เกาะติดนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ"ไบเดน"ชี้ทิศทางค่าเงิน
นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กรอบค่าเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.90-30.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ตลาดการเงินตอบรับการเข้าดำรงตำแหน่งของประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ นายโจ ไบเดน ด้วยการเปิดรับความเสี่ยงต็มที่ จากความหวังต่อมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐฯใหม่ และความกังวลต่อปัญหาความวุ่นวายการเมืองสหรัฐฯที่คลี่่คลายลง หลังประธานาธิบดีโจ ไบเดน ประกาศพร้อมสร้างความสามัคคีในชาติและยกเลิกนโยบายของอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ เช่น การสร้างกำแพงระหว่างพรมแดน เป็นต้น
ภาพดังกล่าวส่งผลให้ตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯปรับตัวขึ้นร้อนแรง โดยดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น 1.4% ซึ่งนับป็นการปรับตัวขึ้นที่ดีที่สุดภายในวันที่มีพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดี
นอกจากนี้การเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ยังช่วยให้ราคาน้ำมันดิบ WTI ปรับตัวขึ้น 0.5% สู่ระดับ 53.2 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล ขณะที่สินทรัพย์ปลอดภัย อย่างเงินเยนก็อ่อนค่าลงเล็กน้อย 0.4% สู่ระดับ 103.5 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่วนเงินดอลลาร์ยังคงทรงตัวอยู่เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ยกเว้น เงินดอลลาร์แคนาดา (CAD) ที่แข็งค่าขึ้นเกือบ 1% แตะระดับ 1.26 (USDCAD)
สำหรับวันนี้ประเด็นสำคัญยังคงเป็นการผลักดันนโยบายต่างๆ ของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในช่วงระยะเวลา 100 วันแรกของการทำงาน เช่น มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงินกว่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีซึ่งอาจสะท้อนแนวโน้มความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯกับชาติพันธมิตร รวมถึงความสัมพันธ์สหรัฐฯกับจีนได้
นอกจากนี้ตลาดจะติดตามการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) คาดว่าจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Policy Balance rate) ไว้ที่ระดับ -0.1% ไปพร้อมกับควบคุมทิศทางตลาดบอนด์ ด้วยการคงเป้าบอนด์ยีลด์10ปี ไว้ที่ 0.0% และอัดฉีดสภาพคล่องด้วยการทำคิวอีต่อเนื่อง เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่ยังคงเผชิญปัญหาการระบาดของ COVID-19
ถัดมาในฝั่งยุโรปตลาดคาดว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อ ท่ามกลางความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวเศรษฐกิจ โดยตลาดมองว่า ECB จะคงอัตราดอกเบี้ย (Deposit Facility Rate) ไว้ที่ -0.50% และคงมาตรการซื้อสินทรัพย์เพื่ออัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงิน ซึ่งจะช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป
ทั้งนี้เชื่อว่านโยบายการเงินที่ยังคงผ่อนคลายลงของทั้งสองธนาคารกลางหลัก จะยังคงไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่จะมีผลต่อแนวโน้มเงินดอลลาร์สหรัฐ เพราะในขณะนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ก็ยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอยู่ ทั้งนี้มองว่า ประเด็นการเมืองสหรัฐฯ โดยเฉพาะ การผลักดันมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลโจ ไบเดน อาจเป็นปัจจัยกำหนดทิศทางของเงินดอลลาร์ในระยะถัดไป โดยเงินดอลลาร์อาจอ่อนค่าลงได้ ถ้ารัฐบาลสหรัฐฯ สามารถออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม
อย่างไรก็ดี ต้องระวังความเสี่ยงของการปรับฐานของสินทรัพย์เสี่ยง หากตลาดผิดหวังกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนออกมาแย่กว่าคาด ซึ่งภาพดังกล่าวสามารถหนุนให้ เงินดอลลาร์สหรัฐพร้อมกลับมาแข็งค่าขึ้นได้
ส่วนในฝั่งเงินบาทมีทิศทางเคลื่อนไหวในกรอบ เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่จะรอผลการประชุมของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในวันที่ 3 ก.พ. นี้ โดยผู้เล่นบางส่วนมองว่า ธปท. อาจมีการลดดอกเบี้ยลง เพื่อช่วยหนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ส่วนในฝั่งผู้นำเข้าก็รอซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐ หากเงินบาทใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์ที่ระดับ 30.15-30.20 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE