

—————
เรื่อง: ชายแดน คล้ายใยทอง
ภาพ: Yasuyoshi CHIBA / AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง