รีเซต

เปิดเบื้องหลัง เที่ยวบินพิเศษเมียนมา ลงจอดแม่สอดกลางดึก

เปิดเบื้องหลัง เที่ยวบินพิเศษเมียนมา ลงจอดแม่สอดกลางดึก
TNN ช่อง16
8 เมษายน 2567 ( 16:58 )
47



จากกรณีมีรายงานข่าวจนเป็นกระแสในโลกโซเชียลว่า รัฐบาลเมียนมา ประสานกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อขอให้เครื่องบินรุ่น ATR 72-600 ลงจอด ณ ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด จังหวัดตาก เพื่อขอให้กับข้าราชการ ทหาร และครอบครัวของกองทัพเมียนมา ลี้ภัยจากการสู้รบในจังหวัดเมียวดี ภายหลังฝ่ายต่อต้านที่นำโดยกองกำลังสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) และกองกำลังปกป้องประชาชน (PDF) บุกเข้ายึดและควบคุมจังหวัดเมียวดีได้เป็นที่สำเร็จ 


ทำไมต้องเป็นแม่สอด ? เราลองมาดูจังหวัดเมียวดีของรัฐกะเหรี่ยง ที่นี่คือเมืองชายแดนด้านตะวันออกของเมียนมา หากสังเกตจะพบว่า ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด คือสนามบินที่ใกล้ที่สุดกับเมียวดี โดยมีเพียงแม่น้ำเมยเป็นพรมแดนธรรมชาติไหลกั้น 


ส่วนสนามบินในประเทศเมียนมาเท่าที่ใกล้เมียวดีที่สุด คือ ท่าอากาศยานมะละแหม่งในรัฐมอญติดอ่าวเมาะตะมะ ห่างออกไปเป็นร้อยกิโลเมตรก็น่าจะใช้เวลามาก ที่สำคัญจะฝ่ากองกำลังชาติพันธุ์ระหว่างรัฐก็คงไม่ง่าย รัฐบาลเมียนมาจึงเลือกขออนุมัติจากรัฐบาลไทย ใช้ท่าอากาศยานนานาชาติแม่สอด ฝั่งตรงข้ามแม่น้ำเท่านั้นเอง


ขิต ทิต มีเดีย สื่อออนไลน์ท้องถิ่นของเมียนมามีการเผยแพร่ภาพ เป็นหนังสือด่วนของสถานเอกอัครราชทูตเมียนมา ประจำประเทศไทย เรียนถึงกระทรวงการต่างประเทศของไทย เพื่อขออนุญาตอนุมัติเที่ยวบินพิเศษ เข้าทำการบิน ลงจอด และเติมน้ำมันเชื้อเพลิง ณ ท่าอากาศยานแม่สอด สำหรับเครื่องบินรุ่น ATR 72-600 ของสายการบินเมียนมา โดยระบุวัตถุประสงค์เพื่อบรรทุกผู้โดยสารและสัมภาระไป-กลับ ระหว่างอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก กับนครย่างกุ้ง ระหว่างวันที่ 7 - 9 เมษายนนี้ รวมระยะเวลา 72 ชั่วโมงเท่านั้น


ในแรกเริ่ม มีรายงานว่าหลายฝ่ายทั้งนักวิชาการและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของไทยบางส่วน ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น สามารถทำได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ อย่างอนุสัญญาเจนีวาฉบับที่ 3 ว่าด้วยการปฏิบัติต่อเชลยศึก หรือ Prisoner of War (POW) ซึ่งครอบคลุมการส่งตัวกลับประเทศเดิมได้


เมื่อคืนที่ผ่านมารัฐบาลไทยไม่ได้ชี้แจงข้อมูลใด ๆ จนกระทั่งในเที่ยงตรงวันนี้ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เผยแพร่ข้อความชี้แจงผ่านทางบัญชีผู้ใช้เอ็กซ์ โดยเปิดเผยว่า ทางการเมียนมาส่งคำขอเพื่อนำเครื่องบินพลเรือนมาลงเพื่อขนสิ่งของทางการทูตตามปกติ ไม่มีการขนกำลังทหาร อาวุธ หรือลี้ภัยตามที่เป็นข่าวแต่อย่างใด 


ต่อมาหนึ่งชั่วโมงตกบ่าย นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ตอบคำถามสื่อมวลชนถึงกรณีเดียวกัน โดยยืนยันว่า ไม่มีการขนส่งอาวุธหรือพลทหาร ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอน นอกจากนี้ ยังอยากให้มีการบริหารจัดการผู้ลี้ภัยที่เข้าพรมแดนไทยอย่างมีเอกภาพ แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีรายงานการทะลักเข้ามา ขออย่าเพิ่งไปคาดเดาเหตุการณ์ที่ยังไม่เกิดขึ้น รัฐบาลให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชนและประสงค์ให้เมียนมาสงบในท้ายที่สุด


รายละเอียดที่ชัดเจนมากขึ้น ปรากฏขึ้นต่อสื่อมวลชนที่กระทรวงการต่างประเทศ นายธนวัต ศิริกุล รองอธิบดีกรมสารนิเทศ ในฐานะรองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวระบุว่า กระทรวงได้รับคำขอจากสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาเมื่อช่วงเย็นวันเสาร์ที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ซึ่งรายละเอียดเที่ยวบิน วันที่ ต้นทางปลายทาง ก็ตรงกับเอกสารที่มีการเผยแพร่ก่อนหน้านี้


รองโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า เมื่อคำนึงสถานการณ์เร่งด่วน และความเป็นไปได้ที่อาจต้องอพยพบุคลากรและครอบครัวเมียนมาไปยังพื้นที่ปลอดภัย จึงมีการตัดสินใจในระดับรัฐบาล ที่จะอนุมัติคำขอของเมียนมาด้วยเหตุผลด้านมนุษยธรรม ต่อมาสภาความมั่นคงแห่งชาติจัดประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับขั้นตอนการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ซึ่งเที่ยวบินเมื่อวานนี้เข้ามาตามคำขอ และออกไปในวันเดียวกัน 


ข้อมูลสำคัญอยู่ตรงนี้ ล่าสุด ฝ่ายเมียนมาขอแจ้งยกเลิกเที่ยวบินที่เหลือ ในวันที่ 8 - 9 เมษายนแล้ว สิ่งที่รัฐบาลไทยกำลังทำในขณะนี้ จึงเป็นการติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์ในเมียนมา โดยเฉพาะเมียวดีอย่างใกล้ชิด พร้อมดำเนินการตามความจำเป็นเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อย และความปลอดภัยของประชาชนในพื้นที่ชายแดน รวมทั้งปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทย


สถานการณ์ในเมียนมาที่น่าจับตาต่อไป คือ รัฐบาลกองทัพเมียนมา จะผนึกกำลังเพื่อเตรียมการบุกยึดเมืองที่ถูกกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์นี้ไล่ต้อนอีกหรือไม่ โดยเฉพาะหลังจากมีคำสั่งประกาศระดมพลชายอายุ 18 - 35 ปี และหญิง 18 - 27 ปีทุกคน เกณฑ์เข้าสู่กองทัพตัตมาดอว์ รับราชการเป็นเวลา 2 ปีเต็ม ประจวบเหมาะกับวาระครบรอบรัฐประหาร 3 ปีที่แล้วเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา 


คำสั่งเกณฑ์ทหารนี้ มีรายงานที่น่าสนใจว่า นอกจากคนหนุ่มสาวยังเผชิญกับทางแพร่งที่ต้องเลือก ระหว่างเข้าร่วมกับกองทัพตัตมาดอว์ตามคำสั่งรัฐบาลที่นำโดยพลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย หรือจะเข้าร่วมกับกองกำลังติดอาวุธของกลุ่มชาติพันธุ์ในท้องถิ่น ซึ่งอยู่ฝ่ายตรงข้ามกันแล้ว บางส่วนยังจำต้องลี้หนีไปต่างประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางที่ไม่ไกลตา ด้วยพรมแดนติดต่อกันมากกว่า 2 พันกิโลเมตร 


ข้อสังเกตจึงไม่ใช่แค่ในมิติทางการเมืองว่า เมียนมาจะจัดการเลือกตั้งครั้งใหม่ให้มีเสถียรภาพได้เมื่อใด แต่ปรากฏการณ์ที่กระทบต่อช่วงวัยหนุ่มสาวซึ่งล้วนเป็นอนาคตของชาติ ก็ยังเป็นผลกระทบต่อเศรษฐกิจของเมียนมา และต่อวันข้างหน้าของชีวิตที่จะเป็นฟันเฟืองพัฒนาประเทศต่อไปด้วย 


ส่วนของประเทศไทยในฐานะประเทศเพื่อนบ้าน ก็มีโจทย์ใหญ่คือการเตรียมการรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในอนาคต โดยเฉพาะการทะลักเข้าของผู้หนีภัยการสู้รบเข้ามาฝั่งไทย จึงมีรายงานล่าสุดว่า ในวันพรุ่งนี้ 9 เมษายน นายกรัฐมนตรี จะเชิญผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก รัฐมนตรีประจำกระทรวงการต่างประเทศทั้ง 2 คน และเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ประชุมร่วมกันที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อกำหนดทิศทางนโยบายต่อสถานการณ์เมียนมาต่อไป



เรียบเรียงโดย : ณัฐนนท์ เจริญชัย






ข่าวที่เกี่ยวข้อง