รีเซต

รีสอร์ตหรู 30 ล้าน ริมเขื่อนศรีนครินทร์ รื้อไปแล้ว 90% หลังอุทยานสั่งทุบ จ่อเปิดจุดกางเต๊นท์

รีสอร์ตหรู 30 ล้าน ริมเขื่อนศรีนครินทร์ รื้อไปแล้ว 90% หลังอุทยานสั่งทุบ จ่อเปิดจุดกางเต๊นท์
มติชน
13 ธันวาคม 2564 ( 10:43 )
102
รีสอร์ตหรู 30 ล้าน ริมเขื่อนศรีนครินทร์ รื้อไปแล้ว 90% หลังอุทยานสั่งทุบ จ่อเปิดจุดกางเต๊นท์

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม นายนิพนธ์ จำนงสิริศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 3 (บ้านโป่ง) พร้อมด้วย นายยุทธพงค์ ดำศรีสุข หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ และเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ 15 คน ได้เข้าตรวจสอบ ควบคุม และติดตามความคืบหน้าในการทุบรื้อถอนสวนพิศตะวันรีสอร์ท ซึ่งมีสิ่งปลูกสร้างบ้านพัก ร้านอาหารขนาดใหญ่ จำนวน 17 รายการ ในพื้นที่ประมาณ 20 ไร่ ริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ เขตท้องที่ป่าท่าแพขนานยนต์ หมู่ที่ 6 ตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์

 

หลังจากเจ้าของรีสอร์ตดังกล่าวได้มีหนังสือ ฉบับลงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 แจ้งขอรื้อถอนสิ่งปลูกสร้าง ทั้งหมดด้วยตนเอง ซึ่งขอระยะเวลาดำเนินการ 120 วัน ตั้งแต่วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นมา โดยมีคนงานเข้าดำเนินการขนย้ายทรัพย์สิน และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างต่อเนื่องมา และตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2564 เจ้าของได้นำรถแบคโฮ ขนาดใหญ่ จำนวน 2 คัน เข้ามารื้อทุบตัวอาคารขนาดใหญ่ จำนวน 3 อาคาร ที่ติดริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์ และรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ ที่ปลูกสร้างบุกรุก อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า ในช่วงระยะเวลาไม่ถึง 1 เดือน ทางเจ้าของรีสอร์ทได้ดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไปได้ประมาณ 90% แล้ว

 

ทั้งนี้สืบเนื่องจากเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2557 คณะเจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ร่วมกันออกปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ ภายในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ในเขตท้องที่ป่าท่าแพขนานยนต์ หมู่ที่ 6 ตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี พบบ้านพักตากอากาศชื่อ พิศตะวันรีสอร์ท หมู่ที่ 6 ตำบลด่านแม่แฉลบ อำเภอศรีสวัสดิ์ จังหวัดกาญจนบุรี ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์

 

โดยมี นายสมภพ มีชูเวท เป็นผู้ครอบครอง เจ้าหน้าที่ตรวจวัดพื้นที่รอบแปลงด้วย GPS คำนวณเนื้อที่ได้ 20 ไร่ พบสิ่งปลูกสร้างลักษณะ รีสอร์ท ขนาดใหญ่ จำนวน 17 รายการ ราคา 30 ล้าน อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ จึงได้แจ้งความ นายสมภพ มีชูเวศ เจ้าของรีสอร์ท มีความผิดฐาน บุกรุก ยึดถือครอบครองที่ดินในเขตอุทยานแห่งชาติโดยมิได้รับอนุญาต ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธด่านแม่แฉลบ จังหวัดกาญจนบุรี

ต่อมาคดีอาญาอัยการจังหวัดกาญจนบุรีมีคำสั่งไม่ฟ้องผู้ต้องหา เพราะขาดเจตนา กรมอุทยานฯได้ฟ้องแพ่งเรียกค่าเสียหาย 954,307 บาท ต่อมา นายสมภพ มีชูเวท ถึงแก่ความตาย และได้มี นางพิศมัย มีชูเวท เป็นผู้จัดการมรดกแทน โดยพนักงานอัยการจังหวัดกาญจนบุรี ได้ยื่นฟ้อง นางพิศมัย มีชูเวท ผู้จัดการมรดก เป็นคดีความแพ่ง คดีหมายเลขดำที่ 96/2561 เมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2561ในระหว่างการพิจารณาของศาล นางพิศมัย ได้ขอเจรจาไกล่เกลี่ยชดใช้ค่าเสียหายในการบุกรุกป่าให้กรมอุทยานฯ เป็นเงิน 600,000 บาท และผ่อนชำระเดือนละ 10,000 บาท เป็นเวลา 5 ปี ตามคำพิพากษาในคดีหมายเลขแดงที่ 960/2561 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2561

 

สำหรับคดีทางปกครอง หัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ได้ออกคำสั่งที่ 71/2557 ลงวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ให้ผู้กระทำผิดทำลายหรือสิ่งปลูกสร้าง พืชผลอาสิน หรือสิ่งอื่นใดที่ผิดไปจากสภาพเดิมออกไปให้พ้นอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ หรือทำให้สิ่งนั้นกลับสู่สภาพเดิมแล้วแต่กรณี ภายในวันที่ 17 พฤศจิกายน 2557 ตามความมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ.2504

 

และมีหนังสือแจ้งเตือนให้ผู้กระทำผิดรื้อถอน ฉบับลงวันที่ 10 ตุลาคม 2557 ต่อมาผู้กระทำผิดได้ยื่นฟ้องศาลปกครองกลาง โดยมีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เป็นผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในคดีหมายเลขดำที่ ส. 14/2558 โดยศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษา ลงวันที่ 23 กันยายน 2564 ในคดีหมายเลขแดงที่ 154/2560 โดยศาลปกครองมีคำพิพากษา ให้รื้อถอนรีสอร์ทดังกล่าวได้ โดย นางพิศมัย มีชูเวท ผู้จัดการมรดก ไม่ได้อุทธรณ์ คดีปกครองถึงที่สุด ซึ่งต่อมาหัวหน้าอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ได้เจรจาให้ผู้ครอบครองดำเนินการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างออกไปเอง ซึ่งผู้ครอบครอง/เจ้าของได้ยินยอมและมีหนังสือขอรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างทั้งหมดออกไปจากเขตอุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีฯ ทั้งหมดด้วยตนเอง

 

หลังจากรื้อถอนรีสอร์ทขนาดใหญ่สุดหรูดังกล่าวไปหมดแล้วทางเจ้าหน้าที่จะนำพื้นที่ที่ได้ยึดคืนมา จำนวน 20 ไร่ มาฟื้นฟูสภาพป่า และจะพัฒนาเป็นแหล่งกางเต๊นท์ของประชาชน ให้มาพักผ่อนหย่อนใจชมทัศนียภาพสภาพธรรมชาติที่สวยงามริมอ่างเก็บน้ำเขื่อนศรีนครินทร์

 

ทั้งนี้ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์ ยังมีแปลงตรวจยึดเนินคดีบ้านพักตากอากาศ หรือรีสอร์ท อีกจำนวนหลายแปลง ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการต่อสู้อยู่ในศาลปกครอง ซึ่งส่วนใหญ่ศาลมีคำสั่งยกฟ้อง ให้อุทยานแห่งชาติเขื่อนศรีนครินทร์รื้อถอนรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศของนายทุนดังกล่าวได้ จึงขอฝากไปถึงผู้ประกอบการนายทุนต่างๆ หากคดีดังกล่าวผู้กระทำผิดรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างเสียเอง ทางกรมอุทยานฯ จะไม่ต้องฟ้องร้องเรียกค่าดำเนินการในการรื้อถอน และทรัพย์สินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวเจ้าของยังที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ทั้งนี้แม้ปัจจุบันกรมอุทยาฯจะมีแนวทางผ่อนผันให้ราษฎรอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่ ตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.อุทยานฯ 2562 แต่พื้นที่แปลงตรวจยึดดำเนินคดี และเป็นของนายทุนที่มิใช่ราษฎรในพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทมาก่อนผู้ครอบครองจะไม่ได้รับสิทธิใดๆจากแนวทางดังกล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง