ศูนย์วิจัยกสิกรชี้ "เศรษฐกิจฟื้น" รัฐควรลดมาตรการกระตุ้น
นางสาวณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เผย มองว่านโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐที่มีอยู่ ทั้งโครงการเราเที่ยวด้วยกัน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และการลดภาษีน้ำมันดีเซล 6 เดือนตั้งแต่ 16 มีนาคม-15 กันยายน 2566 นั้น เพียงพอแล้ว และการที่จะไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐเพิ่มในช่วงปลายปีงบประมาณ 66 จะไม่มีผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศ และมองว่าเศรษฐกิจในปีนี้ยังเติบโตได้ที่ร้อยละ 3.7
หลังจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจควรจะต้องลดทอนลง เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว ขณะที่ช่วงครึ่งปีหลังคาดว่า เศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ดีกว่าครึ่งปีแรก ส่วนในช่วงหาเสียงเลือกตั้งนั้น ศูนย์วิจัยหลายแห่งประเมินไว้ว่าจะมีเม็ดเงินสะพัดลงสู่ระบบเศรษฐกิจในช่วง 20,000-70,000 ล้านบาท ซึ่งถ้าคำนวณจากจำนวนผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มองว่าเงินจำนวนนี้เป็นไปได้ และอาจจะชดเชยในช่วงสูญญากาศเลือกตั้ง ที่การเบิกจ่ายงบลงทุนจากรัฐจะช้าลงได้
ส่วนการที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับลดประมาณการเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2566 ลงมาที่ร้อยละ 2.8 จากเดิมที่ร้อยละ 3.2 นั้นมีปัจจัยหลัก 2 เรื่อง คือ 1.ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกชะลอตัวลง และ 2.ค่าไฟปรับตัวลงมาน้อยลงกว่าที่ประเมิน
ทั้งนี้แม้จะปรับลดคาดการณ์เงินเฟ้อลง แต่ก็ยังอยู่ในกรอบบนของเป้าหมายเงินเฟ้อของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ที่ระดับร้อยละ 3 เนื่องจากราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศยังไม่ลดลงเท่าตลาดโลก และยังเห็นการส่งผ่านต้นทุนสินค้าจากผู้ประกอบการไปยังผู้บริโภค และอุปสงค์ในประเทศจากการท่องเที่ยวฟื้นตัว ยังหนุนให้ราคาสินค้าคงตัวอยู่ในระดับสูง
ที่มาข้อมูล : TNN ONLINE
ที่มาภาพ : TNN