รีเซต

“ข้าวลูกปลา” พืชเศรษฐกิจประจำถิ่น ป่าชิง สู่แหล่งสร้างอาชีพและรายได้ ยุคโควิดระบาด

“ข้าวลูกปลา” พืชเศรษฐกิจประจำถิ่น ป่าชิง สู่แหล่งสร้างอาชีพและรายได้ ยุคโควิดระบาด
มติชน
14 มีนาคม 2565 ( 10:30 )
33
“ข้าวลูกปลา” พืชเศรษฐกิจประจำถิ่น ป่าชิง สู่แหล่งสร้างอาชีพและรายได้ ยุคโควิดระบาด

จากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านหมู่ที่ 1 ต.ป่าชิง อ.จะนะ จ.สงขลา รวมกลุ่มกันพลิกฟื้นเศรษฐกิจในชุมชน โดยนำเอาพืชเศรษฐกิจประจำถิ่น “ข้าวพันธ์ลูกปลา” ซึ่งเป็นทรัพยากรที่อยู่คู่กับคนในหมู่บ้านมายาวนานกว่า 100 ปี มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้ให้คนในชุมชน

 

หนึ่งในนั้นคือการแปรรูปเป็นสบู่ข้าวลูกปลา ที่มีสรรพคุณในการดูแล และรักษาผิวพรรณ และสามารถนำมาใช้เองภายในครัวเรือนเพื่อลดค่าใช้จ่าย

นางสาวเธียรรัตน์ แก้วนะ ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายนาอินทรีย์ (จะณะแบ่งสุข) กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของการก่อตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ฯ เกิดจากการรวมกลุ่มของชาวบ้านในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาราคายางพาราตกต่ำ จึงได้มองหาแหล่งสร้างงานสร้างอาชีพที่มีอยู่ในชุมชน

 

“ตำบลป่าชิงเป็นแหล่งปลูกข้าวลูกปลาที่อยู่คู่กับคนในพื้นที่มาอย่างยาวนาน มีคุณค่าทางโภชนาการที่เป็นประโยชน์ต่อสุขภาพ จึงเหมาะแก่การนำมาพัฒนาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ทั้งกินและของใช้ให้เกิดประโยชน์ ควบคู่กับสร้างเป็นพื้นที่ความมั่นคงทางด้านอาหารของคนในชุมชนเช่นกัน”

 

“ข้าวลูกปลา”กลุ่มวิสาหกิจชุมชนเครือข่ายนาอินทรีย์ จึงต้องการยกระดับข้าวลูกปลาไปสู่ตลาดที่สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคและเป็นตลาดสำหรับสินค้าอุปโภคบริโภคชนิดใหม่ โดยทางมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์และวิทยาลัยชุมชนสงขลา ได้เข้ามามีส่วนร่วมและพัฒนาข้าวลูกปลาให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่า ทำให้ทางกลุ่มประสบความสำเร็จในการแปรรูปเป็นอย่างมากมากและในอนาคตก็จะมีการพัฒนาต่อยอดข้าวลูกปลาอย่างครบวงจร”

 

นางสาวเธียรรัตน์ กล่าวว่า ข้าวลูกปลามีรสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ไม่เหมือนกับพันธ์ข้าวที่อื่น ถึงแม้จะมีการนำไปปลูกในต่างพื้นที่ แต่ให้รสชาติที่ไม่เหมือนกัน เนื่องจากข้าวลูกปลา ต.ป่าชิงจะมีความนิ่มและมีความเหนียวนุ่มเหมือนข้าวญี่ปุ่น

ทางกลุ่ม ฯแปรรูปจากข้าวลูกปลามาเป็นข้าวกล้องงอก ข้าวลูกปลาบ้านป่าชิง ข้าวยำนอกกรอบ ซูชิ ทองม้วนกรอบ ทองม้วนสด แป้งอเนกประสงค์ และการแปรรูปเป็นสบู่ข้าวลูกปลา

 

“นับว่าการนำเอาทรัพยากรที่มีอยู่มาแปรรูป ไม่เพียงแต่เป็นการสร้างรายได้ แต่ยังเป็นการสร้างจิตสำนึกและอนุรักษ์ทรัพยากรที่มีอยู่ในท้องถิ่น เป็นการตระหนักให้ผู้คนเห็นถึงคุณค่าของสิ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะสิ่งเหล่านั้นอาจกลายเป็นสิ่งที่สามารถสร้างมูลค่าและอาจก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด”นางสาวเธียรรัตน์ กล่าว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง