รีเซต

รู้จักกับ Blackout Challenge เทรนด์เสี่ยงตายที่แพร่หลายบน TikTok

รู้จักกับ Blackout Challenge เทรนด์เสี่ยงตายที่แพร่หลายบน TikTok
TNN ช่อง16
23 สิงหาคม 2565 ( 18:52 )
135

สังคมออนไลน์เป็นสังคมที่กว้างใหญ่และไร้ขีดจำกัด นำพาผู้คนที่ไม่รู้จักกันมาสร้างความสัมพันธ์ต่อกัน แต่ในอีกทาง การเชื่อมโยงนี้ก็นำพาอันตรายมาสู่คนรอบตัวหรือแม้แต่ตัวเองได้เช่นกัน ในตอนนี้ ติ๊กตอก (TikTok) กำลังตกเป็นกระแสด้านลบอีกครั้งจากการที่ปล่อยให้เนื้อหาที่มีลักษณะการส่งต่อการท้าทายสุดอันตรายที่มีชื่อว่าแบล็คเอาท์ ชาเลนจ์ (Blackout Challenge) ซึ่งท้าให้คนทำให้ตัวเองหมดสติ และแพร่หลายจนมีผู้เสียชีวิตอยู่ในตอนนี้


ทำความรู้จักแบล็คเอาท์ ชาเลนจ์ (Blackout Challenge)


แบล็คเอาท์ ชาเลนจ์ (Blackout Challenge) เป็นกระแสการส่งต่อคำท้าทายในการทำให้ตัวเองนั้นหมดสติด้วยวิธีต่าง ๆ เช่น การรัดคอ การให้คนอื่นรัดคอด้วยการหนีบแขน เพื่อทำให้ผู้เล่นหมดสติเป็นระยะเวลาสั้น ๆ ซึ่งกระแสการส่งต่อนี้เป็นอันตรายอย่างมาก เนื่องจากการขาดอากาศหายใจเป็นเวลาไม่กี่นาทีก็อาจจะทำให้สมองตายและเสียชีวิตได้ 


ต้นตอของการกระทำสุดเสี่ยงนี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2008 แต่การมาถึงของติ๊กตอก (Tiktok) ทำให้มีการรายงานถึงผลกระทบจากการเลียนแบบพฤติกรรมสุดอันตรายนี้ขึ้นมาอีกครั้งตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2021 โดยสำนักข่าวนิวยอร์กโพสต์ (New York Post) ได้รายง่านข่าวเด็กหนุ่มอายุ 12 ปี มีอาการสมองซีกซ้ายตายเนื่องจากขาดออกซิเจนจากการทำตามเทรนด์นี้ และเทรนด์นี้ก็ได้แพร่หลายอยู่ในมุมมืดของสังคมติ๊กตอก (Tiktok) ในขณะที่ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อหรือซีดีซี (CDC: Centers for Disease Control and Prevention) ของสหรัฐฯ เคยแถลงประกาศว่ามีผู้เสียชีวิตจากการเล่นตามกระแสนี้ถึง 82 ราย และที่น่าตกใจยิ่งกว่านั้นพบว่าผู้เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นเด็กหนุ่มในวัยเพียง 11 - 16 ปี เท่านั้น


การกลับมาของแบล็คเอาท์ ชาเลนจ์ (Blackout Challenge)


หลังจากเงียบหายไปได้สักระยะ กระแสแบล็คเอาท์ ชาเลนจ์ (Blackout Challenge) ก็กลับมาอีกครั้ง โดยคราวนี้เป็นกระแสทั้งในสหรัฐอเมริกาและในอังกฤษ โดยที่สหรัฐฯ ไนลาห์ แอนเดอร์สัน (Nylah Anderson) เด็กหญิงวัย 10 ขวบ ได้เลียนแบบพฤติกรรมนี้จนเสียชีวิต ทำให้แม่ของเธอตัดสินใจยื่นฟ้องติ๊กตอก (TikTok) ต่อศาลแขวงเพนซิลเวเนียตะวันออก ในข้อหาปล่อยปละละเลยให้มีเนื้อหาอันตราย และยังเป็นแพลตฟอร์มล้างสมองที่ส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมคนอื่นร่วมกันกับผู้ปกครองคนอื่น ๆ ที่ต้องเสียลูกของตนไปจากเทรนด์นี้ ส่วนในอังกฤษสถานการณ์ก็ไม่ต่างกันนัก อาร์ชี แบตเตอร์สบี (Archie Battersbee) เด็กหนุ่มวัย 12 ปี เสียชีวิตจากการทำตามกระแสนี้เช่นกัน หลังจากที่พยายามยื้อจากอาการภาวะขาดออกซิเจนมาตั้งแต่เดือนเมษายน โดยแม่ของเด็กได้เรียกร้องให้กระทรวงสาธารณสุขของอังกฤษและตำรวจดำเนินการหยุดการเผยแพร่เทรนด์เสี่ยงตายนี้ให้ได้โดยเร็วที่สุด 


นับตั้งแต่ปี 2021 ก็มีรายงานผู้เสียชีวิตทั่วโลกจากการกระทำตามการท้าทายดังกล่าว โดยเฉพาะในสหรัฐฯ และอังกฤษ อย่างไรก็ตาม โฆษกของบริษัท ไบท์แดนซ์ (ByteDance) บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีน ซึ่งเป็นผู้สร้างแพลตฟอร์มติ๊กตอก (Tiktok) นั้นยืนยันว่าบริษัทไม่ได้เป็นผู้อยู่เบื้องหลังกระแสดังกล่าว และไม่สามารถควบคุมกระแสนี้ได้แต่แรกเนื่องจากเป็นเรื่องของกระแสสังคม อีกทั้งยังกล่าวอ้างถึงรายงานของซีดีซี (CDC) เพื่อชี้ให้เห็นว่าเทรนด์นี้มีมาก่อนการเกิดขึ้นของติ๊กตอก (TikTok) ในปี 2016 อีกด้วย


หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าเด็กเหล่านี้ได้รับเนื้อหาที่มีการท้าทายสู่ความตายนี้ผ่านระบบอัลกอริทึม (Algorithm) ของแอป ซึ่งนำเสนอเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจหรือกระแสที่คัดกรองมาเป็นอย่างดีตามคำกล่าวอ้างของทนายความในคดีการเสียชีวิตของไนลาห์ แอนเดอร์สัน (Nylah Anderson) ผ่านหน้าฟีเจอร์ที่ชื่อว่า “สำหรับคุณ” (For You Page) ซึ่งพบบันทึกการนำเสนอคลิปที่เป็นแบล็คเอาท์ ชาเลนจ์ (Blackout Challenge) จนเป็นเหตุให้เธอทำตามและเสียชีวิตลงในที่สุด


อัลกอริทึม (Algorithm) ตัวร้ายที่ส่งต่อแบล็คเอาท์ ชาเลนจ์ (Blackout Challenge)


บนติ๊กตอก (Tiktok) จะมีการนำเสนอหน้าฟีเจอร์ “สำหรับคุณ” (For You Page) ซึ่งเป็นการทำงานของระบบอัลกอริทึม (Algorithm) ของแพลตฟอร์มที่โดดเด่นและทำให้มีผู้ใช้งานติ๊กตอก (TikTok) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ผู้เชี่ยวชาญวิเคราะห์ว่าระบบ AI ของติ๊กตอก (TikTok) จะเน้นการวิเคราะห์เนื้อหาที่ผู้ใช้งานสนใจและหยิบเลือกเนื้อหาที่ตรงกับความสนใจและการค้นหาของผู้ใช้งานมากที่สุด ต่างจากแพลตฟอร์มอื่น ๆ อย่างเฟซบุ๊ก (Facebook) หรืออินสตาแกรม (Instragram) ที่เน้นการนำเสนอเนื้อหาที่น่าสนใจบนพื้นฐานของยอดไลค์ หรือยอดคนดู (Reach Views) ดังนั้น ผู้ใช้งานบางรายที่มีแนวโน้มสนใจเนื้อหาที่เสี่ยงอันตรายจึงมีโอกาสได้รับเนื้อหาที่ทำให้สถานการณ์นั้นเลวร้ายยิ่งขึ้น


เนื้อหาฆ่าตัวตาย เป็นตัวอย่างอีกด้านว่าทำไมระบบ AI ของติ๊กตอก (Tiktok) อาจจะเป็นต้นตอปัญหาเดียวกันกับแบล็คเอาท์ ชาเลนจ์ (Blackout Challenge) โดยจากรายงานของเว็บไซต์ไวร์ด (Wired.com) พบว่าแฮชแท็ก (Hashtag) “#unalivemeplease” และ “#unaliving” ติดยอดผู้ชมกว่า 9.2 ล้านครั้ง และ 6.6 ล้านครั้งตามลำดับ โดยมีที่มาจากคำว่าอันอไลฟ์ (Unalive) ที่เป็นคำเลี่ยงของคำว่าฆ่าตัวตาย (Suicide) เพื่อไม่ให้ระบบ AI ของแอปตรวจจับและลบคลิปได้ ซึ่งสะท้อนว่าการทำงานของ AI บนติ๊กตอก (TikTok) นั้นยังไม่เก่งพอจะตรวจเนื้อหาสุ่มเสี่ยงได้ และยิ่งรวมเข้ากับฟีเจอร์ “สำหรับคุณ” บนหน้าแอปก็จะกลายเป็นวัตถุดิบอย่างดีสำหรับผู้ที่เสพเนื้อหาอันตรายบนแพลตฟอร์ม


ในขณะนี้สายตาจากหลายประเทศทั้งประชาชนและหน่วยงานของรัฐพุ่งเป้าไปที่การจัดการของติ๊กตอก (TikTok) เพราะถึงแม้ว่าจะมีระบบรายงานเนื้อหาที่ละเมิดมาตรฐานชุมชน ซึ่งรวมถึงแบล็คเอาท์ ชาเลนจ์ (Blackout Challenge) แต่ทางผู้พัฒนาก็ยังไม่สามารถจัดการปัญหานี้ได้อย่างทันท่วงที นอกจากการพูดของโฆษกในกรณีของไนลาห์ แอนเดอร์สัน (Nylah Anderson) ที่เคยกล่าวไว้ว่าทางผู้พัฒนานั้นยังคงให้ความสำคัญต่อความปลอดภัยต่อผู้ใช้งานและจะลบเนื้อหาดังกล่าวออกทันทีที่พบ





ที่มาข้อมูล The Independent, The Washington Post, New York Post, Daily Mail Online, Argoid, Wired, TikTok

ที่มารูปภาพ Pixabay



ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง