รีเซต

โค้งสุดท้าย ยื่นภาษี ต้องเตรียมอะไรบ้าง? ก่อนหมดเขตยื่นออฟไลน์ -ออนไลน์

โค้งสุดท้าย ยื่นภาษี  ต้องเตรียมอะไรบ้าง? ก่อนหมดเขตยื่นออฟไลน์ -ออนไลน์
TNN ช่อง16
24 มีนาคม 2565 ( 15:40 )
222

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้าย สำหรับยืนแบบฯ ภาษี เงินได้บุคคลธรรมดาปี 2564 โดยสามารถยื่นภาษีแบบเอกสารได้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 31 มีนาคม 2565 นี้แล้ว ส่วน ยื่นภาษี ทางออนไลน์ได้ถึงวันที่ 8 เมษายน 2565 

ใครที่ที่ทำงานมานาน มีประสบการณ์การยื่นภาษีคงรู้อยู่แล้วว่าต้องเตรียมเอกสารอะไรบ้าง แต่สำหรับมนุษย์เงินเดือน น้องใหม่แห่งวงการยื่นภาษีและเป็นมือใหม่หัดยื่นภาษีอาจจะยังคงสับสน ว่าต้องยื่นภาษีในรูปแบบใดและต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง ดังนั้น TNN Online จึงจะพาไปทบทวนข้อมูลและเช็กลิสต์เอกสารต่างๆที่จำเป็นในการ ยื่นภาษี กันอีกครั้ง 


สิ่งที่ต้องทราบอันดับแรก นั่นก็คือ การยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดามี 2 แบบ ได้แก่

  • ภ.ง.ด.90 ผู้ที่มีรายได้นอกเหนือจากเงินเดือนที่ได้รับ เช่น ค้าขายแบบบุคคลธรรมดา หรือเงินปันผล 
  • ภ.ง.ด.91 ผู้ที่มีรายได้เป็นเงินเดือนโดยไม่มีรายได้เสริม เช่น พนักงานบริษัทที่รับเงินเดือนเพียงอย่างเดียว 


เช็กลิสต์ ก่อนยื่นภาษี

แน่นอนว่าแม้จะ ยื่นภาษีออนไลน์ หรือออฟไลน์ การเตรียมเอกสารให้พร้อมเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุด  เพราะเอกสารบางประเภทอาจต้องใช้เวลานานในการขอ และในการยื่นภาษีแต่ละครั้งต้องใช้ความละเอียดรอบคอบ หากลืมรายการลดหย่อนภาษีไปแม้แต่รายการเดียว นั่นก็หมายถึงต้องจ่ายภาษีมากขึ้น ก่อนทำการยื่นภาษีจึงต้องเช็กรายการและเตรียมเอกสารลดหย่อนภาษีที่มีให้ครบ  
โดย เอกสารสำคัญที่ต้องเตรียมก่อนยื่นภาษี ได้แก่ 

  • เอกสารหลักฐานแสดงรายได้ หนังสือรับรองเงินเดือน (50 ทวิ) จากนายจ้าง ซึ่งในเอกสาร 50 ทวิจะมีรายละเอียดสำคัญ เช่น รายได้รวมที่แสดงให้เห็นว่า ในปีนั้นเรามีรายได้รวมเท่าไหร่ หรือเงินสมทบประกันสังคมทั้งหมด เป็นต้น 
  • เอกสารรายการลดหย่อนภาษีกลุ่มต่าง ๆ ที่รวบรวมไว้ตลอดทั้งปี เช่น ค่าเลี้ยงดูพ่อแม่ หรือบุตร เบี้ยประกันชีวิต ประกันสุขภาพ เอกสารช้อปดีมีคืน เป็นต้น


ยื่นภาษีอย่างไร? 

การ ยื่นภาษี สามารถยื่นได้ง่าย มีหลายวิธีให้เลือกตามที่สะดวก ดังนี้

1. กรอกใบ ภ.ง.ด. แล้วเตรียมเอกสารยื่นภาษีที่เกี่ยวข้อง ไปยังสำนักงานสรรพากรทุกพื้นที่

2. กรอกใบ ภ.ง.ด. แล้วให้หน่วยงานบริษัทที่สังกัดยื่นให้

3. ยื่นภาษีออนไลน์ด้วยตัวเอง ผ่านเว็บไซต์ www.rd.go.th

ภาพจาก : https://efiling.rd.go.th/rd-cms/

วางแผนลดหย่อนภาษีเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย 

คนที่กำลังเตรียมจะยื่นภาษีหรือ ยื่นภาษี เรียบร้อยแล้ว บางคนที่รายได้ต่อเดือนเยอะ ก็อาจจะต้องจ่ายภาษีจำนวนไม่น้อย อาจเพราะไม่ได้มีการวางแผนการลดหย่อนไว้ล่วงหน้า ปีนี้ต้องเริ่มต้นวางแผนทางการเงินสำหรับการยื่นภาษีล่วงหน้าบ้างแล้ว ซึ่งส่วนใหย๋แล้วหลายคนเลือกตัวช่วยในการใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษี นอกเหนือจากค่าลดหย่อนส่วนตัวแล้ว ก็นิยมซื้อ  ประกันสุขภาพ หรือ ประกันชีวิต ที่ให้ความคุ้มครองและสามารถนำไปลดหย่อนได้ด้วย  โดยค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เราสามารถเตรียมพร้อมหรือวางแผนนำไปลดหย่อนภาษีได้ ก็ได้แก่

  • ซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ เบี้ยประกันชีวิตยังสามารถนำไปลดหย่อนภาษีรวมกับเบี้ยประกันสุขภาพได้สูงสุดถึง 100,000 บาท และลดหย่อนภาษีจากประกันชีวิตแบบบำนาญอีกสูงสุด 200,000 บาท
  • ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF หรือสมทบทุนในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพในบริษัทที่ทำงานอยู่ นอกจากจะเป็นเงินเก็บที่มีโอกาสได้กำไรแล้ว ยังใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ)
  • ลงทุนในกองทุนรวมเพื่อการออม กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) เป็นกองทุนที่สามารถลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งจะมาแทนกองทุน LTF โดยกองทุน SSF ใช้ลดหย่อนภาษีได้สูงสุดถึง 30% ของรายได้รวมทั้งปี แต่ไม่เกิน 500,000 บาท (เมื่อรวมกับกองทุนเพื่อการเกษียณอื่น ๆ)
  • ช้อปดีมีคืน แต่ในส่วนของค่าใช้จ่ายนี้สามารถนำไปลดหย่อนภาษีในปี 2565 (ปีภาษีถัดไปได้) จะมอบสิทธิให้กับประชาชนที่ซื้อสินค้าหรือบริการ (ที่เข้าร่วมเงื่อนไข) แล้วสามารถนำวงเงินค่าใช้จ่ายไปหักลดหย่อนภาษีเงินได้ (ตามจำนวนที่จ่ายจริง) แต่ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี
  • ซื้อบ้านและคอนโด โดยดอกเบี้ยในการผ่อนบ้าน-คอนโดที่เสียทั้งปี สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง สูงสุดถึง 100,000 บาท


ถ้ายื่นภาษี ปี 65 ล่าช้าจะเกิดอะไรขึ้น

ถ้ากรณีลืมยื่นแบบภาษีภายในกำหนด ชำระภาษีไม่ครบถ้วน ละเลย หรือหลีกเลี่ยงการยื่นแบบภาษี สิ่งที่ควรรู้เลยคือ จะต้องเสียเงินเพิ่มและเบี้ยปรับตามกฎหมายกำหนด และหากฝ่าฝืน หลีกเลี่ยง ไม่ยอมชำระจะต้องรับโทษทางอาญาด้วย บทลงโทษมีดังนี้

- กรณีไม่ชำระภาษีภายในกำหนดเวลา จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 1.5 ต่อเดือน (เศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) ของเงินภาษีที่ต้องชำระนับแต่วันพ้นกำหนดเวลาการยื่นรายการจนถึงวันชำระภาษี

- กรณีเจ้าพนักงานตรวจสอบออกหมายเรียก และปรากฏว่ามิได้ยื่นแบบแสดงรายการไว้หรือยื่นแบบแสดงรายการไว้แต่ชำระภาษีขาดหรือต่ำไป นอกจากจะต้องรับผิดชำระเงินเพิ่มแล้ว ยังจะต้องรับผิดเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่าหรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระแล้วแต่กรณี เงินเบี้ยปรับดังกล่าวอาจลดหรืองดได้ตามระเบียบที่อธิบดีกำหนดโดยอนุมัติรัฐมนตรี

- กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท

- กรณีจงใจ แจ้งข้อความเท็จ หรือแสดงหลักฐานเท็จหรือฉ้อโกง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษจำคุกตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปี และปรับตั้งแต่ 2,000 บาท ถึง 200,000 บาท

- เจตนาละเลยไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อหลีกเลี่ยงการเสียภาษีอากร มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ


ภาพจาก :AFP- https://efiling.rd.go.th/rd-cms/

ถ้ายื่นภาษี ปี 65 ไม่ทันทำอย่างไร

หากยื่นแบบภาษีไม่ทันตามกำหนด ผู้เสียภาษีต้องเตรียมเอกสารที่เกี่ยวข้องไป ยื่นภาษี ที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่เท่านั้น (ไม่สามารถยื่นแบบภาษีทางออนไลน์ได้) โดยต้องยื่นเอกสารดังต่อไปนี้

- แบบฟอร์ม ภ.ง.ด.91 หรือ ภ.ง.ด.90

- หนังสือรับรองการหักภาษี ณ ที่ จ่าย (50 ทวิ)

- เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการลดหย่อนภาษี เช่น หนังสือรับรองการจ่ายเบี้ยประกันชีวิต, หนังสือรับรองการจ่ายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ, หนังสือรับรองการซื้อหน่วยลงทุนใน RMF, เอกสารยืนยันสิทธิ์ค่าลดหย่อนบิดามารดา (ใบ ล.ย. 03) หรือเอกสารยืนยันสิทธิ์ลดหย่อนค่าอุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ (ใบ ล.ย. 04) ฯลฯ

- เตรียมเงิน เพื่อจ่ายภาษีส่วนที่ค้าง รวมทั้งอาจต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มด้วย


การ ยื่นภาษี สำหรับมือใหม่แนะนำให้ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม และเตรียมพร้อมวางแผนก่อนจะยื่นภาษี เพื่อคิดคำนวณค่าใช้จ่ายไว้ก่อนจะช่วยให้เราบริหารจัดการค่าใช้จ่ายได้ง่ายขึ้น แต่หากมีข้อสงสัยที่ไม่สามารถหาคำตอบเองได้ก็สามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่สำนักงานสรรพากรทุกแห่งทั่วประเทศ หรือศูนย์สารนิเทศสรรพากร (RD Intelligence Center) โทร. 1161


ข่าวที่เกี่ยวข้อง