รีเซต

เหตุใดโควิด "โอมิครอน" ระบาดหนักทั่วโลก? ไม่มีทีท่าจะหยุด กลายพันธุ์กว่า 500 สายพันธุ์ย่อย

เหตุใดโควิด "โอมิครอน" ระบาดหนักทั่วโลก? ไม่มีทีท่าจะหยุด กลายพันธุ์กว่า 500 สายพันธุ์ย่อย
TNN ช่อง16
27 ธันวาคม 2565 ( 09:12 )
96
เหตุใดโควิด "โอมิครอน" ระบาดหนักทั่วโลก? ไม่มีทีท่าจะหยุด กลายพันธุ์กว่า 500 สายพันธุ์ย่อย

"หมอธีระ" เปิดข้อมูลเหตุใด ไวรัสโควิดสายพันธุ์ "โอมิครอน" จึงระบาดหนักทั่วโลก? ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด กลายพันธุ์ไปมากกว่า 500 สายพันธุ์ย่อย ย้ำการระบาดในไทยเรานั้น ยังมีการติดเชื้อจำนวนมากในแต่ละวัน

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat โดยระบุว่า 27 ธันวาคม 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 210,674 คน ตายเพิ่ม 715 คน รวมแล้วติดไป 662,037,119 คน เสียชีวิตรวม 6,686,844 คน

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ญี่ปุ่น บราซิล เกาหลีใต้ ฮ่องกง และไต้หวัน

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 75.71 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 84.33

...เหตุใด Omicron จึงระบาดหนักทั่วโลก?

จากความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์จนถึงปัจจุบัน มีงานวิจัยทั่วโลกชี้ให้เห็นชัดเจนไปแล้วว่า ไวรัสโรคโควิด-19 มีพัฒนาการเพื่อความอยู่รอดของตัวไวรัสอย่างต่อเนื่อง จนทำให้เกิดการระบาดหนักหลายระลอกในช่วงสามปีที่ผ่านมา ตั้งแต่สายพันธุ์ดั้งเดิมจากอู่ฮั่น ประเทศจีน (WA1), สายพันธุ์ D614G, สายพันธุ์เบต้า อัลฟ่า เดลต้า และมาสู่ยุค Omicron ตั้งแต่ต้นปีนี้เป็นต้นมา

ที่น่าสนใจคือ Omicron มีการระบาดหนักมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา และไม่มีทีท่าว่าจะหยุด รวมถึงมีการกลายพันธุ์ไปมากกว่า 500 สายพันธุ์ย่อย ซึ่งเป็นอัตราการกลายพันธุ์ที่มากที่สุด และสูงกว่าพวกไวรัสไข้หวัดใหญ่อย่างเทียบไม่ติด

การระบาดหนักของ Omicron นั้นได้รับการพิสูจน์แล้วว่ามาจากปัจจัยหลักๆ หลายปัจจัย ได้แก่ การดื้อต่อภูมิคุ้มกันทั้งจากวัคซีนและจากการที่เคยติดเชื้อมาก่อน ตลอดจนพฤติกรรมการป้องกันตัวของคนในสังคมที่ลดลง จากเสรีการใช้ชีวิต เดินทางท่องเที่ยว รวมถึงเรื่องการฉีดวัคซีนในแต่ละประเทศ ทั้งชนิดวัคซีนที่ใช้ เงื่อนเวลาที่ได้รับ ความครอบคลุม และการฉีดเข็มกระตุ้นว่าครบและทันต่อสถานการณ์ในแต่ละประเทศหรือไม่

ล่าสุด Iwasaki A และคณะ จากมหาวิทยาลัยเยล ประเทศสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาสำคัญ ใน bioRxiv เมื่อวันที่ 23 ธันวาคมที่ผ่านมา

โดยพบว่า เมื่อเปรียบเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิมแล้ว การติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ของ Omicron นั้น ตัวไวรัสจะสามารถยับยั้งกลไกการทำงานของ MHC I ในเซลล์ที่ติดเชื้อ ทำให้ระบบการทำงานของภูมิคุ้มกันระดับเซลล์ ซึ่งใช้เม็ดเลือดขาวชนิด CD8 T cells ในการทำลายเซลล์ที่ติดเชื้อนั้นไม่สามารถทำงานได้ตามที่ควรจะเป็น

ปรากฏการณ์ข้างต้น พบทั้งในสายพันธุ์ย่อยต่างๆ ตั้งแต่ BA.1, BA.2, BA.4 รวมถึง XAF ด้วย 

การค้นพบนี้จึงเป็นหลักฐานสำคัญที่ชี้ให้เห็นว่า สายพันธุ์ย่อยใหม่ๆ ของ Omicron นั้น ไม่ใช่แค่พัฒนาเรื่องการดื้อต่อภูมิคุ้มกันในน้ำเลือดหรือแอนติบอดี้เท่านั้น แต่ยังมีสมรรถนะในการยับยั้งการทำงานของ CD8 T cells ทำให้ไม่สามารถทำลายเซลล์ติดเชื้อได้ ซึ่งจะส่งผลให้ร่างกายคนที่ติดเชื้อมีปริมาณไวรัสที่มาก และเพิ่มโอกาสที่จะแพร่เชื้อให้แก่คนอื่นได้มากเป็นเงาตามตัว 

...ย้ำอีกครั้งว่า การระบาดในไทยเรานั้น ยังมีการติดเชื้อจำนวนมากในแต่ละวัน

การป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอถือเป็นเรื่องจำเป็น ไม่ว่าจะทำงาน เรียน หรือท่องเที่ยว พบปะสังสรรค์กับผู้อื่น

ควรไปรับวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ครบตามกำหนด เพื่อลดเสี่ยงป่วย ตาย และ Long COVID

เลี่ยงที่แออัด ระบายอากาศไม่ดี 

เลือกใช้สถานบริการ กินดื่ม ในที่ที่โปร่งโล่ง และพนักงานมีการป้องกันตัวอย่างดี

หากไม่สบาย ตรวจพบว่าติดเชื้อ ควรแยกตัวจากผู้อื่นอย่างน้อย 7-10 วัน จนกว่าอาการดีขึ้น ไม่มีไข้ และตรวจ ATK ซ้ำแล้วได้ผลลบ จึงออกมาใช้ชีวิตป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดจนครบสองสัปดาห์

ถ้าไม่สบาย ตรวจแล้วได้ผลลบ อย่าเพิ่งวางใจ เพราะอาจเป็นผลลบปลอม ให้ตรวจซ้ำทุกวันติดกันอย่างน้อยสามวัน  

สำคัญที่สุดคือ การใส่หน้ากากอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงลงไปได้มาก

อ้างอิง

Moriyama M et al. SARS-CoV-2 Omicron subvariants evolved to promote further escape from MHC-I recognition. bioRxiv. 23 December 2022.




ข้อมูลจาก รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์

ภาพจาก AFP

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง