กล้องเจมส์ เวบบ์ เปิดภาพดาวเสาร์ในย่านอินฟราเรดช่วงใกล้ภาพแรก
วันที่ 25 มิถุนายนที่ผ่านมา กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ขององค์การนาซาได้หันกล้องไปหาดาวเสาร์หนึ่งในดาวเคราะห์ที่เป็นสมาชิกสำคัญของระบบสุริยะเพื่อถ่ายภาพดาวเสาร์ด้วยแสงอินฟราช่วงใกล้เป็นครั้งแรก โดยใช้อุปกรณ์กล้อง NIRCam หรือกล้องอินฟราเรดช่วงใกล้
ภาพที่กล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์เปิดเผยออกมาดาวเสาร์มีลักษณะค่อนข้างมืดทึบและขุ่นมัวเนื่องจากก๊าซมีเทนดูดซับแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบบนชั้นบรรยากาศเกือบทั้งหมด อย่างไรก็ตามในภาพก็แสดงวงแหวนของดาวเสาร์ที่ยังสว่างชัดเจน ส่งผลให้ภาพดังกล่าวดูแตกต่างจากภาพดาวเสาร์ที่เคยถูกถ่ายเอาไว้
เบื้องหลังการประมวลผลภาพถ่ายดาวเสาร์ที่สวยงามนี้นาซาใช้โปรแกรมที่ชื่อว่า Webb Warrantyed Time Observation 1247 หรือ GTO 1247 ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเลสเตอร์ (University of Leicester) การประมวลผลใช้วิธีรวบรวมแสงจากดาวเสาร์ในระดับลึกหลายครั้ง รวมไปถึงการทดสอบตรวจจับภาพดวงจันทร์ของดาวเสาร์และวงแหวนที่สว่าง ส่งผลให้นักวิทยาศาสตร์ได้รับข้อมูลใหม่ ๆ ของดาวเสาร์เพื่อทำความเข้าใจสถานะลักษณะปัจจุบันและการก่อตัวในอดีตของดาวเสาร์
รายละเอียดของภาพถ่ายดาวเสาร์แสดงให้วงแหวนของดาวเสาร์ที่มีความสวยงาม โดยแสดงวงแหวนในชั้น G และ E แบบจาง ๆ จากวงแหวนทั้งหมด 7 ชั้น เรียงตามลำดับตัวอักษร A ถึง G วงแหวนที่ดูบางเรียบของดาวเสาร์สร้างปริศนามากมายให้กับนักวิทยาศาสตร์ โดยมันประกอบด้วยก้อนหินขนาดเล็กกว่าเม็ดทรายไปจนถึงก้อนหินขนาดใหญ่กว่าภูเขาบนโลก และส่วนประกอบของน้ำแข็งจำนวนมาก ซึ่งด้วยขีดความสามารถของกล้องโทรทรรศน์อวกาศเจมส์ เวบบ์ อาจนำไปสู่การเฉลยปริศนาเหล่านี้ได้ในอนาคต
นอกจากนี้ในภาพยังแสดงให้เห็นดวงจันทร์บริวาร 3 ดวง ที่โดดเด่น เช่น ไดโอนี (Dione), เอนเซลาดัส (Enceladus) และเทธี (Tethy) ซึ่งเป็นเพียงดวงจันทร์บางส่วนจากจำนวนดวงจันทร์ทั้งหมดของดาวเสาร์ 145 ดวง โดยดวงจันทร์หลายดวงเป็นเป้าหมายสำคัญของนักวิทยาศาสตร์ เช่น ดวงจันทร์เอนเซลาดัสที่พบว่ามีกลุ่มควันขนาดใหญ่พุ่งออกมาจากขั้วใต้ของดวงจันทร์ซึ่งมีอนุภาคต่าง ๆ รวมไปถึงไอน้ำจำนวนมาก
ก่อนหน้านี้นาซามีการสำรวจดาวเสาร์มาแล้วหลายภารกิจ เช่น ยานสำรวจอวกาศแคสสินี ยานอวกาศไพโอเนีย (Pioneer) ยานอวกาศวอยเอจเจอร์ 1 (Voyager 1) และ วอยเอจเจอร์ 2 (Voyager 2) รวมไปถึงการใช้กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล ทำการศึกษาดาวเสาร์มาเป็นระยะเวลานานหลายทศวรรษ เพื่อทำความเข้าใจลักษณะพิเศษของดาวเสาร์และนำไปสู่ความรู้ใหม่ ๆ การทำความเข้าใจอวกาศ รวมไปถึงดาวเคราะห์ดวงอื่น ๆ ในระบบสุริยะ
ที่มาของข้อมูลและรูปภาพ Blogs.Nasa.gov