รีเซต

'บิ๊กตู่' ยินดี 'ไทย-เยอรมนี' ความร่วมมือเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

'บิ๊กตู่' ยินดี 'ไทย-เยอรมนี' ความร่วมมือเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
มติชน
20 มีนาคม 2565 ( 10:29 )
43

ข่าววันนี้ 20 มีนาคม นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า ความท้าทายสำคัญที่ทั่วโลกเผชิญร่วมกันคือเรื่องสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อนส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศทั่วโลก รัฐบาลไทย โดยพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้แสดงเจตนารมณ์ในการบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ.2050 และเป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065 ระหว่างการเข้าร่วมการประชุมระดับผู้นำสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศครั้งที่ 26 (COP26) เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ณ เมืองกลาสโกว์ สหราชอาณาจักร

 

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรียินดีที่ไทยได้มีความร่วมมือกับมิตรประเทศเพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และต่อยอดความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำและมีภูมิคุ้มกันจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565 สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (German Agency for International Cooperation : GIZ) ภายใต้แผนงานความร่วมมือไทย – เยอรมนี ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้จัดการประชุมสัมมนากลไกการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “Thailand Climate Finance Conference: From International to Domestic Mechanism” เพื่อเผยแพร่ข้อมูลทางการเงินและการลงทุนให้แก่ผู้สนใจจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ภาคประชาชน สื่อมวลชน และองค์กรอิสระ เพื่อให้ได้รับทราบกลไกทางการเงินด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การแสวงหาแหล่งทุนต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และชี้ให้เห็นถึงโอกาสและความท้าทายของภาคธุรกิจสีเขียวที่กำลังมีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตและการค้าการส่งออกในตลาดโลก

 

นายธนกร กล่าวว่า ประเทศไทยได้พัฒนาโครงการความร่วมมือระหว่างประเทศด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกับหลายองค์กร นอกจากองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี (GIZ) อาทิ องค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศของญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency : JICA) องค์การสหประชาชาติ (UN) โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) หรือรัฐสมาชิกภายใต้ความตกลงปารีส (NDCs) เป็นต้น

 

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นถึงศักยภาพประเทศไทยในการเติบโตด้านเศรษฐกิจสีเขียว สามารถพัฒนาต่อยอดให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีได้สั่งการอย่างต่อเนื่องให้ความสำคัญกับโมเดลเศรษฐกิจ BCG เพื่อเพิ่มมูลค่า และขีดความสามารถการแข่งขันแต่ให้ความสำคัญกับการรักษาสิ่งแวดล้อม ให้ความสำคัญต่อการผลิตที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และให้ความสำคัญกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งส่วนหนึ่งส่งผลให้รัฐบาลสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles : EVs) ในประเทศ เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้า ลดการปล่อยมลพิษ และตั้งเป้าสู่การเป็นฐานการผลิตสำคัญในภูมิภาค รวมทั้งสนับสนุนอุตสาหกรรมพลังงานทางเลือก และพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานชีวมวล พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานไฟฟ้าจากขยะ ทั้งยังสนับสนุนอุตสาหกรรมการผลิตโดยการนำวัตถุดิบกลับมาใช้ใหม่ (Reuse & Recycle) สนับสนุนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือแม้กระทั่งอุตสาหกรรมเกษตร เช่น การปลูกข้าวปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ การผลิตโปรตีนทางเลือก และการผลิตอาหารสัตว์ที่ดีต่อระบบย่อยอาหารของสัตว์และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เป็นต้น

 

“นายกรัฐมนตรีมีวิสัยทัศน์ด้านสิ่งแวดล้อมแบบก้าวหน้ายึดมั่นตามเจตนารมณ์ที่ได้ประกาศไว้เมื่อการประชุม COP26 และได้สั่งการให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว และสนับสนุนกรอบความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และองค์กรระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อดูแลเยาวชนรุ่นต่อไป และลดความความรุนแรงของภัยธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น” นายธนกร กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง