รีเซต

อุทกภัยระลอกใหม่ นราธิวาส ครอบคลุม 13 อำเภอ ได้รับความเสียหายหนัก

อุทกภัยระลอกใหม่ นราธิวาส ครอบคลุม 13 อำเภอ ได้รับความเสียหายหนัก
มติชน
26 กุมภาพันธ์ 2565 ( 10:15 )
36
อุทกภัยระลอกใหม่ นราธิวาส ครอบคลุม 13 อำเภอ ได้รับความเสียหายหนัก

วันที่ 26ก.พ.จากประกาศศูนย์อุตุนิยมวิทยาภาคใต้ฝั่งตะวันออก ฉบับที่ 5 (6/2565) เรื่อง คลื่นลมแรง และฝนตกหนักถึงหนักมากบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ลมตะวันออกและลมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุม อ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณนอกชายฝั่ง ทางตะวันออกของประเทศมาเลเซีย มีแนวโน้มเคลื่อนเข้าปกคลุมประเทศมาเลเซียและภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้เกิดน้ำไหลหลากเข้าท่วมบ้านเรือนของประชาชนในพื้นที่ 13 อำเภอของ จ.นราธิวาส อย่างรวดเร็วในห้วง 2 วันที่ผ่านมา (24-25 กุมภาพันธ์ 2565) ประกอบด้วย อ.เมืองนราธิวาส อ.ระแงะ อ.จะแนะ อ.บาเจาะ อ.ยี่งอ อ.รือเสาะ อ.ศรีสาคร อ.สุไหงโก-ลก อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.สุไหงปาดี อ.ตากใบ และ อ.เจาะไอร้อง

โดยพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมขังเป็นพื้นที่ที่เกิดน้ำท่วมซ้ำซากเป็นประจำในห้วงฤดูน้ำหลาก ซึ่งระดับน้ำที่ท่วมขังสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 2 เมตร ส่งผลให้บ้านเรือนของประชาชนถูกน้ำท่วมขัง อีกทั้งถนนหนทางหลายสายถูกตัดขาดโดยเฉพาะเส้นทางสายรองในหมู่บ้านต่างๆ โดยอำเภอที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุด ได้แก่ อ.เจาะไอร้อง อ.สุไหงปาดี อ.สุไหงโก-ลก อ.ศรีสาคร อ.จะแนะ อ.ระแงะ อ.แว้ง อ.สุคิริน เป็นต้น ที่น้ำจากเทือกเขาไหลลงมาสมทบ ทำให้ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยภาพรวมของอุทกภัยในครั้งนี้เบื้องต้นหนักสุดจำนวน 8 อำเภอ 39 ตำบล 115 หมู่บ้าน

ทั้งนี้รายงานฝนตกหนักถึงหนักมาก รายอำเภอของจังหวัดนราธิวาส ข้อมูล ณ วันที่ 25 ก.พ.65 เวลา 07.00 น. – 19.00 น.ดังนี้ 1.อ.ยี่งอ วัดได้ 115.8 มม. 2.อ.บาเจาะ วัดได้ 151.0 มม. 3.สนามบินนราธิวาส วัดได้ 87.4 มม. 4.อ.สุไหงโก-ลก วัดได้ 223.0 มม. 5.ศาลากลางจังหวัดนราธิวาส วัดได้ 81.4 มม. 6.อ.ระแงะ วัดได้ 146.2 มม. 7.อ.สุคิริน วัดได้ 243.4 มม. 8.อ.สุไหงปาดี วัดได้ 254.8 มม. 9.อ.เจาะไอร้อง วัดได้ 265.2 มม. 10.อ.แว้ง วัดได้ 221.4 มม. 11.อ.เมือง (สถานีอุตุฯ) วัดได้ 74.6 มม. 12.อ.รือเสาะ วัดได้ 254.4 มม. 13.อ.จะแนะ วัดได้ 284.2 มม. 14.อ.ตากใบ วัดได้ 46.0 มม. 15.อ.ศรีสาคร วัดได้ 248.0 มม. 16.ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง วัดได้ 73.6 มม. มีบ้านเรือนเสียหายบ้างส่วน 6.851หลัง ความเสียหายด้านการเกษตร บ่อปลา8ไร่ โค4ตัว พืชสวน 2,582ไร่ สิ่งสาธารณประโยชน์ ถนนเสียหาย28สาย สถานที่ราชการ โรงเรียน3แห่ง มัสยิด 1แห่ง

สำหรับแนวโน้มสถานการณ์แม่น้ำทั้ง3สายเป็นแม่น้ำสายหลักของจังหวัดนราธิวาสคือแม่น้ำ สายบุรี แม่น้ำบางนรา และแม่น้ำสุไหงโกลค ทั้ง3สายนี้ระดับน้ำอยู่ในเกณฑ์เฝ้าระวัง

ล่าสุด นายสนั่น พงษ์อักษร ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส ได้ออกหนังสือเร่งด่วน ไปยังนายอำเภอทุกอำเภอ รวมทั้งประชาสัมพันธ์จังหวัดนราธิวาส ผอ.สถานีวิทยุกระจายเสียงทุกแห่งในพื้นที่ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาค สาขานราธิวาส ประมงจังหวัดนราธิวาส หัวหน้าด่านตรวจประมงนราธิวาส เพื่อเตรียมความพร้อม เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ดังกล่าว ในช่วงระหว่างวันที่ 25 – 27 กุมภาพันธ์ 2565 เพื่อให้การปฏิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โดยขอให้กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ ทุกอำเภอและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ แจ้งเตือนประชาชนให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศและข่าวสารจากทางราชการ เฝ้าระวังสถานการณ์ฝนตกหนัก ปริมาณฝนสะสม และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมอยู่เป็นประจำ โดยพื้นที่ลุ่มต่ำ พื้นที่ชุมชนเมือง พื้นที่ติดแม่น้ำลำคลอง อาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมขัง น้ำล้นตลิ่ง พื้นที่ลาดเชิงเขาอาจได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

รวมถึงออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเลให้เฝ้าระวังอันตรายจากคลื่นลมแรง ตลอดจนกำชับสถานประกอบการโรงแรมในพื้นที่ชายทะเล สื่อสารให้นักท่องเที่ยวระมัดระวังและห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด บริเวณอ่าวไทยมีคลื่นสูง 2-3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองทะเลมีคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ขอให้ประชาชนที่อาศัยบริเวณชายฝั่ง ควรระวังอันตรายจากคลื่นลมแรงที่พัดเข้าหาฝั่ง และชาวเรือควรเดินเรือด้วยความระมัดระวัง เรือเล็กควรงดออกจากฝังไว้ด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง