เปิดคำแนะนำวัคซีนป้องกันโควิด-19 แบบบูสเตอร์โดสเข็มที่ 5 ฉีดได้เมื่อไร?
วันนี้ (7 มิ.ย.65) นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงสถานการณ์โควิด-19 และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ว่า ภาพรวมสถานการณ์โควิด-19 ของประเทศไทย ทั้งผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วยอาการหนัก และเสียชีวิต มีแนวโน้มลดลง สอดคล้องกับความต้องการเตียงไอซียูในโรงพยาบาลที่ลดเหลือประมาณ 10% ทำให้ระบบสาธารณสุขรองรับได้ เริ่มกลับไปบริการผู้ป่วยโรคอื่นตามปกติ
ส่วนตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2565 ที่มีการเปิดกิจการสถานบันเทิง จากการติดตามยังไม่พบแนวโน้มผู้ติดเชื้อมากขึ้น แต่ต้องติดตามอีก 1-2 สัปดาห์ จึงบอกได้อย่างชัดเจนว่า การเปิดสถานบันเทิง ไม่มีผลกระทบมากนักต่อจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้ป่วยอาการหนัก
ขณะนี้ผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 อยู่ที่ประมาณ 20-30 รายต่อวัน เป็นกลุ่มเสี่ยง 608 คือ ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป และผู้ป่วยโรคเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ไม่ได้รับวัคซีนเลยหรือไม่ได้รับเข็ม 3 จึงต้องพยายามทำให้กลุ่มนี้เสียชีวิตน้อยที่สุด ด้วยการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะช่วงต่อไปที่จะเปิดประเทศและเปิดกิจกรรมให้ทำมากขึ้น ซึ่งมีเป้าหมายฉีดเข็มกระตุ้นให้ได้ 60% โดยขณะนี้ฉีดเข็มกระตุ้นเพียง 41%
5 ปัญหาประชาชนเริ่มไม่มารับวัคซีน
1.กลัวผลข้างเคียง ซึ่งย้ำว่าผลข้างเคียงค่อนข้างน้อย และมีประโยชน์ต่อการป้องกันติดเชื้อและอาการรุนแรง
2.คิดว่าฉีด 2 เข็มเพียงพอ แต่การจะให้ปลอดภัยกับทุกคน โดยเฉพาะผู้สูงอายุถือว่ายังไม่พอ
3.สายพันธุ์โอมิครอนไม่รุนแรง ไม่ต้องรับวัคซีน ซึ่งจริงเพียงบางส่วน คือ โอมิครอนไม่รุนแรงเมื่อเทียบกับสายพันธุ์ดั้งเดิม แต่ยังทำให้กลุ่มเสี่ยงเสียชีวิตได้
4.กังวลผลระยะยาวของวัคซีน mRNA คิดว่าคงไม่มีผลมากนักหากกังวลก็มีวัคซีนอื่นให้เลือก
5.ผู้สูงอายุมารับวัคซีนลำบาก เราจึงพยายามกระจายไปถึงใกล้บ้านมากที่สุดในระดับ รพ.สต.
องค์การอนามัยโลก แนะนำให้ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น ทุกชนิดทุกสูตรที่มี
นพ.โอภาส กล่าวว่า หลายคนยังไม่แน่ใจเรื่องเข็มกระตุ้น ย้ำว่า องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฉีดเข็มกระตุ้นทุกชนิดทุกสูตรที่มี ขณะที่การฉีดเข็มกระตุ้นมีความสำคัญช่วยป้องกันอาการรุนแรง การเสียชีวิต และช่วยการเปิดประเทศอย่างปลอดภัย
EOC กระทรวงสาธารณสุขจึงเห็นชอบแผนเร่งรัดการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น โดยกลยุทธ์ที่จะทำให้ประชาชนรับวัคซีนมากขึ้น คือ ให้แต่ละจังหวัดจัดทำแผนตนเอง ดูว่ายังขาดเข็มกระตุ้นเท่าไร ต้องฉีดเท่าไร โดยวิเคราะห์เป็นรายอำเภอ
ซึ่งขณะนี้พบว่าส่วนใหญ่ฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นได้ครบจะอยู่ในอำเภอเมือง ส่วนอำเภอห่างไกลหรือชนบทยังฉีดค่อนข้างน้อย บางอำเภอฉีดเข็ม 3 ไม่ถึง 10% ซึ่งหลายจังหวัดเริ่มรณรงค์แล้ว หวังว่าจะร่วมแรงร่วมใจกันจะได้เปิดกิจการต่างๆ ได้มั่นใจและปลอดภัย
วัคซีนเข็ม 5 ฉีดได้เมื่อไร?
สำหรับคำแนะนำในการฉีดวัคซีนเข็ม 5 นั้น นพ.โอภาส ระบุว่า ตามหลักการฉีดวัคซีนเข็ม 2 ห่างกัน 3 เดือน ขึ้นไปถึงฉีดเข็ม 3 ได้ ส่วนเข็ม 3 ถ้าเป็นกลุ่ม 608 หรือผู้สูงอายุผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เว้นระยะห่าง 3 เดือนจากเข็ม 3 จึงจะสามารถฉีดเข็ม 4 ได้ ส่วนคนทั่วไปฉีดเข็ม 3 แล้ว 4 เดือนถึงจะฉีดเข็ม 4 ได้
ส่วนเข็ม 5 ยังไม่มีคำแนะนำออกมาอย่างเป็นทางการ เนื่องจากข้อมูลที่มียังไม่เพียงพอ อย่างไรก็ตาม มีประชาชนหลายคนฉีดวัคซีนเข็ม 5 แล้ว ถามว่ากลุ่มไหนควรได้รับฉีดวัคซีนเข็ม 5 บ้างขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคลไป
โดยให้แพทย์พิจารณาตามความเหมาะสม อย่างเช่น บางคนจำเป็นต้องไปบางประเทศที่บังคับการฉีดวัคซีนเป็นรายชนิด ประการที่ 2 บางคนฉีดไป 4 เข็มแล้วปรากฏว่า ไปตรวจภูมิคุ้มกันแล้วไม่ค่อยขึ้น รวมทั้งมีโรคประจำตัวบางอย่าง ที่เวลาเจ็บป่วยแล้วอาจจะรุนแรงมากขึ้น
กรณีดังกล่าวนี้แพทย์ก็สามารถพิจารณาฉีดวัคซีนเข็มที่ 5 ให้ได้ อย่างไรก็ตาม โดยหลักใหญ่จะใช้เหตุผลของแต่ละบุคคล และแพทย์ใช้ดุลยพินิจในการตัดสินใจในการให้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดสเข็มที่ 5
เปิดแผนการจัดหาวัคซีนปี 2565
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ส่วนการจัดหาวัคซีนปี 2564 มีแผนจัดซื้อ 121 ล้านโดส ฉีดได้ 104.4 ล้านโดส ปี 2565 มีแผนจัดซื้อ 120 ล้านโดส ลงนามสัญญาซื้อแล้ว 90 ล้านโดส ส่งมอบแล้ว 36 ล้านโดส และฉีดวัคซีนแล้ว 34 ล้านโดส
ส่วนจะต้องฉีดวัคซีนทุกปีแบบไข้หวัดใหญ่หรือไม่ ยังไม่สามารถบอกได้ แต่มีแผนเตรียมไว้แล้ว โดยวัคซีนปี 2565 ที่เหลือสำรองไว้ปีหน้าได้
ทั้งนี้ ถ้าเทียบจำนวนคนไทย 70 ล้านคน ฉีดคนละ 2 เข็ม คือ 140 ล้านโดส ขณะนี้เราฉีดได้ 138 ล้านโดส ถ้าต้องฉีด 3 เข็ม คือ 210 ล้านโดส ถือว่าก็ยังห่าง แต่สามารถหาวัคซีนมาเพิ่มเติมได้หากสถานการณ์เปลี่ยนไป เรามีแผนจัดหาวัคซีนให้เหมาะสมและสอดคล้องคนไทย.
ภาพจาก TNN ONLINE