รีเซต

สปสช.เผย "โรคภูมิแพ้" กับ "โรคโควิด-19" อาการแตกต่างกันอย่างไร?

สปสช.เผย "โรคภูมิแพ้" กับ "โรคโควิด-19" อาการแตกต่างกันอย่างไร?
TNN ช่อง16
10 กุมภาพันธ์ 2565 ( 14:45 )
142
สปสช.เผย "โรคภูมิแพ้" กับ "โรคโควิด-19" อาการแตกต่างกันอย่างไร?

ฤดูกาลที่เปลี่ยนไป ทำให้อากาศเปลี่ยนแปลง คนที่เป็น “โรคภูมิแพ้” หรือ “จมูกอักเสบภูมิแพ้” ก็มีอาการมากขึ้น ในขณะที่การแพร่ระบาดของโควิดก็ยังอยู่ อะไรคือความแตกต่างระหว่างโรคภูมิแพ้กับโควิด

 

วันนี้ (10 ก.พ.65) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ให้ข้อมูลความแตกต่างระหว่าง อาการของโรคภูมิแพ้ กับ อาการของโควิด มีความแตกต่างกันอย่างไร

 

อาการของโควิด

มีตั้งแต่ไม่มีอาการ หรือมีอาการเหมือนไข้หวัด เช่น มีไข้ ไอ หายใจเหนื่อยหอบ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ เจ็บคอ ท้องเสีย คัดจมูก จมูกได้กลิ่นน้อยหรือไม่ได้กลิ่น น้ำมูกไหลบางครั้ง อ่อนเพลีย หนาวสั่น ปวดศีรษะ ไปจนถึงมีอาการมาก เช่น ไอมาก เจ็บหน้าอก เหนื่อยหอบ เนื่องจากมีปอดอักเสบโดยเฉพาะในผู้ป่วยสูงอายุหรือมีโรคประจำตัวร่วมด้วย ต่างจากผู้ป่วยเด็กที่ติดเชื้อโควิดซึ่งมีอาการน้อยมาก หรือไม่มีอาการเลย

 

อาการของโรคภูมิแพ้ หรือจมูกอักเสบภูมิแพ้

มีอาการคัดจมูก น้ำมูกไหล คันตา จาม อาจมีบางครั้งที่จมูกได้กลิ่นน้อยลง โรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หรือ โรคแพ้อากาศ เป็นโรคที่พบได้บ่อยในประเทศไทย และมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ

 

ความแตกต่างระหว่างโรคภูมิแพ้ กับ โควิด

ผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ ถ้าไม่มีการติดเชื้อร่วมด้วย จะไม่มีไข้, เจ็บคอ, ไอ, อ่อนเพลีย, เมื่อยเนื้อเมื่อยตัว มักมีอาการทางจมูกเด่นกว่าผู้ป่วยโควิดที่มีอาการทางเดินหายใจส่วนล่างเด่น

 

ผู้ป่วยโรคจมูกอาจมีโรคหืดร่วมด้วย ต้องพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยง เช่น เดินทางมาจากประเทศหรือพื้นที่เสี่ยงในช่วง 14 วันก่อนมีอาการ หรือมีคนใกล้ชิด คนในครอบครัวเดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง หรือไม่

 

ในผู้ป่วยโรคจมูกอักเสบภูมิแพ้ หากได้รับการรักษาอย่างเหมาะสม เช่น ล้างจมูก, ใช้ยาสเตียรอยด์พ่นจมูก, รับประทานยาต้านฮิสทามีน หรือยาแก้แพ้ หรือใช้ยาต้านฮิสทามีนชนิดพ่นร่วมกับยาสเตียรอยด์พ่นจมูก อาการทางจมูก แล้ว ความผิดปกติในการรับกลิ่นควรจะดีขึ้น 

 

แต่ถ้าได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมแล้วอาการยังไม่ดีขึ้น โดยเฉพาะมีความผิดปกติในการรับกลิ่น และ/หรือ การรับรสที่เกิดขึ้นเฉียบพลัน หรือมีปัจจัยเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด ควรให้แพทย์วินิจฉัยแยกโรค

 

ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือสิทธิบัตรทอง เมื่อมีอาการเจ็บป่วยสามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการ (สถานพยาบาล)ตามสิทธิ แจ้งขอใช้ "สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ" ก่อนรับบริการ พร้อมแสดงบัตรประจำตัวประชาชน หากเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 7 ปี ที่ยังไม่ได้ทำบัตรประจำตัวประชาชนให้ใช้ "สูติบัตร" แทนได้

 

 

ข้อมูลจาก สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ภาพจาก แฟ้มภาพต่างประเทศ โดย AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง