คืบหน้าแผ่นดินไหว ตึก สตง. ถล่ม พบผู้เสียชีวิตเพิ่ม

คืบหน้าแผ่นดินไหว ตึก สตง. ถล่ม “ชัชชาติ” เผยพบศพเพิ่มอีก 2 ราย–เร่งเครื่องมือหนักเปิดทางโซนอันตราย
วันที่ 6 เมษายน 2568 นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผย ความคืบหน้าสถานการณ์แผ่นดินไหวที่ส่งผลให้อาคารสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ถล่ม ว่า ในช่วงคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่สามารถกู้ร่างผู้เสียชีวิตเพิ่มได้อีก 2 ราย ขณะนี้นำออกมาแล้วทั้งหมด
สถานการณ์โดยรวมเริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น สามารถรื้อถอนจุดที่โครงสร้างไม่มั่นคงได้บางส่วน ทำให้ เครื่องจักรกลหนักสามารถเข้าถึงพื้นที่อันตรายได้มากขึ้น อย่างไรก็ตาม นายชัชชาติยอมรับว่า โอกาสในการพบผู้รอดชีวิตลดน้อยลง และอาจพบผู้เสียชีวิตเพิ่มจากบริเวณซากปรักหักพัง
จุดเสี่ยงโซน C ยังเข้าถึงยาก – ต้องรื้อเนินเปิดทาง
หนึ่งในจุดสำคัญคือบริเวณ โซน C ซึ่งคาดว่ามีผู้ติดอยู่ภายใน แต่เนินดินและโครงสร้างด้านบนยังคงไม่มั่นคง จำเป็นต้องใช้รถขนาดใหญ่รื้อเปิดทาง ซึ่งขณะนี้ได้ตัดส่วนหน้าอาคารออกเพื่อเปิดทางให้เครื่องจักรสามารถจัดการซากด้านบนได้โดยไม่กระทบกับเจ้าหน้าที่
การปฏิบัติการต่อไปจะเปิดทางเข้าได้ 2 ทิศ คือด้านหน้าและด้านข้าง โดยเฉพาะด้านข้างที่ต้องเจาะผ่านพื้นที่ของ การรถไฟแห่งประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกในการค้นหา
แผนค้นหาเปลี่ยนใหม่ “วิ่งมาราธอน” มากกว่าเร่งกู้ชีพ
นายชัชชาติ เปรียบการทำงานในระยะนี้ว่า “เปลี่ยนจากวิ่ง 100 เมตร มาเป็นวิ่งมาราธอน” ต้องวางแผนให้ทีมงานทำงานต่อเนื่องระยะยาว พร้อมบริหารจัดการทรัพยากร และดูแลทีมกู้ภัยให้พร้อมปฏิบัติงานต่อเนื่อง
ขณะนี้การค้นหายังเน้นการส่ง ทีม K-9 เข้าไปสำรวจในจุดที่คาดว่าจะมีช่องหรือโพรงใหญ่ เมื่อพบสัญญาณชีพจึงให้เครื่องจักรหยุดทำงานและส่งหน่วยกู้ภัยเข้าไปค้นหาอย่างปลอดภัย
ข้อมูลหน้างานแม่นยำขึ้น – ใช้เทคโนโลยีช่วยระบุตำแหน่งผู้สูญหาย
อีกหนึ่งความก้าวหน้าในการค้นหาครั้งนี้คือการใช้ เทคโนโลยีจากทีมกู้ภัยนานาชาติ ที่สามารถระบุชั้น อาคาร และตำแหน่งของผู้สูญหายได้ ทำให้เจ้าหน้าที่เข้าใจรูปแบบการเคลื่อนไหวหรือหนีภัยของผู้ที่ติดอยู่ใต้ซากอาคารได้อย่างแม่นยำมากขึ้น
นายชัชชาติยังระบุว่า เริ่มพบ โพรงเชื่อมระหว่างโซน B กับโซน C ซึ่งเป็นทางเข้าออกของคนงานในอาคาร จึงคาดว่าผู้ติดค้างจำนวนหนึ่งอาจอยู่ในบริเวณนี้ ซึ่งสอดคล้องกับตำแหน่งของร่างผู้เสียชีวิต 2 รายที่พบเมื่อคืน
กทม.ร่วมมือเต็มที่ – การตรวจสอบอาคารเป็นหน้าที่หน่วยงานกลาง
ในส่วนของการตรวจสอบโครงสร้างอาคารและหาสาเหตุการถล่มนั้น นายชัชชาติชี้แจงว่า เป็นหน้าที่ของ กรมโยธาธิการและผังเมือง รวมถึงคณะกรรมการที่นายกรัฐมนตรีตั้งขึ้น ส่วน กรุงเทพมหานครมีหน้าที่ดูแลด้านอุบัติภัยและอำนวยความสะดวกด้านข้อมูล