รีเซต

จับทุจริต "เราเที่ยวด้วยกัน" รวบผู้ต้องหา 50 ราย สูญเงินกว่า 100 ล้าน

จับทุจริต "เราเที่ยวด้วยกัน" รวบผู้ต้องหา 50 ราย สูญเงินกว่า 100 ล้าน
TNN ช่อง16
27 มกราคม 2564 ( 13:48 )
212

วันนี้ (27 ม.ค.64) เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร./ผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ผอ.ศสอส.ตร.) พล.ต.ท.นิทัศน์ ลิ้มศิริพันธ์ ผบช.ทท. พล.ต.ต.จิรภพ ภูริเดช รอง ผบช.ก. นายเขมพล อุ้ยตยะกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา น.ส.สภัทร์พร ธรรมาภรณ์พิลาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และผู้แทนธนาคารกรุงไทย ร่วมกันแถลงข่าวจับกุม "ขบวนการทุจริต โครงการเราเที่ยวกัน" ผู้ต้องหา 50 ราย 

สืบเนื่องจากพบพฤติกรรมผิดปกติในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน จึงได้เข้าแจ้งความกับ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ขอให้ตรวจสอบผู้ที่อาจจะกระทำผิดทุจริตในโครงการ โดยมอบหมายให้ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะ ผอ.ศปอส.ตร. เป็นหัวหน้าคณะทำงาน 

จากการสืบสวนร่วมกันของ บก.ป., ศปอส.ตร. และ บช.ทท. พบว่า มีผู้ประกอบธุรกิจที่กระทำการเข้าข่ายทุจริตหลายรูปแบบ เช่น เปิดให้มีการจองห้องพัก แต่ไม่มีการเข้าพักจริง นําคูปองที่ได้รับหลังจากเช็คอินห้องพัก ไปสแกนใช้จ่ายกับร้านค้า แต่ไม่มีการซื้อสินค้าจริง บางโรงแรมมีที่ตั้งจริง ลงทะเบียนถูกต้อง แต่ยังไม่เปิดให้บริการ กลับมีการเปิดให้จองห้องพัก หรือมีการตั้งราคาจองห้องพักไว้แพงเกินจริง หวังกินส่วนต่างราคาส่วนลด 


ที่ จ.ชัยภูมิ โดย ชุดปฏิบัติของ กก.3 บก.ป. นำโดย ว่าที่ พ.ต.อ.วิวัฒน์ จิตโสภากุล ผกก.3 บก.ป. นำกำลังเข้าค้นโรงแรมณัฐชญา รีสอร์ท และผู้ที่เกี่ยวข้องรวม 41 ราย 38 จุด โดยแบ่งเป็น เจ้าของโรงแรม 1 ราย เจ้าของร้านค้า 22 ราย คนกลางผู้รวบรวมสิทธิ์หรือสวมสิทธิ์ 14 ราย ผู้รับจ้างเปิดบัญชี 3 ราย ผู้รับจ้างบันทึกข้อมูลจองโรงแรม อีก 1 ราย ซึ่งกระจายอยู่ในพื้นที่ 6 จังหวัด คือ จ.ชัยภูมิ, เลย, นครราชสีมา, ขอนแก่น, เพชรบูรณ์ และ ศรีสะเกษ

ผลการตรวจค้น จับกุมผู้ต้องหารวม 38 ราย พฤติการณ์ พบมีการลงทะเบียนเป็นรีสอร์ทขนาดเล็ก มีห้องพักทั้งหมด 10 ห้อง นับตั้งแต่เดือน ก.ค.63 ถึงปัจจุบัน มีผู้ใช้สิทธิโครงการ จํานวน 9,263 ราย ยอดจองห้องพัก 92,028 ห้อง เฉลี่ย 1,000-3,000 ห้องต่อวัน คิดเป็นมูลค่ารวม 33,866,966 บาท  ซึ่งไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และยังพบว่า กว่าร้อยละ 99 ของการจองห้องพัก 1 คน จะจอง 10 ห้อง เต็มทุกครั้ง และเวลาในการเช็คอินและเช็คเอ้าท์ ทับซ้อนไม่สัมพันธ์กัน นอกจากนี้ ยังพบว่า คูปองที่ได้รับหลังจากเช็คอินห้องพัก ที่ใช้สำหรับสแกนจ่ายกับร้านค้าที่เข้าโครงการ มียอดการใช้จ่ายที่สูงกว่าปกติ


พล.ต.อ.สุวัฒน์ กล่าวว่า ผู้ต้องหามีการกระทำเป็นขบวนการ โดยจะมีผู้ซื้อสิทธิ ตามหาซื้อสิทธิในโครงการ โดยให้ค่าตอบแทนรายละ 400-500 บาท เมื่อประชาชนขายสิทธิให้แล้ว ผู้ซื้อสิทธิจะให้เจ้าของสิทธิติดตั้งแอปพลิเคชั่น “เป๋าตัง” เสียก่อน หลังจากนั้นผู้ซื้อสิทธิจะนำเอาโทรศัพท์ของเจ้าของสิทธิไปดำเนินการจองโรงแรม และใช้คูปอง หรืออีกวิธีหนึ่งคือ จะนำเอาข้อมูลบัตรประชาชนและซิมการ์ดที่ลงทะเบียนแล้วไปขายต่อให้กับผู้สวมสิทธิ โดยจะขายให้ผู้สวมสิทธิในราคา 800-1,000 บาท

เมื่อผู้สวมสิทธิได้รับสิทธิจากโครงการดังกล่าวแล้ว จะว่าจ้างให้ผู้ร่วมขบวนการ กรอกข้อมูลเพื่อจองห้องพักกับทางโรงแรม โดยจะมีกลุ่มที่รับจ้างเปิดบัญชีธนาคารอีกกลุ่มหนึ่ง ที่คอยทำธุรกรรมทางการเงินแทนเจ้าของสิทธิ ซึ่งหลังจากที่ผู้สวมสิทธิทำการเช็คอินตามห้องพักที่ได้ทำการจองไว้ ทางผู้สวมสิทธิจะนำคูปองที่ได้รับหลังจากเช็คอินไปใช้จ่ายกับร้านค้าที่ตนเองควบคุม 


ส่วนที่ จ.ภูเก็ต ชุดปฏิบัติการของ กก.5 บก.ป. นำโดย พ.ต.อ.วิระชาญ ขุนไชยแก้ว ผกก.5 บก.ป. นำกำลังเข้าค้น โรงแรมธาราป่าตอง และเครือข่าย รวม 14 ราย ประกอบด้วย เจ้าของโรงแรม 3 ราย เจ้าของร้านค้า 2 ราย คนกลางผู้รวบรวมสิทธิ์หรือสวมสิทธิ์ 5 ราย ผู้รับจ้างบันทึกข้อมูล จองโรงแรม 4 ราย มีประชาชนร่วมทุจริตรวมกว่า 800 ราย

ผลการตรวจค้น จับกุมผู้ต้องหารวม 12 ราย พฤติกรรมการทุจริตแตกต่างกันออกไปจากกรณีข้างต้น โดยโรงแรมจะร่วมมือกับผู้จัดทัวร์ มีการเชิญชวนว่า หากประชาชนจองห้องพักเต็มสิทธิ จะให้เข้าร่วมกิจกรรมทัวร์  เป็นจำนวน 3 วัน 2 คืน โดยไม่มีการเข้าพักโรงแรมจริง นอกจากนี้ผู้จัดทัวร์กิจกรรมยังให้ประชาชนชำระค่าบริการในการทำกิจกรรม โดยให้สแกนคูปองที่ได้รับหลังจากการเช็คอินห้องพัก มาสเเกนใช้จ่ายกับร้านค้าที่ตนเองควบคุมไว้  


ผบ.ตร. ย้ำว่า สำหรับผู้ต้องหา จะต้องถูกดำเนินคดีในข้อหาฉ้อโกง, ฉ้อโกงโดยแสดงตนเป็นคนอื่น , ร่วมกันใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ของผู้อื่นโดยมิชอบในประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่น หรือประชาชนฯ และ ข้อหา ร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จฯ ทั้งนี้ พฤติกรรมการกระทำความผิดในคดีนี้มีลักษณะของการฉ้อโกงอันเป็นปกติธุระ ซึ่งเป็นความผิดมูลฐาน ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน ซึ่งก็จะได้ประสานไปยัง ปปง. ดำเนินคดีในความผิดฐานฟอกเงินต่อไป

ส่วนใครที่ยังคิดจะทำในลักษณะนี้อยู่ ก็ขอเตือนให้หยุดกระทำ เพราะสร้างความเสียหายให้กับเศรษฐกิจของประเทศ กรณีความเสียหายที่เกิดขึ้นกับโรงแรมอื่น ยังมีอยู่ยังไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด จะแบ่งมอบหมาย ให้แต่ละภาคดำเนินการตามที่กระทรวงการคลังและ ททท. แจ้งมา


ด้าน นายพงษ์สิทธิ์ ชัยฉัตรพรสุข รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานกำกับกฎเกณฑ์และกฎหมาย ธนาคารกรุงไทย (KTB) กล่าวว่า หลังจากตรวจพบความผิดและมีการอายัดตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.2563 มีความเสียหายบางส่วน ส่วนเรื่องพฤติกรรมนั้น มีสองส่วนที่พบความผิดปกติ คือโรงแรม และอีกส่วนคือประชาชนที่ใช้สิทธิ ส่วนที่อายัดไปมีจำนวนที่เสียหายไม่มากนัก แต่มีผลกระทบกับโครงการ สำหรับมูลค่าที่ตรวจสอบพบประมาณ 1,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้เสียหาย เพราะว่ามีส่วนที่อายัด ต้องเอาสองส่วนมาประกอบกัน โดยนอกจากพื้นที่ภูเก็ตและชัยภูมิที่พบความผิดแล้ว ยังพบในส่วนของแหล่งท่องเที่ยวทั้งเมืองหลักและเมืองรองโดยส่วนใหญ่

ขณะที่ น.ส.สภัทร์พร กล่าวว่า อยากจะฝากเตือนสำหรับโครงการเราชนะ เพราะหลักๆ โครงการเอาเงินเข้าแอพ เพื่อจะใช้จ่ายในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ อย่าทำเพราะระบบจะทำการจับได้ว่าออกมาแบบไหนได้ มันผิดวัตถุประสงค์และเงื่อนไขของโครงการ รัฐบาลสามารถดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดได้

เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง