กสอ.ผนึกสมาชิกอาร์เซปทำ "อินดัสตรีบับเบิล"
นายณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม(กสอ.) เปิดเผยถึงแนวทางการส่งเสริมผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(เอสเอ็มอี) หลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ว่า กสอ.ได้ดำเนินการส่งเสริมผู้ประกอบการเอสเอ็มอีอย่างเข้มข้น ทั้งการเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจ การพัฒนาทักษะผู้ประกอบการ การส่งเสริมความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจฐานราก และการขยายผลความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมกับประเทศต่างๆ ผ่านนโยบายการสร้างพันธมิตรในด้านอุตสาหกรรมระหว่างกัน หรืออินดัสตรีบับเบิล อาทิ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น
“ล่าสุดเตรียมขยายผลไปยังประเทศสมาชิกพันธมิตรทางการค้าระดับภูมิภาค หรืออาร์เซป ประกอบด้วย อาเซียน 10 ประเทศ และออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ เพื่อสร้างโอกาสให้กับภาคอุตสาหกรรมไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมอาหารและอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง”นายณัฐพลกล่าว
นายณัฐพล กล่าวว่า กสอ.ได้หารือร่วมกับนายอัทสึชิ ทาเคทานิ เลขาธิการองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น(เจโทร) เพื่อเดินหน้านโยบายขับเคลื่อนมาตรการอินดัสตรีบับเบิลระหว่างไทย – ญี่ปุ่น ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยเฉพาะการส่งเสริมความร่วมมือพัฒนาศักยภาพอุตสาหกรรมอาหารระหว่างสองประเทศ ผ่านการให้ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีที่ทางญี่ปุ่นมีความเชี่ยวชาญ ซึ่งเมื่อต้นปีที่ผ่านมา นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เดินทางไปศึกษาดูงาน ณ ประเทศญี่ปุ่น เพื่อเริ่มความร่วมมือในการพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรม เชื่อมโยงกับองค์ความรู้ด้านเครื่องจักรกลที่ทันสมัยที่เหมาะสมกับกระบวนการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร ยกระดับอุตสาหกรรมอาหารไปสู่การเป็น อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต รวมทั้งหารือเพื่อการลงทุนระหว่างภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย ซึ่งพอใจภาพรวมการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมในปัจจุบัน ที่มีอัตราการหดตัวลดลง จากมาตรการส่งเสริมภาคอุตสาหกรรมทุกด้าน
“เชื่อว่าความร่วมมือระหว่างสองประเทศในครั้งนี้ จะสามารถเพิ่มศักยภาพให้กับอุตสาหกรรมอาหารให้มีความแข็งแกร่ง รองรับความต้องการของผู้บริโภคในภูมิภาคเอเชีย สร้างรายได้ ให้กับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี กระตุ้นอัตราการจ้างงาน และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจของ 2 ประเทศได้ดีมากยิ่งขึ้น”นายณัฐพลกล่าว
นายณัฐพล กล่าวว่า สำหรับการดำเนินมาตรการอินดัสตรีบับเบิล ไทย-ญี่ปุ่นที่ผ่านมา กสอ.ได้ส่งเสริมแพลตฟอร์มออนไลน์ เพื่อการดำเนินธุรกิจของภาคอุตสาหกรรมระหว่าง 2 ประเทศ มีกิจการที่เข้าร่วมแพลตฟอร์มเพิ่มขึ้นกว่า 200 กิจการ เกิดการจับคู่ทางธุรกิจจำนวนกว่า 35 กิจการ สร้างยอดขายได้กว่า 259.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดิมกว่า16.56%
นายณัฐพล กล่าวว่า ขณะที่กรอบความร่วมมืออินดัสตรีบับเบิลกับประเทศนิวซีแลนด์ที่ผ่านมา เป็นพันธมิตรในด้านอุตสาหกรรมเกษตร เนื่องจากนิวซีแลนด์ถือเป็นประเทศที่มีความเชี่ยวชาญด้านการแปรรูปสินค้าเกษตร เพื่อการส่งออกเช่นเดียวกับไทยทั้งในด้านความปลอดภัยอาหาร และการทำเกษตรกรรมยั่งยืน โดยไทยจะนำเสนอองค์ความรู้การพัฒนาเกษตรอุตสาหกรรมที่สามารถพึ่งพาตนเองได้ตามหลักการปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง หรือบ้านบึงโมเดล ซึ่งพิสูจน์ได้ชัดเจนแล้วว่าแม้ในภาวะวิกฤตก็ยังสามารถดำเนินกิจการได้อย่างมั่นคง