“แบ่งจ่ายเงินเดือน ขรก.2 งวด” “เพิ่มสภาพคล่อง” หรือ “เพิ่มปัญหา”?
เริ่มต้นการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ครั้งแรก ไปเมื่อวันที่ 13 กันยายนที่ผ่านมา กับรัฐบาล “เศรษฐา 1” ซึ่งหลังการประชุม นายกฯก็ออกมาแถลงมติ ครม.ด้วยตนเอง โดย ครม.ได้ออกมาตรการช่วยเหลือประชาชนหลายรายการ ทั้งโครงการลดค่าไฟฟ้า ลดราคาน้ำมันดีเซล ซึ่งโดนใจประชาชน ไม่น้อย แต่หนึ่งในนโยบายที่รัฐบาลประกาศออกมา คือการ “แบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ออกเป็น 2 งวด” ซึ่งนโยบายนี้ กลับสร้างเสียงวิพากษ์วิจารณ์ อย่างกว้างขวาง
อะไรที่ทำให้นโยบายนี้ ถูกมองใน 2 ด้าน?
ในมุมของรัฐบาล ที่ออกนโยบายนี้ออกมา เพื่อต้องการเพิ่มสภาพคล่องทางการเงินให้กับข้าราชการบางส่วน ที่เกิดภาวะทางการเงินที่เรียกว่า “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” เงินเข้าสิ้นเดือน กลางเดือนก็หมดแล้ว ทำให้ต้องไปกู้หนี้ยืมสิน ทั้งในระบบและนอกระบบ ซึ่งหากได้เงินมาเร็ว ก็จะแบ่งเบาภาระในส่วนนี้ได้ และในส่วนของผู้ที่มีหนี้สิน ก็สามารถนำเงินไปจ่ายหนี้สิน ได้เร็วขึ้น
โดยในมุมของผู้ที่เห็นด้วย แม้จะมีไม่มาก แต่ก็มองว่า นโยบายดังกล่าว จะทำให้เงินหมุนเวียนในระบบมากขึ้น ซึ่งไม่เพียงแต่ข้าราชการเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่ออาชีพอื่นๆ อีกด้วย เพราะจะมีการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะส่งผลดีต่อทั้งพ่อค้า แม่ค้า และอาชีพเกษตรกร และที่สำคัญ การจ่ายเงิน 2 งวด ก็ได้เงินจำนวนเท่าเดิม อยู่ที่วินัยของข้าราชการเองว่า จะบริหารจัดงานเงินอย่างไร
ในขณะที่อีกฝากฝั่ง ที่ไม่เห็นด้วย โดยพวกเขามองว่า ค่าใช้จ่ายข้องข้าราชการส่วนใหญ่จะถูกกำหนดให้ชำระช่วงปลายเดือน ทั้งค่าบ้าน ค่ารถ ซึ่งหากเงินเดือนถูกแบ่งจ่ายเป็น 2 งวด เชื่อว่า จะต้องเกิดปัญหาแน่นอน
นอกจากนี้ ยังมีข้อกังวลที่อาจเกิดขึ้น หากมีการแบ่งจ่ายเงินเดือน 2 งวด ก็จะเกิดความซับซ้อนในการบริหารที่เพิ่มขึ้น เพิ่มภาระงานด้านธุรการ โดยเฉพาะองค์กรที่มีพนักงานจำนวนมาก จะต้องปรับปรุงระบบบัญชีการจ่ายเงินเดือน บางองค์กรอาจจำเป็นต้องลงทุนอัพเดตซอฟต์แวร์และระบบบัญชี เพื่อให้รองรับการจ่ายเงินเดือน 2 รอบต่อเดือน
เมื่อเสียงคัดค้าน เริ่มหนาหูมากขึ้น ล่าสุดนายกรัฐมนตรี ก็ได้ออกมาบอกว่า นโยบายดังกล่าว จะทำเป็นทางเลือก คือ ข้าราชการสามารถเลือกแบ่งจ่าย 2 ครั้ง หรือ เลือกให้จ่ายเดือนละครั้งก็ได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ กรมบัญชีกลาง จะรับไปพิจารณา และทำเป็นออปชันให้เลือกว่า จะเอาแบบไหน
แนวคิดการแบ่งจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ออกเป็น 2 งวด แม้ขณะนี้ยังไม่มีความชัดเจน และยังมีเวลาที่จะคิด เพราะนโยบายดังกล่าว รัฐบาลวางไว้ว่าจะเริ่มดำเนินการได้วันที่ 1 มกราคม 2567 และที่สำคัญ อยู่ที่ตัวของข้าราชการแต่ละคน ว่าจะเลือกทางไหน ที่จะเหมาะสมกับตัวเองมากที่สุด
สำหรับ “เงินเดือนข้าราชการ” คือ เงินเดือนพื้นฐาน (Base Salary) คือ ค่าตอบแทนที่จะจ่ายให้กับข้าราชการพลเรือนสามัญทุกคนตามประเภทตำแหน่งและระดับตำแหน่ง โดยแบ่งบัญชีเงินเดือนออกเป็น 4 บัญชี ตามประเภทตำแหน่ง ได้แก่ 1.ประเภทบริหาร 2.ประเภทอำนวยการ 3. ประเภทวิชาการ และ 4. ประเภททั่วไป ซึ่งแต่ละประเภทได้มีการกำหนดเงินเดือนขั้นต่ำขั้นสูง ของแต่ละระดับไว้ ดังนี้
• เงินเดือนข้าราชการ ตำแหน่งประเภทบริหาร
ระดับสูง 29,980 - 76,800 บาท
ระดับต้น 24,400 - 74,320 บาท
เงินเดือนข้าราชการ ตำแหน่งประเภทอำนวยการ
ระดับสูง 24,400 - 70,360 บาท
ระดับต้น 19,860 - 59,500 บาท
• เงินเดือนข้าราชการ ตำแหน่งประเภทวิชาการ
ระดับปฏิบัติการ 7,140 – 26,900 บาท
ระดับชำนาญการ 13,160 – 43,600 บาท
ระดับชำนาญการพิเศษ 19,860 – 58,390 บาท
ระดับเชี่ยวชาญ 24,400 – 69,040 บาท
ระดับทรงคุณวุฒิ 29,980 – 76,800 บาท
• เงินเดือนข้าราชการ ตำแหน่งประเภททั่วไป
ระดับปฏิบัติงาน 4,870 – 21,010 บาท
ระดับชำนาญงาน 10,190 – 38,750 บาท
ระดับอาวุโส 15,410 – 54,820 บาท
ระดับทักษะพิเศษ 48,220 – 69,040 บาท
ที่มา : พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2558
มนตรี ขัดเรือง : เรียบเรียง