รีเซต

สหรัฐฯใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายฉุดบาทอ่อน

สหรัฐฯใช้นโยบายการเงินผ่อนคลายฉุดบาทอ่อน
TNN ช่อง16
4 กุมภาพันธ์ 2564 ( 08:18 )
58

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงิน  ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.95-30.10 บาทต่อดอลลาร์  สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท  เรามองว่า ตลาดจะรอจับตารายงานยอดการจ้างงานสหรัฐฯ ในวันศุกร์ ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองเงินดอลลาร์

ทั้งนี้ในระยะสั้นความเสี่ยงของเงินบาทคือ การลดสถานะ “Reflation Trades” ที่ผู้เล่นต่างเก็งว่า เงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงตามการฟื้นตัวของประเทศอื่นๆและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่องของสหรัฐฯ ซึ่งภาพดังกล่าว อาจมาพร้อมแรงเทขายสินทรัพย์เสี่ยงอีกระลอก กดดันให้ ฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออกสุทธิ ทำให้เงินบาทอาจอ่อนค่าลง

แต่เงินบาทจะไม่อ่อนค่าไปมาก เนื่องจากผู้ส่งออกต่างรอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับ 30.05-30.10บาทต่อดอลลาร์  ดังนั้นหากตลาดไม่ได้มีแนวโน้มปิดรับความเสี่ยงที่รุนแรง เงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์+/- 15 สตางค์ จนกว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเงินดอลลาร์หรือฟันด์โฟลว์ชัดเจน

ตลาดโดยรวมยังคงเปิดรับความเสี่ยง ทว่าเริ่มเห็นภาพผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรสินทรัพย์เสี่ยง อย่าง หุ้น ที่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างร้อนแรงในสัปดาห์นี้ โดย ในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้นเพียง 0.1% ส่วนดัชนีหุ้นขนาดเล็กRussell ปรับตัวขึ้นราว 0.4% จากภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯที่ฟื้นตัวได้ดีจากคาด อาทิ ยอดการจ้างงานภาคเอกชนที่สำรวจโดย ADP ก็เพิ่มขึ้นกว่า 1.7แสนราย ดีกว่าที่ตลาดคาดไว้ที่ 5หมื่นราย นอกจากนี้ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการโดย ISM ในเดือนมกราคม ก็ปรับตัวขึ้นแตะระดับ 58.7จุด ดีกว่าที่ตลาดมองไว้ว่าจะปรับตัวลดลงเหลือ56.8จุด

ด้านฝั่งยุโรป ดัชนี stoxx50 ก็กลับมาปิดบวก 0.5% หลังจากปัญหาการเมืองในอิตาลีเริ่มคลี่คลายลง ทันทีที่นายมาริโอ้ ดรากิ อดีตประธาน ECB ประกาศเตรียมจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่งผลให้ ตลาดหุ้นอิตาลี (ดัชนี FTSE MIB) ปรับตัวขึ้นกว่า 2%

อย่างไรก็ตาม ตลาดก็จะรอติดตามความคืบหน้าของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่สหรัฐฯ รวมถึงรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอาทิ ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) และรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่เหลือ ก่อนจะมีการปรับสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป

นอกจากนี้สภาวะการเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ก็ได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ เด้งขึ้นต่อ 4bps สู่ระดับ 1.14% และหนุนให้ สินค้าโภคภัณฑ์ อย่าง น้ำมันดิบปรับตัวขึ้น ต่อเนื่องราว 2% แตะระดับ 58.7ดอลลาร์ต่อบาร์เรล สำหรับน้ำมันดิบเบรนท์ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ได้รับแรงหนุนจากท่าทีของ กลุ่ม OPEC+ ที่ต้องการรักษาเสถียรภาพของตลาดน้ำมันต่อด้วยการพยายามลดอุปทานส่วนเกินที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤติ COVID-19

ส่วนในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดย ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) เคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 91.1 จุด   สำหรับวันนี้ ตลาดจะยังคงติดตามความคืบหน้าของกระบวนการพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของสหรัฐฯรวมถึงรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน

รายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้ เริ่มจากในฝั่งยุโรป ภาพเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวทั่วยุโรปและความหวังการแจกจ่ายวัคซีนที่เริ่มกลับมาเร็วขึ้น จะช่วยลดแรงกดดันต่อธนาคารกลาง ทำให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Bank Rate) ไว้ที่ระดับ 0.10% ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก(Initial jobless claims) มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นราว 8แสนราย ลดลงจากรายงานก่อนหน้าที่เพิ่มขึ้นราว 8.5แสนรายสะท้อนภาพการจ้างงานที่เริ่มส่งสัญญาณฟื้นตัวดีขึ้น





เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง